xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำธุรกิจเอเชียมั่นใจพร้อมไปต่อ

เผยแพร่:


ผู้นำธุรกิจมองแนวโน้มแง่บวก เชื่อสถานการณ์ในเอเชียจะดีขึ้น
ผู้นำธุรกิจในเอเชียมั่นใจสถานการณ์จะดีขึ้น ไม่มีเศรษฐกิจถดถอยเรื้อรัง และจีนยังคงเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุด สวนทางกับคำขู่ของทรัมป์ที่ว่า ห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคนี้กำลังจะสะดุดเนื่องจากบริษัทมากมายคิดย้ายฐานออกจากแดนมังกร เหตุผลที่ทำให้นักธุรกิจเหล่านี้มองแง่ดีคือหลายประเทศในเอเชียรับมือโควิดได้ดีกว่า อีกทั้งมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลกจากอานิสงส์ในการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิตอล

นิตยสารฟอร์บส์รายงานผลสำรวจความคิดเห็นสมาชิกสภาธุรกิจเอเชียในฮ่องกง ซึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของบริษัทข้ามชาติชั้นนำบางแห่งของเอเชียที่มีมูลค่ารวมกันเกือบ 3 ล้านล้านดอลลาร์ และว่าจ้างพนักงาน 3 ล้านคน ซึ่งพบว่า 83% (สมาชิก 58 คนจาก 70 คน) มองแง่ดีและมั่นใจที่จะปรับโฟกัสการลงทุนใหม่ อย่างไรก็ดี ผู้นำเหล่านี้ระบุว่า ระบบสาธารณสุขและภูมิรัฐศาสตร์เป็นประเด็นที่น่ากังวลที่สุดสำหรับธุรกิจ ขณะที่แนวโน้มการขยายตัวของการจ้างงานยังไม่แน่นอน

เกี่ยวกับแนวโน้มสภาพธุรกิจในเอเชียในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ผลสำรวจชิ้นนี้ที่จัดทำขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงกันยายนพบว่า แม้รายได้ลดลง แต่ผู้บริหารครึ่งหนึ่งคาดว่า สถานการณ์จะดีขึ้น มีเพียง 33% ที่คิดว่า จะเลวร้ายลง ซึ่งถือว่า แตกต่างชัดเจนจากปีที่แล้วที่ผู้บริหารถึง 55% คิดว่า สถานการณ์จะย่ำแย่กว่าเดิม

นอกจากนั้นยังมีสมาชิกแค่ 16% ที่คาดว่า เศรษฐกิจจะถดถอยเรื้อรังหรือเข้าสู่ภาวะเงินฝืด และ 91% เชื่อว่า การแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิดที่มีประสิทธิภาพอย่างกว้างขวางจะเป็นบทเริ่มต้นที่นำไปสู่สถานการณ์ปกติก่อนเกิดโรคระบาด

จากแนวโน้มทั่วโลกที่เปิดรับการชำระเงินแบบไร้สัมผัส บริการเดลิเวอรี และการประชุมออนไลน์มากขึ้น ผู้ตอบแบบสำรวจจำนวนมากตั้งข้อสังเกตว่า วิกฤตไวรัสเร่งรัดให้ตนเองยอมรับโมเดลธุรกิจดิจิตอลเร็วขึ้น

กว่า 40% กำลังเปลี่ยนแผนการลงทุน ผู้ตอบแบบสำรวจจำนวนรองลงมากำลังดำเนินการหรือวางแผนปรับโครงสร้าง และเกือบ 38% เตรียมลดการจ้างงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

ในส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 3 เดือนหน้านั้น 75% ทำนายว่า โจ ไบเดน จะเป็นผู้ชนะ โดย 43% ในจำนวนนี้คาดว่า หลังการเลือกตั้ง ความสัมพันธ์อเมริกา-จีนจะดีขึ้น, 43% ไม่คิดว่า จะมีการเปลี่ยนแปลง และ 14% คาดว่า จะเลวร้ายลง ขณะที่ในบรรดาผู้ที่คาดว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัยนั้น 50% เล็งว่า ความสัมพันธ์วอชิงตัน-ปักกิ่งจะเลวร้ายกว่าเก่า

