xs
xsm
sm
md
lg

ของเก่าอย่าทิ้ง! อีเกีย-H&Mชวนลูกค้ากู้โลก

เผยแพร่:


อีเกียร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเตรียมรับซื้อคืนเฟอร์นิเจอร์เก่าช่วงปลายเดือนหน้าถึงต้นเดือนธันวาคม
เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับคนที่เบื่อตู้ โต๊ะ เตียง เพราะในช่วงปลายเดือนหน้าอีเกียจะเปิดรับซื้อเฟอร์นิเจอร์คืนตามแผนการทำธุรกิจหมุนเวียนเต็มตัวและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2030 นอกจากนั้น เมื่อไม่กี่วันมานี้ เชนฟาสต์แฟชั่นชื่อดัง H&M ยังเดินหน้ารณรงค์ลดขยะจากเสื้อผ้าด้วยการเปิดให้ลูกค้าในสต็อกโฮล์มนำเสื้อผ้าเก่าไปแปลงสภาพเป็นของใหม่ที่มีให้เลือก 3 อย่างคือ ผ้าห่มเด็ก สเว็ตเตอร์ และผ้าพันคอ โดยมีค่าใช้จ่าย 11-16 ดอลลาร์และใช้เวลา 5 ชั่วโมง

อีเกีย กลุ่มกิจการเฟอร์นิเจอร์ใหญ่สุดในโลกสัญชาติสวีเดน ประกาศแผนการริเริ่ม “รับซื้อคืน” ใน 27 ประเทศ ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายนถึง 3 ธันวาคม ซึ่งลูกค้าสามารถนำเฟอร์นิเจอร์เก่าของบริษัทมาคืนเพื่อรับเวาเชอร์สำหรับซื้อสินค้าใหม่ในร้านอีเกีย โดยเวาเชอร์ที่จะแจกจะขึ้นอยู่กับสภาพของเฟอร์นิเจอร์

กล่าวคือ สินค้าที่ “เหมือนใหม่” ไม่มีรอยขีดข่วนจะได้เวาเชอร์มูลค่า 50% ของราคาที่ซื้อไป ส่วนสินค้าที่ “ยังดูดีมาก” มีรอยขีดข่วนเล็กน้อยจะได้เวาเชอร์มูลค่า 40% และสินค้าที่ “ใช้มานาน” มีรอยขีดข่วนหลายแห่งจะได้รับเวาเชอร์มูลค่า 30% โดยมีเงื่อนไขเดียวคือ เฟอร์นิเจอร์ที่นำมาคืนต้องประกอบเสร็จอยู่ในสภาพสมบูรณ์

นอกจากนั้นเวาเชอร์ที่แจกจะไม่มีวันหมดอายุเพื่อให้ลูกค้านำไปซื้อสินค้าเมื่อต้องการจริงๆ ทั้งยังบอกว่า ด้วยการทำให้การใช้ชีวิตในบ้านยั่งยืนง่ายดายและเข้าถึงได้ บริษัทหวังว่า แผนการริเริ่มนี้จะช่วยให้ลูกค้าไม่เผลอใจใช้จ่ายมือหนักในช่วงที่ห้างร้านต่างๆ แห่ลดราคา

อีเกียแจงว่า เฟอร์นิเจอร์ที่รับซื้อคืนที่นำไปขายต่อไม่ได้จะถูกรีไซเคิลหรือบริจาคให้มูลนิธิการกุศล

ภายในปี 2021 บริษัทมีแผนจัดพื้นที่พิเศษในทุกสาขาเพื่อให้ลูกค้านำเฟอร์นิเจอร์เก่ามาขายคืนและซื้อเฟอร์นิเจอร์มือสองที่ซ่อมแซมใหม่กลับไป

สัปดาห์ที่แล้ว อีเกียเผยว่า ยอดขายกลับมาขยายตัวอีกครั้งในปีนี้ หลังจากวิกฤตไวรัสทำให้ลูกค้าสนใจซื้อของแต่งบ้านมากขึ้น และบริษัทเชื่อว่า แนวโน้มนี้จะคงอยู่ต่อไป

แผนการริเริ่มล่าสุดของอีเกียเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจหมุนเวียนเต็มตัวและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2030

