xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : "ร้านค้าคนละครึ่ง" โอกาสเพิ่มลูกค้า เพิ่มรายได้

เผยแพร่:



กระแสตอบรับอย่างล้นหลาม สำหรับโครงการคนละครึ่ง ที่รัฐบาลให้สิทธิร่วมจ่าย 50% แก่ร้านอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป และสินค้าโอทอป เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ สนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากและฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาพรวม ปรากฎว่านับตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2563 มีประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเต็ม 10 ล้านคน ไปเมื่อ 27 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ในบรรดาร้านค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการกว่า 4 แสนร้าน พบว่ามีร้านค้าที่เริ่มมีการใช้จ่ายจริงตามโครงการทั้งสิ้น 1.32 แสนร้าน มียอดการใช้จ่ายสะสมรวมกันมากถึง 1,255.44 ล้านบาท จากวงเงินทั้งโครงการ 30,000 ล้านบาท นับเป็นช่องทางสร้างรายได้ สร้างโอกาสแก่ผู้ประกอบการร้านค้ารายอื่นๆ ที่สนใจ ซึ่งยังคงเปิดรับร้านค้าเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง

จุดเด่นของโครงการนี้ก็คือ ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องเป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านค้าทั่วไป และผู้ประกอบการรายย่อย จดทะเบียนในรูปแบบบุคคลธรรมดา ไม่ได้จดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคล ไม่เป็นร้านสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจเฟรนไชส์ จึงทำให้เงินที่ได้เข้าสู่ผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นประชาชนโดยตรง ไม่ผ่านนายทุนหรือนิติบุคคล


ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ จากผู้ที่ลงทะเบียน 10 ล้านคน ใช้สิทธิไปแล้ว 2.6 ล้านคน แบ่งเป็น ส่วนที่ประชาชนจ่ายเองผ่าน G-Wallet จำนวน 626.97 ล้านบาท ส่วนที่รัฐบาลออกให้ 598.47 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 229 บาทต่อครั้ง จังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่

ส่วนประเภทร้านค้าที่มายื่นขอเข้าร่วมโครงการมากที่สุดคือ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 1.25 แสนร้าน ร้านสินค้าทั่วไป 4.64 หมื่นร้าน ร้านธงฟ้าประชารัฐ 4.23 หมื่นร้าน ร้านสินค้าโอทอป 1.01 หมื่นร้าน โดยพบว่า รูปแบบร้านค้าที่ขอเข้าร่วมโครงการมากที่สุด คือ ร้านค้าที่มีหน้าร้าน ประมาณ 1.7 แสนร้าน และร้านค้าหาบเร่แผงลอย ราว 5 หมื่นร้านค้า

จังหวัดที่มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการมากที่สุด (ณ วันที่ 29 ต.ค. 2563) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 23,617 ร้าน รองลงมาคือ สงขลา 6,537 ร้าน ชลบุรี 6,479 ร้าน เชียงใหม่ 6,429 ร้าน นครศรีธรรมราช 5,746 ร้าน สุราษฎร์ธานี 5,218 ร้าน นนทบุรี 4,704 ร้าน ขอนแก่น 4,549 ร้าน สมุทรปราการ 4,490 ร้าน และนครราชสีมา 4,437 ร้าน โดยพบว่าชลบุรีมีร้านค้าเพิ่มขึ้นมากถึง 800 ร้าน


ที่น่าสนใจก็คือ ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง พบว่ามีหลายจังหวัดคึกคัก ประชาชนแห่ใช้สิทธิ์อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ที่จังหวัดสงขลา ร้านป้าจวง จำหน่ายของชำในหมู่บ้าน เขตเทศบาลตำบลน้ำน้อย อ.หาดใหญ่ มีประชาชนจับจ่ายซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีพ เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง

จังหวัดสตูล ร้านนานากาแฟสด ต.พิมาน อ.เมืองฯ พบว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 40% ส่วนใหญ่จะจะสอบถามว่า ทางร้านเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งหรือไม่ อีกทั้งพบว่าลูกค้าจะซื้อสินค้าเพิ่มจำนวนขึ้น เช่น เครื่องดื่ม จากที่เคยซื้อ 1 แก้ว ก็จะซื้อ 3 แก้ว แล้วใช้สิทธิของคนใดคนหนึ่งในกลุ่ม หรือปกติซื้อเครื่องดื่มสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นสัปดาห์ละ 4 ครั้ง

