xs
xsm
sm
md
lg

วายร้ายไซเบอร์สบช่องวิกฤตไวรัส ป่วนหนักแบงก์ยันSMEทั่วเอเชีย

เผยแพร่:


ความสะดวกสบายของระบบออนไลน์บางครั้งมาพร้อมอันตรายจากเหล่ามิจฉาชีพ
ผลสำรวจพบธุรกิจกว่าครึ่งในเอเชีย-แปซิฟิกถูกคุกคามความปลอดภัยทางไซเบอร์รุนแรงอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงเวิร์กฟรอมโฮม โดยอุตสาหกรรมการธนาคารเป็นเป้าหมายสำคัญของเหล่ามิจฉาชีพในไซเบอร์ แต่ SME ก็โดนหนักใช่ย่อย หลายบริษัทถึงขั้นปิดกิจการหลังถูกโจมตีไม่เกิน 6 เดือน

ผู้เชี่ยวชาญและผู้คุมกฎระบุว่า อาชญากรทางไซเบอร์กำลังฉวยโอกาสที่โรคระบาดทำให้ชีวิตประจำวันของผู้คนไม่ราบรื่นเหมือนเคย เจาะเข้าระบบและหลอกลวงพนักงานและลูกค้าของธนาคาร ผู้ให้บริการชำระเงิน ร้านค้าออนไลน์ และธุรกิจอื่นๆ มากขึ้นอย่างน่าตกใจ

เซาธ์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์รายงานว่า ข้อจำกัดในการเว้นระยะห่างทางสังคมบังคับให้บริษัทต่างๆ ต้องยอมให้พนักงานทำงานจากบ้าน ส่งเสริมการช้อปและการธนาคารออนไลน์โตกระฉูด ในจำนวนนี้รวมถึงลูกค้ามากมายที่ไม่เคยใช้บริการธนาคารดิจิตอลมาก่อน

มาร์ก ลุคกี ผู้จัดการฝ่ายขาย-วิศวกรในเอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่นของผู้ให้บริการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ บาร์ราคูดา เน็ตเวิร์กส์ ชี้ว่า สถานการณ์นี้เปิดโอกาสให้สแกมเมอร์ใช้อีเมลฟิชชิ่งและการโจมตีอัตโนมัติเพื่อพยายามเข้าถึงบัญชีหรือระบบคอมพิวเตอร์ที่สำคัญ เช่น การใช้อีเมลที่ดูเหมือนมาจากแหล่งหรือบริษัทที่น่าเชือถือ เพิ่มขึ้นเกือบ 670% ทั่วโลกในช่วงที่โควิดระบาดหนักเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่ผ่านมา

ผลสำรวจความคิดเห็นของบาร์ราคูดาที่เปิดเผยเมื่อปลายเดือนที่แล้วพบว่า ธุรกิจกว่าครึ่งในเอเชียเผชิญการคุกคามความปลอดภัยร้ายแรงอย่างน้อย 1 ครั้งนับจากเริ่มให้พนักงานทำงานจากบ้านในปีนี้

นอกจากนั้น ในบรรดาผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 1,005 คน มีถึง 47% ที่บอกว่า งบประมาณการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ถูกตัด และ 54% บอกว่า การรักษาความปลอดภัยถูกจัดลำดับความสำคัญรองจากการจัดการอุปกรณ์สำหรับการทำงานจากบ้าน

ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เจอร์เกน สต็อก เลขาธิการอินเตอร์โพลหรือตำรวจสากล ออกแถลงการณ์เตือนว่า แฮ็กเกอร์และเหล่ามิจฉาชีพทางไซเบอร์เบนความสนใจจากบุคคลทั่วไปและธุรกิจขนาดเล็กไปเป็นองค์กรขนาดใหญ่ รัฐบาล และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ โดยอาศัยความกลัวและความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่ไร้เสถียรภาพสืบเนื่องจากโควิด-19 โดยระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน มีการปล่อยข้อมูลสแปมถึงราว 907,000 ข้อความทางอินเทอร์เน็ต

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคม แฮ็กเกอร์เข้าควบคุมบัญชีทวิตเตอร์ของเหล่าของคนดังชั่วคราว ในจำนวนนี้รวมถึงอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาของอเมริกา, อีลอน มัสก์ และบิลล์ เกตส์

