xs
xsm
sm
md
lg

TMB ชี้สัญญาณฟื้น ศก.เริ่มแผ่ว แนะรัฐเร่งอัดมาตรการกระตุ้นเพิ่ม

เผยแพร่:



ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย ชี้สัญญาณฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยเริ่มแผ่วลง หลังหมดมาตรการรัฐ แนะออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายเป็นแพกเกจ เน้นกลุ่มที่รายได้ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อหนุนการบริโภคในภาพรวม

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics)
เผยการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณแผ่วลงจากที่มีทิศทางปรับดีขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์ ล่าสุด ในเดือนสิงหาคมการใช้จ่ายสินค้าหมวดไม่คงทนและหมวดบริการแผ่วลงจากกำลังซื้อที่ยังคงอ่อนแอ มีเพียงการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ยังคงเพิ่มขึ้น และมีโอกาสที่แรงส่งของการฟื้นตัวจะอ่อนแรงลงไปอีก ทั้งนี้ เครื่องชี้วัดการบริโภคเริ่มแผ่วลงหลังจากที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นจากจุดต่ำสุดในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นไปในทุกหมวดสินค้า โดยในหมวดสินค้าคงทน ยอดขายรถใหม่ปรับเพิ่มขึ้นจากยอดขายเดิมที่เคยลดเหลือเพียง 3 หมื่นคันในเดือนเมษายน มาอยู่ที่ 6.8 หมื่นคันในเดือนสิงหาคม และราคารถมือสองที่ขยับดีขึ้นจากเดือนเมษายน 2563 อย่างไรก็ดี ประเมินยอดขายรถใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุด ยังไม่เป็นตัวชี้ถึงดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นความต้องการที่เลื่อนมาจากช่วงล็อกดาวน์ รวมทั้งได้ปัจจัยหนุนจากการจัดกิจกรรมมอเตอร์โชว์ที่ถูกเลื่อนจากต้นปี จึงถือเป็นเพียงปัจจัยกระตุ้นชั่วคราวและการเพิ่มขึ้นอาจไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง

สำหรับดัชนีการบริโภคหมวดสินค้าไม่คงทน สินค้ากึ่งคงทน และการใช้จ่ายในภาคบริการมีทิศทางปรับดีขึ้นเช่นกันในช่วงของมาตรการเยียวยาจ่ายเงิน 5,000 บาทต่อเดือน แต่เริ่มมีสัญญาณแผ่วลงในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มาตรการจ่ายเงินเยียวยาสิ้นสุดลง ประกอบกับปัจจัยพิเศษวันหยุดยาวที่ดึงดูดการท่องที่ยวไปแล้วในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยกดดันจากสภาพตลาดแรงงานที่ยังเปราะบางสะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิงาน ณ เดือนสิงหาคมที่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ 4.4 แสนคน และความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการหารายได้ในอนาคตที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่เมื่อพิจารณาข้อมูลธุรกรรมการชำระเงินจากหลากหลายช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ พบว่า ทิศทางเริ่มแผ่วลงในเดือนกรกฎาคมเช่นเดียวกัน สะท้อนจากมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิต มูลค่าการใช้จ่ายผ่านมือถือ รวมทั้งการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องนับจากจุดต่ำสุดในเดือนเมษายนก็เริ่มแผ่วลงในช่วงต้นไตรมาส 3 เช่นเดียวกัน

ส่วนข้อมูล Real time บ่งบอกกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์ได้กลับมาทรงตัวตั้งแต่เดือนกรกฎาคม โดยดัชนี Google mobility ที่สะท้อนการเคลื่อนไหวของกิจกรรมเศรษฐกิจในด้านต่างๆ มีแนวโน้มเข้าใกล้ช่วงปกติก่อนเกิดโควิด-19 แต่เริ่มแผ่วลง ทั้งการเดินทางไปยังร้านค้าปลีก กิจกรรมการพักผ่อนหย่อนใจ ร้านขายสินค้าทั่วไปและร้านสะดวกซื้อสำหรับข้อมูล Apple mobility บ่งบอกว่ากิจกรรมเดินทางหรือการขับขี่ส่วนใหญ่กระจุกตัวในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมาจากผลของมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ เช่น เราไปเที่ยวกัน และคนไทยหันมาท่องเที่ยวในไทยหลังคลายล็อกดาวน์ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว

ทั้งนี้ เมื่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจในภาคต่างประเทศของไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างช้าๆโดยเฉพาะการส่งออกที่ได้รับผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการเกิดระบาดโควิด-19 รอบสอง ดังนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศยังถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จึงมองว่ามาตรการจากภาครัฐเพื่อกระตุ้นค่าใช้จ่ายในประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทำให้เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายหลังคลายล็อกดาวน์ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว (เที่ยวปันสุข-เราไปเที่ยวกัน-กำลังใจ) ที่เชื่อมโยงไปกระตุ้นการใช้จ่ายด้วย และที่จะเปิดให้ลงทะเบียนในเดือนตุลาคมนี้ คือ มาตรการ "คนละครึ่ง" โดยรัฐจะจ่ายให้ 50% ของยอดใช้จ่ายไม่เกิน 3,000 บาท เป็นจำนวน 10 ล้านคน ประเมินว่าจะมีส่วนพยุงกำลังซื้อของคนในประเทศทำให้สินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันยังขยายตัวได้ อีกทั้งจะช่วยพยุงกิจการของผู้ประกอบการรายเล็ก

โดยจากข้อมูลผู้มีรายได้ในตลาดแรงงาน พบว่ามีกลุ่มที่รายได้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างจำกัดเป็นจำนวน 15.5 ล้านคน หรือ 40% ของจำนวนคนในตลาดแรงงาน (38.2 ล้านคน) ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีอำนาจซื้ออยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบด้วย ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัทและธุรกิจเอกชน (ไม่รวมกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง) ดังนั้น หากมีมาตรการเพิ่มเติมมาช่วยกระตุ้นในกลุ่มนี้ใช้จ่ายมากขึ้น คาดว่าจะช่วยให้การบริโภคฟื้นตัวได้ต่อเนื่องทั้งนี้ อาจเป็นในรูปแบบมาตรการที่นำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือเป็นเงินสดคืนให้เป็นร้อยละของยอดใช้จ่าย (Cash Back) เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น