xs
xsm
sm
md
lg

“ไบเดน”ดูดีกว่าในสายตาเอเชีย ปักกิ่งแอบเชียร์“ทรัมป์”อยู่ต่อ?

เผยแพร่:


ไบเดนอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับเอเชียเพราะคาดเดาได้มากกว่าทรัมป์ และเห็นความสำคัญของพันธมิตรมากกว่า
ในศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ไบเดนดูเหมือนเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับเอเชีย เนื่องจากคาดเดาได้มากกว่าและยังให้ความสำคัญกับพันธมิตรเพื่อช่วยกันตีกรอบปิดกั้นอิทธิพลจีน ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า แม้อัดกันยับสารพัดเรื่อง แต่ลึกๆ แล้วปักกิ่งอาจอยากให้ทรัมป์อยู่ทำเนียบขาวต่ออีกสมัย เพราะจะเปิดโอกาสให้จีนได้สั่งสมบารมีความเป็นผู้นำอีก 4 ปี ขณะที่ทรัมป์ดีแต่ทำให้อเมริกาโดดเดี่ยวและเป็นที่เกลียดชังของชาวโลกมากขึ้น

ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งวันที่ 3 พฤศจิกายน จุดยืนแข็งกร้าวต่อปักกิ่งคงไม่เปลี่ยนแปลง นักวิเคราะห์เชื่อว่า ถ้าโจ ไบเดน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป เขาจะไม่กลับไปใช้แนวทางโอนอ่อนที่เน้นการมีปฏิสัมพันธ์กับจีนเหมือนสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ตัวไบเดนเองรับตำแหน่งรองประธานาธิบดี อย่างน้อยก็ในระยะแรก

หวง ลี่ ถู นักวิเคราะห์อาวุโสของออสเตรเลียน สเตรททีจิก โพลิซี อินสติติวท์ ชี้ว่า พันธมิตรและหุ้นส่วนส่วนใหญ่ในเอเชียต่างคาดหวังการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่คาดเดาได้ ปกติ มีระเบียบแบบแผน ซึ่งน่าจะได้จากไบเดนมากกว่า แต่ขณะเดียวกัน บางประเทศมองว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีข้อดีตรงที่ชัดเจนและเด็ดขาดกว่าในการจัดการจีนทั้งในด้านการค้า ทะเลจีนใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน

ลี่ ถูและผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ยังเชื่อว่า สองมหาอำนาจโลกจะแข่งขันกันด้านยุทธ์ศาสตร์ในอินโด-แปซิฟิกต่อ

ลี เซ็งฮยอน ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษาของสถาบันเซจอง ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองของเกาหลีใต้ ขานรับว่า จีนรู้ดีว่า ไม่ว่าใครจะได้เป็นผู้นำอเมริกาคนต่อไป จีนและอเมริกาจะยังแข่งขันกันอย่างก้าวร้าวดุเดือดไปอีกนาน

ไซมอน เท ประธานสิงคโปร์ อินสติติวท์ ออฟ อินเตอร์เนชันแนล แอฟแฟร์ส เห็นด้วยว่า ทุกประเทศกังวลเกี่ยวกับจีนและนโยบายบางอย่างของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามของปักกิ่งในการเปลี่ยนแปลงสถานะดั้งเดิมด้วยกำลังหรือการข่มขู่ และไม่มีใครเชื่อว่า อเมริกาไม่ว่าจะเป็นภายใต้การบริหารของทรัมป์หรือไบเดน จะอ่อนข้อให้จีน

“ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่ต่างหวังให้การแข่งขันของสองมหาอำนาจเป็นแค่มวยคู่เอกภายใต้กฎกติกา ไม่เลยเถิดกลายเป็นสงคราม”

ลียังมองว่า คณะบริหารทรัมป์ 2 อาจไม่เลวร้ายมากนักสำหรับจีน เพราะทรัมป์บ่อนทำลายระบบพันธมิตรในเอเชีย ซึ่งปักกิ่งมองว่า เป็นเครื่องมือความมั่นคงหลักของวอชิงตันในการจัดการกับตน แถมยังทำลายภาพลักษณ์และอำนาจอ่อน (soft power) ของอเมริกาในเวทีโลก รวมทั้งเสี้ยมให้อเมริกันชนแตกแยกกันเอง

“สำหรับจีน อเมริกาภายใต้ทรัมป์คือหลักฐานพิสูจน์ว่า ระบอบประชาธิปไตยผิดเพี้ยนได้ขนาดไหน”

จี้ฉุน จู ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยบัคเนลล์ในอเมริกา เห็นด้วยว่า ชัยชนะของทรัมป์เป็นการส่งมอบโอกาสให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการสร้างเสริมสถานะของจีนในบทบาทผู้สนับสนุนโลกาภิวัตน์ ระบบพหุภาคี และความร่วมมือระหว่างประเทศ

