xs
xsm
sm
md
lg

รัฐ-เอกชนถกโอกาสเศรษฐกิจไทย คาดไทยเป็นเป้าหมายการย้ายฐานการลงทุน พร้อมแนะอุตสาหกรรมรุ่งหลังโควิด-19

เผยแพร่:



แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว โดยมีโอกาสเติบโตเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติมองว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการย้ายฐานการลงทุน ในขณะที่สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนยังคงยืดเยื้อ

วิทยากรจากต่างองค์กรร่วมให้ความเห็นในงานสัมมนา ASEAN Business Forum : Thailand - Resilient and Ready for Trade ซึ่งจัดโดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ประเมินว่า อุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตได้ดีในช่วงหลังโควิด-19 ประกอบไปด้วย ภาคท่องเที่ยว การผลิต การเกษตร อสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พลังงานทดแทน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

“ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 และความท้าทายทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี โดยประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จและได้รับความไว้วางใจมากที่สุดในด้านสาธารณสุข ซึ่งสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนได้ว่าประเทศไทยเป็นเป้าหมายการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวที่เชื่อถือได้เป็นอย่างดี อีกทั้งประเทศไทยมีศักยภาพอย่างมากในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยอยู่ในตำแหน่งภูมิศาสตร์สำคัญและมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางของการผลิตและการกระจายสินค้าสำหรับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนและประเทศอื่นๆ” นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนา

แนวโน้มการย้ายฐานเพื่อกระจายการลงทุน

จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยังคงยืดเยื้อ ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 บริษัทต่างๆ ทั่วโลกกำลังย้ายฐานการลงทุน โดยมองประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพิจารณาย้ายฐาน

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนพิเศษเพิ่มขึ้นจากมาตรการเดิมเพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายของการย้ายฐานการลงทุนที่น่าสนใจยิ่งขึ้น ประกอบกับผลักดันให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน โดยมาตรการต่างๆ มุ่งส่งเสริมธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีในระดับสูงขึ้น การใช้นวัตกรรม การใช้ระบบอัตโนมัติ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการพัฒนาทรัพยากรบุคคล

“บีโอไอยังให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเพิ่มเติมกับธุรกิจทั้งรายเดิมและรายใหม่ที่ลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตหรือบริการ เช่น การใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัล การวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม รวมไปถึงการใช้พลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงาน” น.ส.ดวงใจ กล่าว

“ไม่เพียงแต่บริษัทจากประเทศจีนเท่านั้น บริษัทจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้กำลังย้ายฐานการลงทุนมาที่ภูมิภาคนี้” กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ Economic Intelligence Service สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าว

การท่องเที่ยว การบริการ ศูนย์กลางทางการแพทย์ และอสังหาริมทรัพย์

กิริฎา มองว่า การท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของไทย มีความจำเป็นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และจะช่วยการฟื้นตัวได้ดีหากประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ ในขณะเดียวกัน เราควรพัฒนายกระดับให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

“อันที่จริงการระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ทำให้ประเทศไทยต้องปรับจุดยืนภาคการท่องเที่ยวใหม่ เมื่อก่อนเรามองจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นตัวชี้วัด ตอนนี้เราควรมุ่งไปที่การท่องเที่ยวรายได้สูง” น.ส.ดวงใจ กล่าว

ประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับสากลในเรื่องการรับมือกับโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสที่ดีในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาค

อุตสาหกรรมทางการแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตได้ดี ขณะนี้ตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก โดยมีนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้เดินทางมายังประเทศไทยราว 3.5 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ ประเทศไทยยังกำลังจัดตั้งเขตนวัตกรรมทางการแพทย์ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยพร้อมเปิดต้อนรับการลงทุนที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป น.ส.ดวงใจ กล่าวเสริม

เชื่อมโยงกับการคาดการณ์การลงทุนจากต่างชาติและนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาในช่วงหลังโควิด-19 ภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับการคาดหมายว่าจะฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง

แหล่งพลังงานที่ไว้วางใจได้

“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เราให้ความสำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยประเทศไทยได้สร้างมาตรฐานของการมีระบบไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการลงทุน อีกทั้งประเทศยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ดีอีกด้วย” มร.มาร์คุส ลอเรนซีนี ประธานและหัวหน้าฝ่ายบริหาร บริษัทซีเมนส์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด ประเทศไทย (กัมพูชา ลาว และพม่า) หัวหน้าฝ่ายขายส่วนงานเจเนอเรชัน ภูมิภาคอาเซียน กรรมการผู้จัดการ บริษัทซีเมนส์ พาวเวอร์ โอเปอเรชั่น อิงค์ ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าว

“สำหรับการผลิตไฟฟ้าและงานด้านการส่งกระแสไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง เราเห็นแนวโน้มของความต้องการในอนาคต รวมถึงความจำเป็นของโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในอนาคตเนื่องจากโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับอีอีซี และอุตสาหกรรมการส่งออก รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล พลังงานไฟฟ้าทดแทน และการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดน” มร.ลอเรนซีนี กล่าว

โควิด-19 เร่งการเติบโตอุตสาหกรรมดิจิทัล

แต่เดิมประเทศไทยมีอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่อยู่แล้ว เมื่อผนวกกับอุตสาหกรรมคลังเก็บข้อมูลที่ขยายตัวขึ้นอย่างมากอันเป็นผลมาจากโควิด-19 วิทยากรทุกท่านต่างเห็นตรงกันว่าการยกระดับเทคโนโลยีดิจิทัลในทุกภาคส่วนเป็นกุญแจสำคัญสำหรับประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

“เราปรับตัวใช้ชีวิตแบบ New Normal โดยเทคโนโลยีดิจิทัลจะยังคงขยายตัวอย่างมากและต่อเนื่อง ตอนนี้เราต่างคุ้นเคยการค้าการบริการออนไลน์ เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการทำงานจากบ้าน และการให้คำปรึกษาทางการแพทย์จากระยะไกล และกิจกรรมเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น” กิริฎา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น