xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานพร้อมรับมือค่าโง่รื้อถอนแท่น จ่อนำเข้า LNG หากเกิดปัญหา

เผยแพร่:



กระทรวงพลังงานเตรียมพร้อมรับมือเชฟรอนฯ เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณที่จะสิ้นสุดสัปทานปี 2565 “สุพัฒนพงษ์” ย้ำหากกระทบความมั่นคงด้านพลังงานพร้อมนำเข้า LNG

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
เปิดเผยถึงกรณีที่ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการไทยเนื่องจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติให้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแหล่งเอราวัณเมษายน 2565 ว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้เตรียมขั้นตอนต่างๆ ไว้เพื่อสู้คดีแล้ว ซึ่งรายละเอียดไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะเป็นเรื่องประเด็นทางกฎหมาย โดยมั่นใจว่าจะมีแนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของความมั่นคงด้านพลังงานนั้น หากเกิดผลกระทบต่อการผลิตที่ไม่เป็นไปตามแผนกระทรวงพลังงานก็ได้เตรียมพร้อมในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal)

"เรื่องนี้ได้เข้าสู่ขั้นตอนอนุญาโตตุลาการการให้ข้อมูลจึงต้องระมัดระวัง กระทรวงพลังงานก็ได้เตรียมแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้หมดแล้ว โดยมอบหมายให้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการปิโตรเลียม ไปเร่งดำเนินการ แต่หากมีปัญหาก็เตรียมเชื้อเพลิงไว้อย่างเพียงพอ ไม่ขาดแคลน ซึ่ง ปตท.มีสถานีรับ-ส่งก๊าซธรรมชาติเหลวไว้รองรับแล้ว ขอให้มั่นใจว่าจะมีก๊าซฯ เพียงพอรองรับการผลิตไฟฟ้าและอื่นๆ ไม่ขาดแคลนแน่นอน" นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ทาง บ.เชฟรอนประเทศไทยได้ทำหนังสือชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า เชฟรอนฯ ได้ทำงานร่วมกันกับรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมการส่งมอบสิ่งติดตั้งที่ยังใช้ประโยชน์ได้ในแหล่งเอราวัณให้รัฐบาลอย่างปลอดภัยหลังจากสัมปทานสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ทั้งนี้ ข้อตกลงในสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมได้ระบุไว้ว่าผู้รับสัมปทานมีหน้าที่รับผิดชอบการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่จะมิได้ส่งมอบให้แก่รัฐบาลแต่เพียงเท่านั้น ซึ่งเชฟรอนมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามข้อผูกพันดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการอีกครั้ง เพื่อให้ได้รับความชัดเจนเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่จะส่งมอบให้แก่รัฐบาลภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง

ที่ผ่านมาเชฟรอนประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในแหล่งเอราวัณที่จะมิได้ส่งมอบให้แก่รัฐบาลในปี พ.ศ. 2565 ภายใต้ข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาสัมปทานปิโตรเลียม และบริษัทจะยังคงมุ่งมั่นในภารกิจจัดหาพลังงานอย่างรับผิดชอบและปลอดภัย เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานในระยะยาวของประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไป ดังที่ได้ปฏิบัติมาแล้วกว่า 5 ทศวรรษ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่า การรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมเกิดขั้นตามกฎหมายเมื่อมีการเปิดประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย แปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ซึ่งสัมปทานเดิมจะสิ้นสุดลง เม.ย. 65 ซึ่งเชฟรอนฯ เป็นผู้ได้รับสัมปทาน และต่อมาผลการประมูลจบลงด้วยชัยชนะของกลุ่ม ปตท.สผ. ซึ่งการเปลี่ยนผ่านต้องมีการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม โดยที่ผ่านมากรมฯ และเชฟรอนได้หารือเพื่อตกลงการส่งมอบแท่นเพื่อให้ ปตท.สผ.เข้ามาใช้ในการผลิตต่อจำนวน 142 แท่น ส่วนอีก 49 แท่นทางเชฟรอนรับภาระรื้อถอนเองทั้งหมด โดย 7 แท่นในจำนวนนี้ได้รื้อถอนไปทำปะการังเทียมแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เชฟรอนฯ ยื่นร้องต่ออนุญาโตตุลาการเป็นประเด็นใน 142 แท่นเพราะไม่สามารถตกลงกับกระทรวงพลังงานได้ว่าจะต้องวางเงินค่ารื้อถอนในสัดส่วนเท่าใด เพราะเชฟรอนมองว่าแม้ใช้ประโยชน์มานาน 40 ปีแต่ ปตท.สผ.เข้ามาใช้ประโยชน์ต่ออีก 10-20 ปีดังนั้นสัดส่วนการจ่ายก็ควรจะน้อยลง แต่รัฐกลับให้จ่ายก่อนและจ่ายเต็ม โดยคิดเป็นเงินที่ต้องจ่ายสูงถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4.8 หมื่นล้านบาท

"ขณะนี้ปลัดกระทรวงพลังงานได้ตั้งคณะทำงาน ทีมกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ และทีมอนุญาโตตุลาการฝ่ายไทยไว้สู้คดีดังกล่าวพร้อมแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยในรายละเอียดได้ ซึ่งยังคาดหวังว่าจะสามารถเจรจากันได้" แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น