นับจากเข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์พาอเมริกาถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน เรียกเก็บภาษีศุลกากรสินค้าจีนหลายหมื่นล้านดอลลาร์ และถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก (ฮู) กลางวิกฤตโรคระบาด

ในทางกลับกัน ขณะที่สหรัฐฯ โดดเดี่ยวตัวเองภายใต้นโยบายอเมริกาต้องมาก่อนของทรัมป์ สีฉวยโอกาสนำเสนอจีนในฐานะผู้สนับสนุนการค้าเสรี ผู้นำการต่อสู้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ รวมทั้งยังประกาศแบ่งปันวัคซีนต้านโควิดให้ประเทศยากจน

เมื่อไม่นานมานี้ หู สีจิน บรรณาธิการบริหารโกลบัล ไทมส์ หนังสือพิมพ์แนวชาตินิยมของจีน ทวิตว่า ทรัมป์ทำให้อเมริกาพิกลพิการและน่ารังเกียจสำหรับโลก และทำให้คนจีนสามัคคีกันมากขึ้น

เทเห็นด้วยว่า การที่ทรัมป์ไม่ยอมไปร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกสามปีล่าสุดซึ่งน่าผิดหวังอย่างมากในสายตาสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เป็นการดูถูกระบบพหุภาคีอย่างชัดเจน ตรงข้ามกับนายกรัฐมนตรีหลี่ เคอะเฉียงของจีนที่ไม่เคยพลาดแม้แต่ปีเดียว

ผลศึกษาล่าสุดของสถาบันโลวี ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองในซิดนีย์ พบว่า อำนาจเชิงเปรียบเทียบของอเมริกาในหมู่ประเทศอินโด-แปซิฟิกปีนี้ดิ่งลงมากที่สุด โดยมีคะแนนนำจีนที่อยู่ในอันดับ 2 แค่ 5 คะแนน จากที่เคยนำห่าง 10 คะแนนเมื่อปี 2018

อย่างไรก็ตาม หลายคนเชื่อว่า อเมริกาจะฟื้นสถานะเดิมได้ด้วยการกลับเข้าสู่ระบบพหุภาคี องค์กร และข้อตกลงต่างๆ ซึ่งเป็นไปได้มากกว่าถ้าประธานาธิบดีคนใหม่คือไบเดน

แต่ลีและเทตั้งข้อสังเกตว่า ท่ามกลางข้อสรุปว่า ไบเดนอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับเอเชีย ยังมีสิ่งที่น่ากังวลคือ ที่สุดแล้วเขาอาจลดการเผชิญหน้าเพราะต้องการให้จีนช่วยในประเด็นต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ

ความกังวลนี้มีสาเหตุมาจากสิ่งที่เจ้าหน้าที่บางคนในเอเชียมองว่า เป็นความพิรี้พิไรโดยไม่จำเป็นของทำเนียบขาวในยุคโอบามา-ไบเดนในการอนุมัติคำขอของเพนตากอนเมื่อปี 2015 ให้ส่งเครื่องบินและเรือไปสกัดการสร้างเกาะเทียมของจีนในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้ ที่ปักกิ่งมีกรณีพิพาทด้านสิทธิอธิปไตยกับ 4 ชาติอาเซียน ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม รวมถึงไต้หวัน

เมื่อประกอบกับการหลีกเลี่ยงการดำเนินการทางทหารโดยตรงในซีเรีย ความลังเลในการเปิดปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือเพื่อท้าทายการอ้างสิทธิ์ของจีนเหนือทะเลจีนใต้ของโอบามาจึงทำให้เหล่าชาติพันธมิตรวิจารณ์โขมงว่า แผนการเกี่ยวกับทะเลจีนใต้และหมู่เกาะเซงกากุในทะเลจีนตะวันออกที่อยู่ภายใต้การดูแลของญี่ปุ่น แต่จีนอ้างเป็นของตน คงสำเร็จตามเป้าหมายของพญามังกรโดยไม่มีใครขัดขวาง

ตรงข้ามกับทรัมป์ที่ไม่คิดร่วมมือกับจีนในการแก้ปัญหาโลกร้อนที่ครั้งหนึ่งเขาเคยโจมตีว่า เป็นแผนแหกตาของมหาอำนาจเกิดใหม่คือปักกิ่งซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดในโลก หรือประเด็นเกาหลีเหนือที่ทรัมป์เลือกดีลกับคิม จอง-อึนโดยตรงแทน

ลีแจงว่า ที่ปรึกษาบางคนของไบเดนสนับสนุนการประนีประนอมกับจีน ซึ่งหมายความว่า แม้ไบเดนใช้ไม้แข็งกับปักกิ่งในตอนแรก แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง มีความเป็นไปได้ว่า เขาอาจผ่อนคลายนโยบายกับจีน

“ถ้าไบเดนได้เป็นประธานาธิบดี โลกคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและใช้เวลาพักใหญ่ก่อนที่จะรู้ว่า อเมริกาจะไปทางไหนแน่” ลีทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น