เดือนสิงหาคม ตลาดหุ้นนิวซีแลนด์ปิดทำการ 4 วันหลังถูกโจมตีหลายระลอก

อาร์เธอร์ เหยียน รองประธานบริหารธนาคารกลางฮ่องกง ระบุว่า วิกฤตโรคระบาดกระตุ้นกิจกรรมการฉ้อโกงและประสงค์ร้ายให้ระบาดไปด้วย โดยอาชญากรจะแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐบาล องค์กรการกุศล หรือผู้ขายหน้ากากเพื่อหลอกลวงลูกค้า เขาสำทับว่า แม้แบงก์ในฮ่องกงมีความเชี่ยวชาญในการระบุเว็บไซต์ประสงค์ร้ายและมีแอปพลิเคชันปกป้องข้อมูลลูกค้า แต่เห็นได้ชัดว่า แฮ็กเกอร์เคลื่อนไหวคึกคักมากในปีนี้

เหยียนยกตัวอย่างว่า ตลอดปี 2019 หน่วยงานกำกับดูแลพบการคุกคามของแอปประสงค์ร้าย 11 กรณี ขณะที่นับจากต้นปีนี้ถึงเดือนสิงหาคมตัวเลขพุ่งเกิน 20 กรณีไปแล้ว

ทางด้านแบงก์ชาติอินเดียเปิดเผยเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า อุตสาหกรรมการธนาคารเป็นเป้าหมายทางเลือกของการโจมตีทางไซเบอร์ในปีนี้ เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้หลายบริษัทต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบการทำงานระยะไกล

เล็กซิสเน็กซิส ริสก์ โซลูชันส์สำทับว่า บอท การลงชื่อเข้าใช้ และการชำระเงินของบริษัทบริการทางการเงินเป็นเป้าหมายสำคัญในการโจมตีของเหล่ามิจฉาชีพ ซึ่งมีตั้งแต่การแอบเก็บข้อมูลไปจนถึงการโจมตีจากหลายที่พร้อมกันเพื่อให้เว็บไซต์ใช้งานไม่ได้ และการติดตั้งมัลแวร์ และโดยรวมแล้วบริษัทบริการทางการเงินตกเป็นเป้าหมายการโจมตีบอทในเครือข่ายการยืนยันตัวตนระบบดิจิตอลถึง 62% ของการโจมตี 868 ล้านครั้งในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้

คาเมรอน เชิร์ช ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการตลาดสำหรับการระบุตัวตนและการฉ้อโกงของเล็กซิสเน็กซิส ชี้ว่า หนึ่งในวิธีที่อาชญากรใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลคือ อีเมลฟิชชิงที่อ้างตัวเป็นผู้ให้บริการซึ่งลูกค้ามีแนวโน้มต้องการใช้ระหว่างกักตัวอยู่บ้านในช่วงโรคระบาด เช่น เน็ตฟลิกซ์ หรือเพย์พาล

เชิร์ชเสริมว่า ปีนี้ตัวเขาเองได้รับอีเมลฟิชชิ่งต้องสงสัยวันละ 4-5 เมล

ตามรายงานของเล็กซิสเน็กซิส มีการโจมตีที่เกี่ยวข้องกับการเปิดบัญชีเกิดขึ้นทั่วโลก 16 ล้านครั้งระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ โดยเครื่องมือสำคัญที่เหล่าวายร้ายบนไซเบอร์นิยมใช้คือแอปบนมือถือ

สแกมเมอร์ยังพุ่งเป้าโครงการเยียวยาที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการล็อกดาวน์และเศรษฐกิจโลกที่หยุดชะงัก

อย่างไรก็ดี จีน หยู ประธานบริหารบริษัทจัดการเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ แบล็กแพนดา บอกว่า ไม่ใช่แค่บริการทางการเงินเท่านั้นที่ประสบปัญหาจากการโจมตีทางไซเบอร์มากขึ้นระหว่างช่วงโรคระบาด แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมทุกแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SME) ในเอเชียที่เป็นเป้าหมายการโจมตี 43% จากทั้งหมด และการโจมตีเหล่านี้ 60% ส่งผลให้บริษัทบางแห่งต้องปิดกิจการภายใน 6 เดือนหลังถูกละเมิดความปลอดภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น