เช่นเดียวกับกระแสอนุรักษสิ่งแวดล้อมในธุรกิจเสื้อผ้า เมื่อไม่กี่วันมานี้ H&M เชนฟาสต์แฟชั่นชื่อดังจากสวีเดนเช่นเดียวกัน เปิดให้ลูกค้าในสต็อกโฮล์มนำเสื้อผ้าเก่ามาแปรรูปเป็นของใหม่ที่มีให้เลือก 3 อย่างคือ ผ้าห่มเด็ก สเว็ตเตอร์ และผ้าพันคอ โดยมีค่าใช้จ่าย 11-16 ดอลลาร์และใช้เวลา 5 ชั่วโมง

เสื้อผ้าที่ลูกค้าเอามาเปลี่ยนจะถูกนำไปทำความสะอาดก่อนใส่ลงในเครื่องที่ชื่อว่า Looop เพื่อทำให้กลายเป็นเส้นใยที่จะนำมาผลิตเป็นของใหม่

ความพยายามของ H&M เกิดขึ้นขณะที่ขยะเสื้อผ้ากำลังล้นโลก และมีความกังวลมากขึ้นว่า แฟชั่นที่มาไวไปไวมีส่วนสำคัญทำให้เกิดปัญหานี้

H&M เผยว่า กระบวนการรีไซเคิลนี้จะดำเนินการกับเสื้อผ้าทีละหลายชิ้น ไม่ใช้น้ำหรือสารเคมี แต่บางทีอาจต้องใส่วัตถุดิบจากแหล่งที่ยั่งยืนเพิ่มเติม ซึ่งบริษัทจะพยายามจำกัดปริมาณให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้

กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง และลูกค้ามองเห็นได้ และต่อไปบริษัทอาจเพิ่มตัวเลือกที่ลูกค้าสามารถเปลี่ยนได้ นอกเหนือจากผ้าห่มเด็ก สเว็ตเตอร์ และผ้าพันคอ

แม้ระบบ Looop อาจช่วยกระตุ้นการรับรู้เกี่ยวกับขยะจากเสื้อผ้าและการรีไซเคิล แต่น่าเสียดายที่ H&M ยังเปิดให้บริการนี้ในสวีเดนเท่านั้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของอเมริกา ขยะจากสิ่งทอมีปริมาณถึง 16.9 ล้านตันในอเมริกาในปี 2017 ขณะที่อัตราการรีไซเคิลอยู่ที่เพียง 15.2% หรือ 2.6 ล้านตันเท่านั้น

แจ็คกี้ คิง ผู้อำนวยการบริหารสมาคมวัสดุมือสองและสิ่งทอรีไซเคิล ซึ่งเป็นสมาคมการค้าของอุตสาหกรรมรีไซเคิลสิ่งทอ บอกว่า ฟาสต์แฟชั่นมีผลกระทบอย่างมากต่อเรื่องนี้ เนื่องจากเสื้อผ้าจำนวนมากผลิตจากวัสดุสังเคราะห์ที่รีไซเคิลยาก

H&M และเชนฟาสต์แฟชั่นอื่นๆ เช่น ซารา พยายามดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดขยะจากสิ่งทอ เช่น ในปี 2013 H&M กำหนดเป้าหมายให้เสื้อผ้าทั้งหมดผลิตจากวัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุที่ยั่งยืนภายในปี 2030 ซึ่งขณะนี้สามารถทำได้ถึง 57% ของเสื้อผ้าที่วางจำหน่าย

ส่วนซาราชักชวนให้ลูกค้านำเสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับเก่ามาหย่อนในกล่องรับบริจาคที่สาขากว่า 1,300 แห่ง เพื่อนำไปรีไซเคิลหรือรียูส และปีที่ผ่านมา บริษัทประกาศว่า ภายในปี 2025 ผ้าฝ้าย ลินิน และโพลีเอสเตอร์ทั้งหมดที่ใช้จะเป็นวัสดุออร์แกนิกที่มีความยั่งยืนและวัสดุรีไซเคิล

เดเบอราห์ ดริว นักวิเคราะห์และผู้นำด้านผลกระทบต่อสังคมขององค์การวิจัยที่ไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลก เวิลด์ รีซอร์ส อินสติติวท์ ทิ้งท้ายว่า หนึ่งในตัวขับเคลื่อนให้มีการซื้อหาเสื้อผ้าเกินความจำเป็นคือผู้ผลิตฟาสต์แฟชั่น ดังนั้น บริษัทชั้นนำอย่าง H&M และซาราจึงสามารถช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลอย่างชัดเจนต่ออุตสาหกรรมและผู้บริโภคได้
กำลังโหลดความคิดเห็น