xs
xsm
sm
md
lg

AgTech4OTOP พลิกโฉมเศรษฐกิจชุมชน ด้วยการเชื่อมต่อสตาร์ทอัปกับกลุ่มโอทอปการเกษตร

เผยแพร่:



สตาร์ทอัปด้านการเกษตร เป็นความคาดหวังของรัฐบาล ที่ต้องการจะยกระดับเกษตรกรไทย ให้สามารถก้าวเข้าสู่เกษตรยุค 4.0 เพราะเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรไทย ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 มีคนจำนวนหนึ่งต้องตกงาน และต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อสานต่ออาชีพเกษตรกรรม คนกลุ่มนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน สังคมเกษตรกรรมในยุคดิจิทัล และการยกระดับด้านการเกษตร ยังเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของไทยด้วย

ด้วยเหตุนี้เอง จึงได้เห็นโครงการของภาครัฐหลายโครงการ ที่ออกมารองรับการยกระดับเกษตรกรไทยด้วยเทคโนโลยี ทั้งด้านการผลิต และการตลาด รวมถึงโครงการสร้างตลาดรูปแบบใหม่ โดยการเชื่อต่อสตาร์ทอัปด้านการเกษตรกับกลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น หรือ AgTech4OTOP จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว.


เชื่อมโยงสตาร์ทอัปกับเกษตรกร หวังยกระดับเกษตร 4.0

AgTech4OTOP เป็นโครงการที่เกิดขึ้นมาจาก การทำงานร่วมกันระหว่าง ศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งทาง NIA ในฐานะเจ้าของโครงการ ได้รับเงินสนับสนุนจาก คณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ โอทอป ในการส่งเสริมและพัฒนาโอทอปในกลุ่มสินค้าเกษตรอัตถลักษณ์พื้นถิ่น ให้เป็นที่รู้จักวงกว้าง ผ่านการเชื่อมต่อกับกลุ่มสตาร์ทอัปด้านการเกษตร

สำหรับ ในส่วนของเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ตัวอย่างสินค้า เช่น ลิ้นจี่บางขุนเทียน ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ข้าวเจ๊กเชย เสาไห้ สระบุรี ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตามผลิตผลทางการเกษตรถูกรวบรวมจากไร่ของเกษตรกรและจัดจำหน่ายโดยกลุ่มพ่อค้าคนกลาง (Middle-man) โดยเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพ่อค้าคนกลางเป็นหลัก ระบบตลาดเกษตรรูปแบบใหม่ จะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านการตลาดและการกระจายผลผลิตไปสู่ตลาด และเตรียมความพร้อมเพื่อแสวงโอกาสจากการค้าเสรี กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์ม และ Market Places ที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต ไปสู่ผู้บริโภค ทั้งในรูปแบบ B2C B2B และ B2G ทั้งนี้เพื่อช่วยลดปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำและเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร


ทั้งนี้ ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น และ จากการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปี 2560 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA คาดการณ์ว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2560 ยอดการซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์จะเติบโตต่อเนื่อง ทำให้เป็นโอกาสของการพัฒนาระบบตลาดในรูปแบบใหม่ที่จะเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภค รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้นทางการเกษตรหรือสตาร์ทอัปเกษตร มาสร้างนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สร้างตลาดและมูลค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยี และส่งผลกระทบอย่างรุนแรง (disrupt) ต่อตลาดของผลิตภัณฑ์เดิม ซึ่งต่างจากนวัตกรรมทั่วไปที่อาจจะเพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มคุณภาพของสินค้า หรือลดต้นทุนกระบวนการผลิตแบบเดิมๆ เป็นที่มาของโครงการที่จะทำให้เกษตรกรและสตาร์ทอัปด้านการเกษตรได้ทำงานใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
ที่มาของ AgTech4OTOP

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวถึง ศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร Agro Business Creative Center, ABC center ซึ่งทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มกลางเชื่อมโยงประสานงานและขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมการเกษตร ที่มีรูปแบบธุรกิจใหม่ (New Business Model) และใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) พัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาภาคการเกษตรเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำเกษตรกรรมของประเทศ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศของการสร้างธุรกิจนวัตกรรมเกษตร หรือ AgTech Ecosystem โดยใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน


ดังนั้นจากความสำคัญดังกล่าวข้างต้น และเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ABC Center โดยความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการพัฒนาชุมชน และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ดำเนินงานโครงการสร้างตลาดรูปแบบใหม่จากวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรสำหรับกลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น หรือเรียกสั้นๆ ว่า “AgTech4OTOP” เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการทำตลาดสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีศักยภาพออกสู่ตลาด บนแพลตฟอร์มของวิสาหกิจเริ่มต้น ที่มีการพัฒนารูปแบบในการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตสินค้าการเกษตรไปสู่ผู้บริโภคให้สามารถขยายผลและกระจายได้ในวงกว้างขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