ผลสำรวจยังชี้ว่า ผู้บริหารเหล่านี้ไม่เชื่อน้ำคำทรัมป์ที่ชอบขู่ว่า ห่วงโซ่อุปทานในเอเชียกำลังจะสะดุดและตำแหน่งงานจากจีนไหลกลับไปอเมริกา แต่กลับคิดว่า จีนยังคงเป็นประเทศที่น่าสนใจที่สุดในการเพิ่มการลงทุนที่มีอยู่เดิมในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ตามด้วยอเมริกา อินเดีย สิงคโปร์ และยุโรป และเมื่อถามว่า มีแผนย้ายฐานการผลิตจากจีนหรือไม่ 72% ตอบว่าไม่ และ 84% ไม่คิดย้ายออกจากอเมริกาเช่นเดียวกัน

ส่วนจุดหมายปลายทางการลงทุนใหม่ในช่วง 12 เดือนต่อไป จีนมาที่ 1 เช่นเดิม อันดับ 2 อเมริกา สิงคโปร์ และมาเลเซียได้คะแนนเท่ากัน อันดับ 3 เป็นของเวียดนามที่ได้อานิสงส์จากกลยุทธ์จีน +1 หรือการลดการพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานในจีน ฮ่องกงหล่นไปอยู่ที่ 4 เท่ากับอินโดนีเซียและญี่ปุ่น

ขณะเดียวกัน ในช่วงแห่งการรัดเข็มขัดและจัดสรรเงินทุนใหม่ ผลสำรวจพบว่า เหล่าผู้นำธุรกิจ 53% ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

เมื่อขอให้ระบุการให้ความช่วยเหลือเพื่อรับมือโควิด หลายคนบอกว่า บริจาคเงินหรือซื้ออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (พีพีอี) ไปมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัทขนาดกลางและเล็ก และร่วมกับองค์กรการกุศลและองค์การพัฒนาเอกชนมอบอาหารให้ผู้ขาดแคลนระหว่างไวรัสระบาด

ผู้นำธุรกิจในเอเชียมีเหตุผลมากมายในการมองอนาคตแง่บวก เพราะประเทศเหล่านี้รับมือโควิดได้ดีกว่าประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก ทั้งในแง่จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต นอกจากนั้นประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนโดยอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิตอลยังโตเร็วกว่าและมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ผลสำรวจนี้สอดคล้องกับความคิดเห็นของคริสตินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่มองแง่ดีว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกจากฝีมือโควิด-19 อาจไม่เลวร้ายเหมือนที่กลัวกันแต่แรก แม้ว่าวิกฤตนี้ยังไม่มีแววจบลงเร็วๆ นี้ก็ตาม

ช่วงต้นสัปดาห์นี้ ไอเอ็มเอฟได้ออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับใหม่ซึ่งมีการปรับเพิ่มการคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลกปีนี้ว่า จะติดลบ 4.4% ดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิถุนายน 0.4% เนื่องจากมาตรการกระตุ้นอย่างรวดเร็วและขนาดใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อนถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์ของรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ

ผู้นำไอเอ็มเอฟระบุว่า เศรษฐกิจขาลงในอเมริกาและยุโรปไม่ได้รุนแรงอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์กลัวกันในช่วงไวรัสระบาดหนัก ส่วนจีนฟื้นตัวเร็วเกินคาดและเป็นประเทศใหญ่เพียงแห่งเดียวในโลกที่รอดพ้นจากภาวะถดถอยในปีนี้ โดยในรายงานล่าสุดคาดหมายว่า เศรษฐกิจแดนมังกรจะขยายตัว 1.9% ในปี 2020 และ 8.2% ในปีหน้า

อย่างไรก็ดี จิตา โกปินาถ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ ระบุในรายงานว่า แม้ภาวะถดถอยรุนแรงน้อยกว่าที่คาดแต่หยั่งรากลึก และการหลุดพ้นจากหายนะนี้มีแนวโน้มต้องใช้เวลานาน อีกทั้งมีความไม่แน่นอนสูง โกปินาถยังย้ำเตือนอันตรายหากภาครัฐยกเลิกมาตรการสนับสนุนเร็วเกินไป

ต้นสัปดาห์ที่แล้ว องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) แถลงในทำนองเดียวกันว่า ความเสียหายจากโรคระบาดต่อการค้าโลกจะไม่รุนแรงเหมือนที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรก โดยปีนี้อาจมีมูลค่าลดลง 9.2% ไม่ใช่ 12.9% อย่างที่คาดไว้เดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น