xs
xsm
sm
md
lg

ศก.โค้งสุดท้ายปี 63 ยังเปราะบาง รัฐอัดฉีดเพิ่ม-เปิดประเทศเดิมพันฝ่าด่านโควิด-19 รอบ 2

เผยแพร่:



ปี 2563 นับเป็นปีหนึ่งที่โลกต้องจารึกประวัติศาสตร์ถึงความยากลำบากทางด้านเศรษฐกิจจากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งไทยเองก็หนีไม่พ้นที่ต้องประสบพบเจอเช่นกัน โดยสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่ชัดเจนผ่านตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แถลงอัตราการเติบโตไว้ที่ติดลบ 12.2% ซึ่งมาจากปัจจัยหลักของผลกระทบต่อเนื่องการปิดเมือง (ล็อกดาวน์) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา

แม้ว่าตัวเลขติดลบดังกล่าวจะน้อยกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่เคยทำไว้ลบ 12.5% เมื่อปี 2540 แบบเฉียดฉิว แต่บริบทนี้ก็ต่างกันโดยสิ้นเชิงด้วยเพราะวิกฤตต้มยำกุ้งเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักไม่ได้ดับหมดทุกตัวเช่นผลกระทบโควิด-19 ที่การส่งออก การบริโภค การลงทุน ดับลงหมด ส่งผลกระเทือนไปยังภาคการเกษตรและอัตราการจ้างงานที่ถดถอยหนักหรือลามไปยังเศรษฐกิจฐานรากนั่นเอง ซึ่งแม้ว่ารัฐจะมีการคลายล็อกดาวน์มาเป็นลำดับ แต่เครื่องยนต์เหล่านี้ก็ยังคงอ่อนแรง

ขณะเดียวกัน วิกฤตต้มยำกุ้งเศรษฐกิจโลกไม่ได้ถดถอย แต่ครั้งนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกล้วนเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจกันแบบถ้วนหน้า ส่งผลให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับคาดการณ์จีดีพีทั่วโลกล่าสุดจะติดลบ 4.9% ในปีนี้จากก่อนหน้าได้ประเมินไว้ว่าจะติดลบเพียง 3% ขณะที่จีดีพีไทยปีนี้เฉลี่ยจะติดลบ 7.7% ด้าน “สศช.” ได้ประมาณการจีดีพีปี 2563 จะติดลบ 7.5% (กรอบลบ7.8-7.3%) ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 ล่าสุดจะหดตัว 7.8% น้อยกว่าที่เคยคาดไว้ว่าจะหดตัว 8.1% เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตชะลอตัวลงกว่าที่คาดและมองว่าจะซึมยาว 2 ปี

ล่าสุดธนาคารโลกยังเปิดเผยรายงานอัปเดตด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกประจำเดือนตุลาคม 2563 โดยคาดการณ์ว่าปี 2563 ภูมิภาคนี้จะเติบโตขึ้นเพียง 0.9% ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2510 โดยไทยคาดว่าตัวเลขจีดีพีปีนี้จะติดลบประมาณ 8.3% และกรณีแย่สุด คือลบ 10.4% ซึ่งหมายถึงกรณีการเกิดระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 และนำไปสู่การล็อกดาวน์อีกครั้ง และนั่นจะเป็นเหตุให้เศรษฐกิจไทยอาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานขึ้นถึง 3 ปี

ตัวเลขเหล่านี้ยังไม่อาจชัดเจนถึงทิศทางจะดีขึ้นหรือเลวร้ายลงไปในอนาคต แต่ทุกสำนักต่างก็มองในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจะฟื้นตัวเร็วหรือช้า ที่สุดยังคงต้องรอความหวังจากการเร่งคิดค้น “วัคซีนโควิด-19” ที่มีรายงานการพัฒนาทั่วโลกมากกว่า 140 ชนิดรวมทั้งประเทศไทย จากวิธีพัฒนาหลายๆ รูปแบบ แต่วัคซีนเหล่านี้ต้องการ “เวลา” ในการพัฒนา โดยเฉพาะความปลอดภัยในชีวิตมนุษย์เมื่อต้องใช้มันท่ามกลางอัตราเร่งของผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่ทะยานแตะระดับ 34.54 ล้านคน (ณ วันที่ 29 ก.ย. 63)

หลายฝ่ายจึงคาดการณ์ว่า โควิด-19 จะยังคงอยู่บนโลกใบนี้ไปอีกอย่างต่ำ 1-2 ปี อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยแล้วนับว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถก้าวมาเทียบชั้นกับบรรดาประเทศพัฒนาหลายแห่งได้อย่างดีในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้อยู่หมัด ส่งผลให้ไทยขึ้นแท่นอันดับ 1 ประเทศที่ดีที่สุดด้านการฟื้นตัวจากโควิด-19 จากการจัดอันดับดัชนี Global COVID-19 Index (GCI) ที่ใช้ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ที่ดูภาพรวมในมิติต่างๆ ในด้านการฟื้นตัว (Global Recovery Index) และด้านความรุนแรงของการระบาด (Global Severity Index) โดยประเทศไทยได้รับการประเมินให้ได้คะแนนดีที่สุด ในทั้งสองมิติจาก 184 ประเทศทั่วโลก

แต่การกลับมาระบาดโควิด-19 รอบใหม่ทั้งจีน ญี่ปุ่น แม้กระทั่งเวียดนามที่มีประชากร 96 ล้านคนซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการชื่นชมจากทั่วโลกว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผลงานการควบคุมการระบาดของโรคที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแต่ต้องมาเผชิญกับการระบาดรอบ 2 ที่ไม่สามารถระบุที่มาของการระบาดครั้งใหม่ได้ รวมถึงพม่าที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องซึ่งมีพรมแดนติดกับไทย ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มวิตกกังวลถึงการกลับมาระบาดรอบ 2 มากยิ่งขึ้น