ส่วนที่จังหวัดสิงห์บุรี นางสุนีย์ ปั้นเจริญ แม่ค้าขายผลไม้ตามตลาดนัดและส่วนราชการ ขายที่หน้าศาลากลางจังหวัดทุกวันอังคารและศุกร์ ก่อนหน้านี้เคยเข้าร่วมโครงการชิมช้อปใช้ จึงรู้จักระบบแอปฯ เป๋าตัง จากปกติขายได้ประมาณวันละ 2-3 พันบาท พบว่ามีข้าราชการและประชาชนที่มาติดต่อราชการซื้อผลไม้ผ่านโครงการคนละครึ่งไปเกือบ 3 พันบาท ในเวลาไม่ถึง 10 นาที


อย่างไรก็ตาม จากกระแสลูกค้าเริ่มถามหาร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ทำให้มีร้านค้าบางราย เริ่มสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ปัจจุบันธนาคารกรุงไทยได้ปรับเปลี่ยนวิธีการสมัครเพื่อความรวดเร็ว เพราะมีร้านค้าลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก และใช้เวลาอนุมัติร้านค้านาน โดยได้จัดตั้งบูธกระทรวงมหาดไทย ที่ร่วมกับธนาคารกรุงไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทะเบียน

ร้านค้าที่อยู่ต่างจังหวัด สามารถขอแบบฟอร์มเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งได้จากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านโดยตรง หรือผ่านทางสาขาที่สะดวก และให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือปลัดเทศบาล ลงนามรับรอง จากนั้นเตรียมบัตรประชาชน รูปถ่ายร้านค้าที่มีรูปเจ้าของขณะประกอบกิจการ มาที่บูธกระทรวงมหาดไทยที่ร่วมกับธนาคารกรุงไทย หรือที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา

ทั้งนี้ ร้านค้าต้องทำความเข้าใจก่อนว่า หลังรับเงินจากลูกค้าแล้ว จะได้รับเงินส่วนที่ลูกค้าจ่ายเองผ่าน G-Wallet เข้าบัญชีธนาคารกรุงไทยที่สมัครเข้าร่วมโครงการในวันถัดไป ส่วนเงินจากสิทธิคนละครึ่งที่รัฐบาลออกให้ จะได้รับในวันทำการถัดไป ซึ่งหากตรงกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดตามประกาศ ระบบจะโอนเงินให้ในวันจันทร์ หรือวันเปิดทำการถัดไป


เนื่องจากมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งกว่า 4 แสนราย ขณะที่วงเงินในโครงการที่รัฐบาลออกให้ เหลืออยู่กว่า 29,000 ล้านบาท จากผู้ลงทะเบียน 10 ล้านคน จึงเป็นโอกาสทองของร้านค้าที่อยากจะเพิ่มลูกค้า เพิ่มรายได้ แม้จะมีเว็บไซต์ค้นหา แต่ประชาชนเลือกที่จะสอบถามกับทางร้านโดยตรง วิธีที่ดีที่สุดก็คือ สร้างการรับรู้ ระบุให้ชัดเจนตั้งแต่หน้าร้านว่า "ร้านนี้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง"

ขณะเดียวกัน โซเชียลมีเดีย ก็เป็นช่องทางแนะนำร้านค้าได้ดี เช่น เฟซบุ๊กเพจ หรืออินสตาแกรมของร้านค้า หรือกลุ่มเฟซบุ๊กชุมชนตามจังหวัด อำเภอต่างๆ ที่มักจะมีผู้ใช้โพสต์ถามหาร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ก็สามารถแนะนำร้านของตนรับโครงการคนละครึ่ง ผ่านช่องทางนี้เช่นกัน พร้อมกับบอกพิกัดของร้าน วัน เวลาเปิดร้านให้รับรู้

นอกจากนี้ ในแต่ละเดือนลูกค้ามีโอกาสเข้ามาจับจ่ายซื้อของไม่เหมือนกัน แต่ระยะเวลาโครงการมีถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 หากลูกค้าใช้สิทธิต่อวันไม่ถึง 150 บาท ก็ยังมีโอกาสได้ใช้สิทธิมากกว่า 20 วัน เพราะฉะนั้น จึงเป็นโอกาสที่ร้านค้าอาจจะจัดโปรโมชันกระตุ้นการซื้อก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่การทุจริต และไม่ขัดต่อเงื่อนไข ข้อกำหนดของโครงการ

ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสร้างโอกาส สร้างรายได้แก่ร้านค้าในยามที่เศรษฐกิจไทยต้องเติมใจให้กัน เพื่อให้ประชาชนร่วมกันก้าวเดินไปข้างหน้า ฟันฝ่าวิกฤตและอุปสรรคต่างๆ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)
กำลังโหลดความคิดเห็น