xs
xsm
sm
md
lg

ศึกชิงจ้าวเทคโนโลยีทรัมป์vsปักกิ่ง บ.อเมริกันรับกรรม-ดิสเครดิตอเมริกา

เผยแพร่:


– ติ๊กต็อกรอดหวุดหวิด หลังผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ สั่งระงับคำสั่งห้ามดาวน์โหลดแอปติ๊กต็อกในอเมริกาชั่วคราวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (27)
การเดินหมากของทรัมป์เพื่อรุกฆาตติ๊กต็อกและวีแชต แอปดังข้ามโลกของจีน รวมทั้งมาตรการแซงก์ชันหัวเว่ยแบบเอาตาย ตอกย้ำศึกชิงความเป็นผู้นำระหว่างวอชิงตัน-ปักกิ่งภายใต้ข้ออ้างด้านความมั่นคงแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้บริษัทอเมริกันต้องรับกรรมจากการตอบโต้ของจีนและชาติอื่นๆ รวมทั้งทำให้ต่างชาติเข็ดขยาดไม่กล้าเข้าไปลงทุนในอเมริกา นอกจากนี้ดีลติ๊กต็อก-ออราเคิลที่ทรัมป์อวยออกนอกหน้ายังส่งกลิ่นตุๆ ของทุนนิยมพวกพ้องในทำเนียบขาว บ่อนทำลายความเชื่อมั่นของนานาชาติที่มีต่อภาวะผู้นำของสหรัฐฯ

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ ร้อนฉ่าจากแคมเปญของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซึ่งรวมถึงการรีดภาษีศุลกากร การขู่แบนและแซงก์ชันทางเศรษฐกิจต่อบริษัทไฮเทคจีน รายล่าสุดคือ SMIC บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ยักษ์ใหญ่ที่เป็นความหวังของปักกิ่งในการลดการพึ่งพิงชิปต่างชาติ โดยวันศุกร์ที่ผ่านมา (25) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กำหนดให้บริษัทชิปคอมพิวเตอร์ในประเทศต้องขอใบอนุญาตก่อนส่งออกเทคโนโลยีบางอย่างให้ SMIC

ดั๊ก แบร์รี จากสภาธุรกิจอเมริกา-จีน บอกว่า เป้าหมายสำคัญของการประลองกำลังนี้คือการเป็นผู้นำเทคโนโลยีสาขาใหม่ๆ เพราะผู้ชนะจะได้เปรียบอย่างมหาศาลทั้งด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์

ทว่า นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การกระทำของทรัมป์อาจทำร้ายภาคเทคโนโลยีและธุรกิจอื่นๆ ของอเมริกา เนื่องจากจะทำให้จีนและชาติต่างๆ ตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน

ดาร์เรลล์ เวสต์ ผู้นำศูนย์เพื่อนวัตกรรมเทคโนโลยีของสถาบันบรูคกิงส์ สำทับว่า การที่ทรัมป์บังคับให้ไบต์แดนซ์ขายธุรกิจติ๊กต็อกในอเมริกาให้บริษัทอเมริกันอาจบ่อนทำลายความเชื่อมั่นในความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ และทำให้ประเทศต่างๆ เอาคืนด้วยการเรียกร้องผลประโยชน์จากบริษัทอเมริกันที่เข้าไปทำธุรกิจได้ดิบได้ดีในประเทศของตน

นอกจากนั้น เมื่อไม่นานมานี้ บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ที่เคยสนับสนุนนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ กลับเหน็บแนมข้อตกลงในการถ่ายโอนการควบคุมติ๊กต็อกให้วอลมาร์ทและออราเคิล ของลาร์รี เอลลิสัน หนึ่งในผู้สนับสนุนสำคัญในการระดมทุนหาเสียงเลือกตั้งให้ทรัมป์ว่า ส่งกลิ่นตุๆ ของทุนนิยมพวกพ้องซึ่งอาจทำลายความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงในเรื่องกฎตลาดเสรีของวอชิงตัน

เบเนดิกต์ อีแวนส์ นักลงทุนและบล็อกเกอร์สายเทคโนโลยีเห็นด้วยว่า ดีลติ๊กต็อกที่ดูซับซ้อนซ่อนเงื่อนที่คณะบริหารของทรัมป์ทั้งผลักทั้งดันเป็นเพียงการกล่าวอ้างความมั่นคงของชาติเป็นแบ็คกราวด์ แต่ภาพรวมทั้งหมดกลายเป็นจำอวด

เขายังบอกว่า ดีลนี้เป็นทั้งการขู่เข็ญและการกลับคำ ซึ่งเป็นสไตล์เดียวกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผิดแต่ว่า ผู้นำรัสเซียมีชั้นเชิงมากกว่า

เอ็ดเวิร์ด อัลเดน นักวิชาการอาวุโสของสภาวิเทศสัมพันธ์ วิจารณ์ว่า ดีลติ๊กต็อกที่จัดสรรกันในหมู่เพื่อนพ้องทรัมป์โดยปราศจากความโปร่งใสและไม่สอดคล้องกับกฎข้อบังคับที่อเมริกาเคยใช้ปฏิบัติกับนักลงทุนต่างชาติ อาจทำให้ประเทศต่างๆ เข็ดขยาดไม่กล้าเข้าไปลงทุนในอเมริกาเพราะไม่รู้ว่า จะเจอกับกฎระเบียบแบบไหน

ขณะเดียวกัน โรเจอร์ เคย์ นักวิเคราะห์และที่ปรึกษาของเอ็นด์พอยต์ เทคโนโลยีส์ แอสโซซิเอตส์ ชี้ว่า ระบบการค้าเสรีและห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่เอื้ออำนวยและส่งเสริมบริษัทเทคโนโลยีอเมริกันมาตลอด กำลังถูกขัดจังหวะจากการงัดข้อระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน

ตัวอย่างหนึ่งของผลกระทบจากความขัดแย้งนี้คือ หากอเมริกาแบนวีแชต ซูเปอร์แอปยอดฮิตของจีนที่รวบรวมบริการรับส่งข้อความ ช้อปปิ้ง การชำระเงิน และอีกมากมาย อาจทำให้ยอดขายไอโฟนในจีนลดฮวบ เพราะแอปเปิลถูกบังคับให้ถอดซูเปอร์แอปนี้ออกจากแอปสโตร์

เอสวาร์ ปราสาด นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการค้าของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ มองว่า ความขัดแย้งมีแนวโน้มลุกลามต่อโดยตั้งข้อสังเกตจากความเคลื่อนไหวล่าสุดของจีนในการจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีบางอย่าง ซึ่งบ่งชี้ว่า สองประเทศกำลังจะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางการค้าและเทคโนโลยีของตัวเอง ดังนั้น บริษัทที่ทำธุรกิจในแวดวงนี้จึงเสี่ยงถูกดึงเข้าไปพัวพันกับการโรมรันของสองมหาอำนาจโลกชนิดไม่มีใครยอมใคร
กำลังโหลดความคิดเห็น