ประกอบกับในช่วงนี้ไทยเข้าสู่ช่วงฤดูฝนและปลายปีก็จะเข้าสู่ฤดูหนาว มีผลทำให้ระบบทางเดินหายใจของร่างกายคนเราที่ใช้ป้องกันเชื้อโรคตามธรรมชาติเกิดความบกพร่อง ซึ่งทำให้ไวรัสตัวอื่นๆ รวมทั้งโควิด-19 อาจจะแพร่เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย หากป้องกันตัวเองไม่ดี ทำให้เป็นหวัด มีอาการไอ และปอดบวมซึ่งจะยิ่งทำให้มีความซับซ้อนแยกไม่ออกว่าติดเชื้อโควิดหรือไม่ หรืออาจมีการผสมปนเปกับเชื้อโควิดไปด้วยก็เป็นไปได้

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 63 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือ ศบค.ได้รายงานความคืบหน้าการอนุญาตให้บุคคลเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยอาศัยอำนาจตามข้อ 3 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 (ฉบับที่ 13) ทั้งหมด 6 กลุ่มที่จะเป็นการเดินหน้าเปิดประเทศแบบจำกัดจำนวน เริ่ม 1 ตุลาคมนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้การท่องเที่ยวของไทยได้กลับมาทยอยฟื้นตัวอีกครั้ง …..ซึ่งมาตรการดังกล่าวแม้ว่าภาครัฐจะยืนยันถึงการดูแลและป้องกันอย่างดีแต่ก็ดูเหมือนว่าไม่อาจทำให้ประชาชนบางส่วนจะคลายวิตกกังวลได้เช่นกัน

สำหรับมาตรการภาครัฐเพื่ออัดฉีดเศรษฐกิจโค้งสุดท้าย ล่าสุดการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 29 ก.ย. ได้เห็นชอบ 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีบัตรฯ) ประมาณ 14 ล้านคน โดยจะเป็นการช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็นจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2563 เป็นวงเงินรวม 21,000 ล้านบาท

2. โครงการคนละครึ่งสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มหาบเร่ แผงลอย เพื่อให้มีรายได้จากการขายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยภาครัฐร่วมจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไปผ่านฝ่ายของผู้ซื้อ 50% ทั้งนี้ ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,000 บาท ต่อคนตลอดระยะเวลาโครงการ เป็นวงเงินรวม 30,000 ล้านบาท

รวมกับมาตรการก่อนหน้าที่ทยอยออกมาของภาครัฐ เช่น โครงการจ้างงานบัณฑิตและนักศึกษาจบใหม่รวม 2.6 แสนตำแหน่ง โดยรัฐบาลสมทบจ่ายกับนายจ้างคนละ 50% ระยะเวลา 1 ปี หรือ ต.ค. 63-ต.ค. 64 วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท หรือต่ออายุบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐออกไปอีก 12 เดือน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นการอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจให้กระตุกขึ้นมาในช่วงท้ายปี แต่จะมากน้อยเพียงใดก็ต้องรอลุ้นกัน


จะเห็นว่ารัฐบาลไทยได้ทุ่มงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจมาต่อเนื่องและยังอัดฉีดเพิ่มโค้งสุดท้ายปีนี้ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินที่มีขนาดใหญ่ระดับต้นๆ ของภูมิภาคนี้ก็ว่าได้ แต่เศรษฐกิจไทยที่ยังคงเปราะบางท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอก โดยภายในปัญหาการเมืองที่เปลี่ยนแปลงก็ยังต้องจับตาใกล้ชิด แต่ดูท่าทีหลายฝ่ายก็คาดหวังว่าสถานการณ์ไม่น่าจะนำไปสู่ความรุนแรงหรือเลยเถิด นอกจากนี้ปัญหาภัยแล้งที่สะสมต่อเนื่องมาที่กระทบต่อภาคเกษตรก็ต้องติดตามว่าปริมาณฝนที่เทลงมาในช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูฝนจะบรรเทาปัญหานี้ไปได้มากน้อยเพียงใด

ขณะที่ปัจจัยภายนอกคงหนีไม่พ้นที่ทั่วโลกยังคงเผชิญกับการระบาดโควิด-19 และหลายประเทศกลับมาระบาดรอบ 2 ทำให้เศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่อาจจะนำไปสู่สงครามการค้ารอบใหม่หรือไม่อย่างไร เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ยังคงพึ่งพิงตลาดต่างประเทศในการขับเคลื่อนเกือบจะทุกภาค ทั้งการส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว

ดังนั้น การวางนโยบายด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจจึงต้องให้อยู่ในจุดสมดุล ซึ่งไม่ง่ายนักแต่รัฐบาลต้องใช้กลไกต่างๆ ขับเคลื่อนไปให้ได้……เพราะหลายประเทศทั่วโลกยังคงมีการกลับมาระบาดของโควิด-19 รอบ 2 โค้งสุดท้ายปีนี้ ไทยต้องรักษาที่มั่นตั้งการ์ดไม่ให้ตกเพื่อฝ่าด่านนี้ไปให้ได้ เพราะถ้าผ่านได้ไทยจะเป็นดาวเด่นที่ใครๆ ก็อยากเข้ามาทำธุรกิจและท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น