xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงดีอีเอสเร่งหาข้อสรุปเรื่องดาวเทียม ก่อนหมดสัญญาสัมปทาน 1 ปี

เผยแพร่:



“พุทธิพงษ์” เดินหน้าหารือสำนักงานอัยการสูงสุด ฟ้องอนุญาโตตุลาการไทยคม กรณีปล่อยไทยคม 5 เสียก่อนหมดสัญญาสัมปทาน ก.ย.2564 และหาดวงใหม่ทดแทนไม่ได้ ขณะที่แผนการบริหารจัดการดาวเทียมต่อจากไทยคมชะงัก เหตุเรื่องค้างอยู่ สคร.จึงยังไม่สามารถเสนอ ครม.เพื่อลงมติให้ กสท โทรคมนาคม บริหารจัดการต่อได้ ชี้ต้องเตรียมรับช่วงก่อนหมดสัญญาสัมปทาน 1 ปี หวั่นเสียโอกาสทางธุรกิจ

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้กระทรวงดีอีเอสดำเนินคดีแทนรัฐบาลเรื่องดาวเทียมไทยคม 5 เกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคจนไม่สามารถกู้ระบบคืนหรือซ่อมแซมได้ ทำให้ต้องปลดระวางเมื่อ 26 ก.พ.2563 ก่อนวันหมดสัญญาสัมปทานในวันที่ 10 ก.ย.2564 ตามที่กระทรวงดีอีเอสได้เสนอให้ ครม.อนุมัติ เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2563 ที่ผ่านมานั้น

ทำให้กระทรวงดีอีเอส สามารถดำเนินการตามกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการและหรือกระบวนการทางศาล เพื่อเรียกร้องให้บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ปฏิบัติตามข้อสัญญา รวมทั้งการเรียกร้องให้ดำเนินการจัดหาดาวเทียมทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 ตลอดจนการขอให้ชดใช้ราคาแทนการจัดหาดาวเทียมทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 การชำระค่าตอบแทนต่างๆ ตามสัญญา เบี้ยปรับ และค่าเสียหายต่างๆ ตามรายละเอียดที่ตรวจสอบได้และประสงค์จะเรียกร้องแทนรัฐบาล

สำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทรับประกัน กรณีเหตุขัดข้องทางเทคนิคของดาวเทียมไทยคม 5 นั้น กระทรวงดีอีเอสให้ไทยคม อยู่ระหว่างดำเนินการเจรจาต่อรองค่าเสียหายกับบริษัทผู้รับประกันภัย

ส่วนเรื่องที่ไทยคมจะต้องจัดสร้างดาวเทียมทดแทนตามสัญญา กรณีดาวเทียมไทยคม 5 ที่ปลดระวางไปนั้นไทยคม ได้ชี้แจงว่าได้จัดสร้างดาวเทียมหลักและสำรองในกรณีที่ดาวเทียมหลักเสียหายถูกต้องครบถ้วน 2 ชุด ตามข้อกำหนดของสัญญาแล้ว จึงไม่มีแผนในการจัดสร้างดาวเทียมเพิ่มเติม

ขณะที่กระทรวงดีอีเอส เห็นว่า หากดาวเทียมไทยคม 5 ไม่สามารถใช้งานได้ จำเป็นต้องมีดาวเทียมสำรองอีกดวงหนึ่งเพื่อถ่ายโอนลูกค้า ไม่ใช่การถ่ายโอนไปใช้งานดาวเทียมของต่างชาติแบบที่ไทยคมทำ ดังนั้น ทำให้ข้อพิพาทนี้ยังไม่มีข้อยุติ ดีอีเอสจึงต้องนำข้อพิพาทดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการตามสัญญา

“จากนี้กระทรวงดีอีเอสต้องทำเรื่องขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดำเนินการตามอนุญาโตตุลาการต่อไป ซึ่งคณะทำงานจะมาจากตัวแทนสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงดีอีเอส และหน่วยงานกลาง”

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า กรณีที่คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เมื่อช่วงต้นปี 2563 ได้เห็นชอบให้บริษัท กสท โทรคมนาคม เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการทรัพย์สินที่กระทรวงดีอีเอส รับโอนหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานให้บริการดาวเทียมจากไทยคม ในเดือน ก.ย.2564 นั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอกระทรวงดีอีเอสเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)

เนื่องจากบอร์ดดีอีมีข้อสังเกตเรื่องแผนบริหารจัดการดาวเทียมแห่งชาติแบบจีทูจีด้วยกระบวนการตามมาตรา 49 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) จึงให้กระทรวงดีอีเอสทำเรื่องให้สำนักงานกฤษฎีกาตีความ แต่ทางสำนักงานกฤษฎีกาแจ้งว่าไม่มีอำนาจ จึงให้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาอยู่แต่ยังไม่แล้วเสร็จ

ดังนั้น จึงอาจทำให้เสียโอกาสในการรับช่วงต่อซึ่งต้องดำเนินการล่วงหน้า 1 ปี ก่อนหมดสัญญาสัมปทาน ในเรื่องการบริหารจัดการ และควบคุมดาวเทียมในบางส่วนซึ่งมีความละเอียดอ่อนจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรเพิ่มความรู้ทักษะเฉพาะด้าน และ กสท โทรคมนาคม จะต้องส่งบุคลากรเข้าไปฝึกอบรมเตรียมความพร้อมในการบริหารสินทรัพย์กับไทยคมในเดือน ก.ย.2563 ที่สำคัญคือ ลูกค้าที่ใช้งานไทยคม 4 และไทยคม 6 จะขาดความเชื่อมั่นและย้ายออกจากระบบก่อน เพราะเกรงว่าจะไม่มีความต่อเนื่องในการให้บริการ สุดท้ายกระทรวงดีอีเอสก็จะได้สินทรัพย์มาอย่างเดียวโดยไม่มีลูกค้า
กำลังโหลดความคิดเห็น