xs
xsm
sm
md
lg

ลือแผนสองหัวเว่ยบุกวงการรถ ปฏิวัตินวัตกรรมเทียบชั้นเทสลา

เผยแพร่:


สมาร์ทคาร์ในร่างปอร์เช่ พานาเมราควบคุมโดยหัวเว่ย เมต 10 โปร
หลังถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีที่ทำให้บริษัทกลายเป็นผู้นำอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนโลกเมื่อต้นเดือนที่แล้ว หัวเว่ยจึงต้องมองหาอุตสาหกรรมอื่นเพื่อรักษาสถานะกิจการพันล้าน รายงานจากสื่อแดนมังกรบอกเป็นนัยว่า หัวเว่ยหมายมั่นปั้นมือเป็นผู้สร้างนวัตกรรมปฏิวัติวงการแบบเดียวกับเทสลาในอุตสาหกรรมรถจีน

ซู จื้อจวิน ประธานกรรมการแบบหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่เชื่อว่า เทสลากำลังบุกเบิกการปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยระบบไฟฟ้าและปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนในการออกแบบรถและโครงสร้างอุตสาหกรรม

ริชาร์ด หยู ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) กลุ่มธุรกิจคอนซูเมอร์ของหัวเว่ย เป็นอีกคนที่สนับสนุนธุรกิจยานยนต์เพราะอยากเจริญรอยตามแอปเปิลที่มีโปรเจ็กต์พัฒนารถไฟฟ้า

ไฉซิน (Caixin) กลุ่มกิจการสื่อชั้นนำในปักกิ่ง รายงานว่า หัวเว่ยเริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมการวิจัยเทคโนโลยียานยนต์ตั้งแต่ปี 2013 ที่รถไฟฟ้าเป็นเป้าหมายการลงทุนที่ร้อนแรง ด้วยการซุ่มก่อตั้งหน่วยพัฒนาแอปพลิเคชันที่ทำงานบนอินเทอร์เน็ตสำหรับรถ เดือนเมษายน 2019 บริษัทปรากฏตัวในมอเตอร์โชว์ครั้งแรกที่เซี่ยงไฮ้พร้อมเผยโฉมธุรกิจใหม่ในการจัดหาชิ้นส่วนยานยนต์ เดือนต่อมาหัวเว่ยจัดตั้งหน่วยธุรกิจยานยนต์อย่างเป็นทางการครั้งแรกโดยโฟกัสที่โซลูชันสำหรับสมาร์ทคาร์

อุตสาหกรรมยานยนต์ของหัวเว่ยครอบคลุม 5 ส่วน ได้แก่ การขับขี่อัจฉริยะ แพลตฟอร์มห้องโดยสารอัจฉริยะ เครือข่ายอัจฉริยะ ระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ และบริการคลาวด์ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยธุรกิจรถอัจฉริยะและกลุ่มธุรกิจคอนซูเมอร์ที่มีภารกิจในการเชื่อมโยงแอปพลิเคชันสำหรับรถยนต์กับบริการบนมือถืออื่นๆ ของหัวเว่ย

แม้เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการหัวเว่ยย้ำว่า ไม่มีแผนผลิตรถ แต่บริษัทเดินหน้าเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตเกือบทุกสิ่งที่รถอัจฉริยะต้องการมาตลอด แถมเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซูยังให้สัมภาษณ์ว่า ทุกอย่างที่เทสลาทำได้ หัวเว่ยก็ทำได้เหมือนกัน

แหล่งข่าววงในแย้มว่า หัวเว่ยต้องการเป็นซัปพลายเออร์ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ทั้งหมดสำหรับรถอัจฉริยะและต้องการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งทั่วโลกจะมีได้แค่ 2-3 รายเท่านั้น

กลางเดือนสิงหาคม หัวเว่ยแก้ไขการจดทะเบียนธุรกิจอย่างเงียบๆ โดยเพิ่มส่วนการวิจัย การผลิต และการจำหน่ายชิ้นส่วนรถและระบบขับขี่อัจฉริยะ ต้นเดือนต่อมา บริษัทเปิดตัวระบบปฏิบัติการฮาร์โมนีเวอร์ชัน 2 ที่จะติดตั้งในสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ตั้งแต่ปีหน้า

ปัจจุบันฮาร์โมนี โอเอสติดตั้งอยู่ในแพลตฟอร์มห้องโดยสารอัจฉริยะของหัวเว่ยอยู่แล้วเพื่อให้ผู้ใช้ควบคุมฟังก์ชันอัตโนมัติเกือบทั้งหมดในรถผ่านมือถือหัวเว่ย

บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่แห่งนี้จำเป็นต้องมีธุรกิจยานยนต์ใหม่ ขณะที่ธุรกิจหลักอย่างอุปกรณ์โทรคมนาคมและมือถือถูกกระแสต่อต้านทั่วโลก และมาตรการแบนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่มีผลเมื่อเดือนที่แล้วทำให้บริษัทไม่สามารถเข้าถึงเซมิคอนดักเตอร์ ซอฟต์แวร์ และวัสดุอื่นๆ ของต่างชาติ ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อมือถือและสถานีฐาน 5จีของบริษัท

