xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐีเอเชีย-แปซิฟิกรวยคงเส้นคงวา โควิดชักพาซูเปอร์ริชแบ่งปันมากขึ้น

เผยแพร่:


จีนเป็นประเทศที่มีซูเปอร์ริชมากที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก
รายงานชี้เอเชีย-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีมหาเศรษฐีมากที่สุดในโลก โดยนับจากปีที่แล้วจนถึงช่วงตกต่ำที่สุดในเดือนเมษายนปีนี้ ความมั่งคั่งของซูเปอร์ริชเอเชียแทบไม่สะเทือน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภูมิภาคนี้มีมหาเศรษฐีในสองอุตสาหกรรมสำคัญคือ เทคโนโลยีและการดูแลสุขภาพที่รวยอู้ฟู่ในช่วงโควิดระบาดมากที่สุดในโลก นอกจากนั้นยังพบว่า วิกฤตโรคระบาดอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เศรษฐีพันล้านตัดสินใจนำความมั่งคั่งหรือเทคโนโลยีไปช่วยแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

รายงานบิลเลียนแนร์ อินไซต์ 2020 ของยูบีเอส แบงก์แถวหน้าของสวิตเซอร์แลนด์ ที่จัดทำร่วมกับพีดับเบิลยูซี บริษัทตรวจสอบบัญชียักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ระบุว่า นับจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2020 มหาเศรษฐีทั่วโลกมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็น 10.2 ล้านล้านดอลลาร์ จากสถิติสูงสุดครั้งก่อนที่ 8.9 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2017 ส่วนจำนวนมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้น 31 คนนับจากเมื่อ 3 ปีก่อน เป็น 2,189 คน

เอเชีย-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนเศรษฐีพันล้านมากที่สุดในโลกคือ 831 คน (38%) โดยมหาเศรษฐีเหล่านี้มีทรัพย์สินรวมกัน 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ทวีปอเมริกามี 762 คน (35%) และยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (อีเอ็มอีเอ) มี 596 คน (27%)

รายงานฉบับนี้ที่เปิดเผยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (7) มาจากการสัมภาษณ์และข้อมูลจากเศรษฐีพันล้าน 2,000 คนใน 43 ประเทศ ซึ่งพบว่า เอเชีย-แปซิฟิกยังคงเป็น “เครื่องจักรสร้างความมั่งคั่ง” ของโลก

จีนเป็นประเทศที่สร้างความมั่งคั่งมากที่สุดในภูมิภาคด้วยจำนวนซูเปอร์ริช 415 คน ตามด้วยอินเดีย (114) ฮ่องกง (65) ไต้หวัน (40) และออสเตรเลีย (39) สำหรับอเมริกานั้นมีเศรษฐีพันล้าน 636 คน

ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีจำนวนมากเกี่ยวพันใกล้ชิดกับการฟื้นตัวของตลาดหุ้นนับจากที่มีการเทขายในเดือนเมษายน เนื่องจากทรัพย์สินของเหล่าซูเปอร์ริชมักโยงกับบริษัทมหาชนที่ตนบริหารหรือลงทุนอยู่

อย่างไรก็ตาม นับจากปีที่แล้วจนถึงช่วงขาลงสุดๆ ในเดือนเมษายนปีนี้ ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีเอเชียแทบไม่สะเทือน โดยขยับลงเบาๆ แค่ 2.1% เทียบกับที่วูบลงถึง 10.1% ในอีเอ็มอีเอ และ 7.4% ในทวีปอเมริกา

Anurag Mahesh ผู้นำร่วมของโกลบัล แฟมิลี ออฟฟิศของยูบีเอสประจำเอเชีย-แปซิฟิก อธิบายว่า สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการที่เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีมหาเศรษฐีในสองอุตสาหกรรมสำคัญคือ เทคโนโลยีและการดูแลสุขภาพที่รวยอู้ฟู่ในช่วงโควิดระบาดมากที่สุดในโลกคือ 181 คน (8%) จากจำนวนมหาเศรษฐีทั้งหมด เทียบกับ 153 คน (7%) ในทวีปอเมริกา และ 88 คน (4%) ในอีเอ็มอีเอ

Anuj Kagalwala หุ้นส่วนและผู้นำการบริหารสินทรัพย์และความมั่งคั่งของพีดับเบิลยูซี สิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมจัดทำรายงานฉบับนี้ เสริมว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีในภาคเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นถึง 5.7 เท่า ขณะที่ทรัพย์สินของมหาเศรษฐีในภาคบริการทางการเงินเพิ่มขึ้นเพียง 2.3 เท่า

รายงานฉบับนี้เผยแพร่ออกมาขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ถกกันว่า การฟื้นตัวรูปตัว K อาจเป็นผลลัพธ์ที่มีแนวโน้มสูงสุดจากวิกฤตโรคระบาด ซึ่งหมายถึงการที่ภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจฟื้นตัวในระดับต่างกัน ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่า ซูเปอร์ริชบางคนรวยขึ้นเร็วกว่าคนอื่นๆ โดยวิกฤตโรคะบาดช่วยเพิ่มความมั่งคั่งให้ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี การดูแลสุขภาพ และเทรนด์ต่างๆ ในโลกโซเชียล

รายงานอธิบายว่า ขณะที่ช่วงเวลาส่วนใหญ่ในทศวรรษที่ผ่านมาราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมั่นคงสำหรับเศรษฐีพันล้านในทุกวงการ แต่สำหรับช่วง 2 ปีล่าสุด ผู้ประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ และบริการ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นโดดเด่นชัดเจนที่สุด และวิกฤตโควิดเพียงแค่มาตอกย้ำแนวโน้มนี้เท่านั้น

ระหว่างปี 2018, 2019 และช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มหาเศรษฐีในธุรกิจเทคโนโลยีมีทรัพย์สินรวม 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 43% ขณะที่มหาเศรษฐีในธุรกิจการดูแลสุขภาพรวยขึ้น 50% อยู่ที่ 659,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนมหาเศรษฐีโดยรวมมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 19%

จีนเป็นประเทศที่ซูเปอร์ริชมั่งคั่งมากขึ้นที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มากกว่าในอเมริกาถึง 9 เท่า การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิตอลของแดนมังกรช่วยปลุกปั้นแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา และโพนี่ หม่า ผู้ก่อตั้งเทนเซ็นต์ กลายเป็นมหาเศรษฐีแซงหน้าบรรดาเจ้าสัวจากภาคการผลิตและก่อสร้าง

นอกจากนั้นรายงานฉบับนี้ยังพบว่า เศรษฐีพันล้านยอมสละทรัพย์สินเพื่อผู้อื่นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดย 209 คนมีส่วนร่วมในการบริจาคเงินหรือการจัดหาผลิตภัณฑ์สำหรับโรคระบาดรวมเป็นมูลค่า 7,200 ล้านดอลลาร์ระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน

ในจำนวนนี้เป็นการบริจาคเงิน 175 คน (76%) การปรับสายการผลิตเพื่อผลิตอุปกรณ์สำหรับรับมือโควิด 24 คน (19%) อีก 10 คน (5%) เป็นผู้ประกอบการที่ส่งเสริมกลยุทธ์ระยะยาว เช่น สนับสนุนเงินทุนสำหรับการพัฒนาวัคซีน

ข้อมูลนี้สะท้อนว่า เหล่าซูเปอร์ริชอาจถึงจุดเปลี่ยนในการนำพลังงานหมุนเวียนและความมั่งคั่งมาช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมที่วิกฤตโรคระบาดและภัยพิบัติธรรมชาติอื่นๆ ช่วยตอกย้ำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น