xs
xsm
sm
md
lg

“สุพัฒนพงษ์” ชี้ ศก.ไทยฟื้นตัวปี 66 จ่อระดมแสนล้านกระตุ้นปลายปี

เผยแพร่:



“สุพัฒนพงษ์” มั่นใจเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ดีขึ้นกลับมาสู่ปกติใน 2 ปีและฟื้นตัวได้ในปี 2566 เป็นอย่างช้า โดยคนไทยต้องไม่ประมาทให้โควิด-19 กลับมาระบาดรอบ 2 เล็งอัดฉีดเงินรัฐ 5 หมื่นล้านบาทร่วมประชาชนและธุรกิจรวมแสนล้านบาทกระตุ้นการใช้จ่ายรับไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ปักหมุดปี 64-65 ฟื้นท่องเที่ยว-ใช้อีอีซีเป็นแม่เหล็กดึงลงทุนย้ายฐานเข้าไทย 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
กล่าวในงานสัมมนา "BATTLE STRATEGY แผนฝ่าวิกฤต พิชิตสงคราม EPISODE II : DON'T WASTE A GOOD CRISIS พลิกชีวิตด้วยวิกฤตการณ์" ในหัวข้อ "นโยบายรัฐ...ชี้ชะตาชีวิตหลังโควิด" ว่า มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับไปสู่ภาวะปกติภายใน 2 ปี และกลับมาฟื้นตัวได้ในปี 2566 เป็นอย่างช้า อย่างไรก็ตาม อยู่ที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันในการควบคุมและป้องกันไม่ให้โควิด-19 กลับมาระบาดรอบ 2 จนปิดประเทศอีกครั้ง ดังนั้น ระยะสั้น 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค. 63) รัฐบาลจะอัดฉีดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชน ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินไหลลงสู่เศรษฐกิจโดยรวมอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท

สำหรับมาตรการระยะสั้นจะมีทั้ง 1. การจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง โดยเฉพาะเร่งด่วนวันที่ 26-28 กันยายน จะมีการจัดงาน Job Expo Thailand 2020 ที่ไบเทค บางนา ซึ่งจะร่วมกับการจ้างนักศึกษาจบใหม่ 2. กระตุ้นการใช้จ่ายวงเงินราว 1 แสนล้านบาทช่วง ต.ค.-ธ.ค. โดยเป็นเงินจากรัฐ 5 หมื่นล้านบาท อีกครึ่งหนึ่งประชาชนต้องควักเอง อาทิ การเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการ (บัตรคนจน) ที่เป็นลักษณะคนละครึ่ง และกำลังพิจารณาดูแลคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นระดับบนขึ้น โดยเป็นลักษณะคนละเสี้ยว ที่อาจจะเป็นมาตรการด้านภาษี เป็นต้น

“ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 จนนำไปสู่การล็อกดาวน์ รัฐบาลได้อัดฉีดเงินยิงตรงสู่ประชาชนไปแล้วราว 9 แสนล้านบาท เช่น การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ มาตรการลดค่าใช้จ่าย การช่วยเหลือสภาพคล่อง ฯลฯ และขณะนี้ทุกอย่างเริ่มคลี่คลายสามารถกลับมาใช้ชีวิตเกือบจะปกติ เหลือแค่เปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ รัฐก็จะประคองเศรษฐกิจต่อในช่วงนี้เพื่อรอการฟื้นตัว ที่ผมมองว่าโควิดมีจุดสิ้นสุดเพราะทุกประเทศต่างก็กำลังคิดค้นวัคซีน 2 ปีน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาทดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของวงเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับมาตรการต่างๆ ที่เตรียมไว้ก็จะเหลือวงเงินราว 2.3 แสนล้านบาทที่จะค่อยๆ ทยอยออกมาต่อเนื่อง โดยปี 2564-65 เชื่อว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ดีขึ้น และสิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการคือการดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่จะนำร่องในเดือน ต.ค.ก่อน โดยเป็นลักษณะ Special Visa ซึ่งจะมีการออกแบบใหม่เน้นคุณภาพของการจับจ่ายในประเทศแทนปริมาณคน เมื่อดีขึ้นก็จะนำไปสู่การเปิดประเทศ ขณะเดียวกันเราจะไม่ทิ้งโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไปแล้วพอสมควร และพบว่าหลังโควิดไทยกลายเป็นประเทศเป้าหมายในการย้ายฐานการผลิตเพื่อกระจายความเสี่ยง และหนึ่งในนั้นมีจีนที่สนใจอย่างมาก

นอกจากนี้ รัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการเช่น การจ้างงานที่จะลงไปสู่ชนบท จะมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าด้านการเกษตร ซึ่งไทยมีจุดเด่นในเรื่องของการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารและอาหารแปรรูป ปี 64-65 ต้องเดินสายชวนมาให้ได้ แค่ 2 อย่างนี้ก็น่าจะกลับ ศก.ก็น่าจะประคองอยู่ได้ แต่สมมติฐานเดิมควบคุมโควิดต้องดีไม่ให้ระบาดรอบ 2 จนต้องปิดเมืองอีก 

“ปี 64-65 เราต้องเดินสายชวนมาให้ได้ทั้งการท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะจีดีพีที่เราหายไปเกือบ 2 ล้านล้านบาทเราก็ต้องเร่งทำกลับมาสิ่งที่รัฐทำก็น่าจะประคองอยู่ได้ แต่สมมติฐานเดิมคือต้องควบคุมโควิดต้องดีไม่ให้ระบาดรอบ 2 จนต้องปิดเมืองอีก ส่วนการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ที่ใกล้จะครบในเดือน ต.ค.เป็นเรื่องของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งตนเองไม่ได้กำกับดูแล ขณะที่การสรรหา รมว.คลังนั้น ขณะนี้นายกรัฐมนตรีก็มีรายชื่อในใจแล้ว และก็มีผู้พร้อมที่จะเข้ามาร่วมทำหน้าที่ในคณะรัฐบาล คาดว่าจะมีความชัดเจนในเดือน ต.ค.นี้” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากถามว่ากลัวปัญหาโควิดมากกว่าการเมืองหรือไม่นั้น คิดว่าปัญหาโควิด-19 เป็นอะไรที่น่ากังวลมากกว่าเพราะเป็นเรื่องของทุกคน ประมาทไม่ได้ ส่วนการเมืองในบ้านไม่กังวลเพราะตราบใดที่ยังคงมีรัฐบาล และการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณต่างๆ ยังเป็นไปตามกำหนดการทุกอย่างก็ยังเดินหน้า ส่วนกรณีการเมืองนอกสภาฯ นั้นตนคิดว่าไม่ใช่ปัญหาอะไร เนื่องจากเด็กรุ่นใหม่ทั้งโลกก็มีความคิดเหมือนกัน จำเป็นต้องสนับสนุนให้เขาแสดงออก หากอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น