ค่ายรถหลายแห่งกังวลว่า ที่สุดแล้วหัวเว่ยอาจผลิตรถและปฏิวัติอุตสาหกรรมโดยรวม เพราะแม้เหรินยืนยันอีกครั้งเมื่อปีที่แล้วว่า ไม่มีแผนทำแบบนั้นและจะไม่ทำธุรกิจที่บริษัทไม่สามารถแข่งขันได้ แต่ครั้งหนึ่งหัวเว่ยก็เคยประกาศว่า จะไม่ผลิตมือถือเหมือนกัน

นอกจากนั้นช่วงที่เหรินให้สัมภาษณ์ ตลาดรถอัจฉริยะยังไม่เข้าที่เข้าทางนัก หัวเว่ยจึงอาจคิดว่า ควรโฟกัสที่ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสารต่อไปตามเดิม ยังไม่ควรแข่งขันโดยตรงกับซัปพลายเออร์ชิ้นส่วนยานยนต์

อย่างไรก็ตาม เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หัวเว่ยเป็นพันธมิตรกับบริษัทรถจีน 18 แห่งเกี่ยวกับแอป 5จีสำหรับรถ และจนถึงเดือนกันยายน รถกว่า 150 รุ่นจากผู้ผลิต 20 แห่งใช้แพลตฟอร์มห้องโดยสารอัจฉริยะไฮคาร์ของหัวเว่ย ซึ่งคล้ายกับคาร์เพลย์ของแอปเปิลและแอนดรอยด์ออโตของกูเกิล และจะเพิ่มเป็นกว่า 500 รุ่นในปีหน้า

Gasgoo ผู้ให้บริการข้อมูลอุตสาหกรรมยานยนต์ยังรายงานว่า หัวเว่ยนำความสำเร็จล่าสุด อาทิ ระบบขับขี่อัตโนมัติไปอวดในงานปักกิ่ง อินเตอร์เนชันแนล ออโตโมทีฟ เอ็กซิบิชัน 2020 ที่เริ่มต้นช่วงปลายเดือนกันยายนและสิ้นสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (5)

หัวเว่ยยังร่วมมือกับบีเอไอซี บลูปาร์ก นิว อิเนอร์จี เทคโนโลยี บริษัทรถไฟฟ้าในเครือบีเอไอซี กรุ๊ป ผลิตรถต้นแบบรุ่นแรกในชื่อ N61 ที่ใช้โซลูชันฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สำหรับรถอัจฉริยะของหัวเว่ย และมีความสามารถในการขับขี่อัตโนมัติระดับ 4 โดยจะทดสอบบนถนนปลายปีนี้ก่อนวางตลาดไตรมาสสุดท้ายปีหน้า

แหล่งข่าวในบีเอไอซีเผยว่า หัวเว่ยคาดหวังให้โปรเจ็กต์ N61 เป็นระบบมาตรฐานที่สามารถนำไปปรับใช้กับค่ายรถอื่นๆ ได้

ผู้คนในแวดวงรถส่วนใหญ่ที่ให้สัมภาษณ์ไฉซินต่างคิดว่า หัวเว่ยมีความสามารถที่จะผงาดขึ้นเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ และอาจกลายเป็นผู้จัดหาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ใช้กันทั่วไปสำหรับอุตสาหกรรมนี้ เช่นเดียวกับที่ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ใช้อย่างแพร่หลายในสมาร์ทโฟนค่ายต่างๆ

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมรถยนต์คนหนึ่งบอกว่า ถ้าเทียบกับบริษัทรถดั้งเดิมทั่วไปที่พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองสู่ยุครถอัจฉริยะ หัวเว่ยมีแนวโน้มมากกว่าที่จะคิดนอกกรอบและสร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรมแบบเดียวกับเทสลา

ปัญหาสำคัญคือ หัวเว่ยจะผลักดันกลยุทธ์ของบริษัทและรักษาสมดุลในการเป็นพันธมิตรกับค่ายรถอย่างไร ขณะที่หลายคนไม่สงสัยในความสามารถ แต่กังวลกับเป้าหมายของหัวเว่ยมากกว่า

แหล่งข่าวใกล้ชิดคนหนึ่งบอกว่า ค่ายรถส่วนใหญ่สองจิตสองใจเวลาร่วมงานกับหัวเว่ย โดยใจหนึ่งอยากยอมรับเทคโนโลยีของบริษัทจีนแห่งนี้ แต่อีกใจก็กังวลว่า หัวเว่ยจะเติบโตกลายเป็นคู่แข่งในอนาคต

ด้านนักวิเคราะห์คาดหวังว่า การผลิตรถจะกลับมาบูมอีกครั้งใน 2-3 ปีหน้า ขณะที่อุตสาหกรรมปรับเข้าสู่ระบบอัจริยะมากขึ้นซึ่งเป็นโอกาสทองสำหรับหัวเว่ย
กำลังโหลดความคิดเห็น