และ เป็นการสร้างแพลตฟอร์มการเชื่อมโยงนวัตกรรมการเกษตรสู่เกษตร 4.0 เพื่อเป็นการสร้างโอกาสการรับรู้และสามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการขยายผลนวัตกรรมการเกษตรของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตร (AgTech Startup) สู่การใช้งานของเกษตรกร เพื่อผลักดัน สนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม จากแนวทางการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ให้กับเกษตรกร สอดคล้องกับนโยบายเกษตร 4.0 และ BCG ตามนโยบายของรัฐบาล และ ส่งผลให้เกิดการพลิกโฉมของการเกษตร (Agriculture Transformation) ของประเทศได้อย่างยั่งยืน


คัดเลือก 50 เกษตรกร เชื่อมกับ 10 สตาร์ทอัป หวังโต 10 เท่า

สำหรับ โครงการ AgTech4OTOP เริ่มจากการเปิดรับสมัครและคัดเลือก OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น และสตาร์ทอัปด้านการเกษตรเข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศ โดยมีกลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 50 ราย เช่น ส้มโอนครชัยศรี จ.นครปฐม สับปะรดไร่ม่วง จ.เลย สับปะรดนางแล ภูแล จ. เชียงราย ทุเรียนป่าละอู จ.ประจวบคีรีขันธ์ มะปี๊ด จ.จันทบุรี และสตาร์ทอัพด้านการเกษตรจำนวน 10 ราย เช่น ฟาร์มโต๊ะ มีแซ่ด ครอปเปอร์แซด อารีฟาร์ม เป็นต้น โดยได้ผ่านการเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มสตาร์ทอัปมุ่งเน้นด้านการเติบโตและการขยายตลาดได้อย่างรวดเร็วตามวิถีของสตาร์ทอัพ กลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ได้ทำความเข้าใจระบบตลาดใหม่ๆ และแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เข้าสู่ตลาด รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากนวัตกรรมการเกษตรด้านต่างๆ

หลังจากนี้ สตาร์ทอัพและกลุ่ม OTOP จะจับคู่รวมทีมกัน ในอัตราส่วน 1:5 เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้ขึ้นบนแพลตฟอร์มของสตาร์ทอัพ ภายใต้มีเมนเทอร์ระดับมืออาชีพ ที่เข้าใจการตลาดสมัยใหม่ พร้อมเครือข่ายความร่วมมือต่างๆ ร่วมสนับสนุนและให้คำแนะนำตลอดโครงการ ซึ่งมุ่งเน้นให้ทุกทีมได้ทดลองทำตลาดจริงๆ โดยตั้งเป้าหมายการเติบโต 10 เท่า ซึ่งไม่ได้มองว่า โครงการนี้สร้างให้เกิดการเชื่อมโยงธุรกิจของสตาร์ทอัปและธุรกิจชุมชนให้มีความต่อเนื่องกันเป็น พันธมิตรทางธุรกิจกันต่อไป




สตาร์ทอัปด้านเกษตรไทย ติด 1 ใน 20 อันดับ ได้ระดมทุนสูงสุดในเอเชีย

ดร.กริชผกา กล่าวว่า จากรายงานของ AgFunder ในปี 2019 พบว่า สตาร์ทอัปในตลาดธุรกิจเกษตรได้รับความนิยม 9 ใน 20 อันดับแรก ได้รับการระดมทุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทสตาร์ทอัปในเอเซียด้านการตลาดออนไลน์และอีคอมเมิร์ซสินค้าเกษตร มีอยู่หลายรายที่เป็นระดับยูนิคอร์น เช่น เหม่ยช่ายขายผักสดในจีน บิ๊กบาสเก็ตในอินเดีย สาเหตุที่ประเทศไทยได้รับความสนใจ จากกองทุนร่วมลงทุนในสตาร์ทอัป หรือ Venture Capital เพราะประเทศไทยมีความพร้อมด้านการเกษตร และจำนวน 25% ของประชากรทำอาชีพการเกษตร และเรามีพื้นที่การเกษตรอยู่เป็นจำนวนมาก แม้ว่าศักยภาพด้านสตาร์ทอัป ด้านการเกษตรของไทยอาจจะยังสู้หลายประเทศในอาเชีย อย่าง สิงคโปร์ จีน ไม่ได้ ก็ตาม

สำหรับเมืองไทยและภูมิภาคอาเซียนก็นับได้ว่า มีขนาดตลาดใหญ่ระดับหนึ่งที่พร้อมจะเติบโต โดยหวังว่าโครงการ AgTech4OTOP จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญ ที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัปได้พัฒนาทักษะได้ลงมือปฏิบัติจริง ที่สำคัญมีพันธมิตรทางธุรกิจร่วมด้วยนั้น ก็หวังเล็กๆ ถึงการเป็นสตาร์ทอัประดับยูนิคอร์นสัญชาติไทยที่ทุกคนรอคอย จะเป็นสตาร์ทอัปด้านเกษตรในกลุ่มนี้ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ขอให้มีแนวทางที่จะนำมาใช้กับเกษตรกร พลิกโฉมเศรษฐกิจชุมชนสู่การเติบโตไปพร้อมกับสตาร์ทอัปด้านการเกษตรของไทยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ติดต่อโทร. 02-017-5555 ต่อ 543 FB: AgTech4OTOP




* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager

กำลังโหลดความคิดเห็น