xs
xsm
sm
md
lg

โควิดลากยาวฉุดยอดขายเหล้าเบียร์ซึม ผู้ผลิตญี่ปุ่นเกาะเทรนด์สุขภาพปลุกยอดขาย

เผยแพร่:


ยอดขายเหล้าเบียร์ญี่ปุ่นซบลงทันตาหลังการมาของโควิด
โควิดที่ทำให้คนอยู่ติดบ้านมากขึ้น แม้แต่มนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นยังลดเลิกพฤติกรรมการแวะดื่มหลังเลิกงาน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตเบียร์ที่ต้องเร่งปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงด้วยการปรับโฟกัสมาพัฒนาเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากขึ้น ขยายแคมเปญการตลาดบนโซเชียลมีเดีย รวมทั้งหาทางสนับสนุนธุรกิจร้านอาหารผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ

ยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชันแนลคาดว่า ยอดขายเบียร์โดยรวมในญี่ปุ่น ซึ่งรวมทั้งยอดขายปลีกและยอดขายในร้านอาหารปีนี้จะลดลงถึง 20% จากปีที่แล้ว อยู่ที่ 28,000 ล้านดอลลาร์ โดยตลาดเบียร์ปกติเริ่มหดตัวมาตั้งแต่ปี 2019 ขณะที่สำนักงานสรรพากรญี่ปุ่นเผยว่า รายได้จากภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เคยทำสถิติสูงสุดที่ 2.1 ล้านล้านเยนในปี 1994 ลดเหลือแค่ 1.3 ล้านล้านเยนในปี 2018

หลังการมาของโควิด วัฒนธรรมการดื่มหลังเลิกงานของญี่ปุ่นเริ่มซาลงและถูกแทนที่ด้วยปาร์ตี้ออนไลน์ ขณะเดียวกัน มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่บีบให้ร้านอาหารและบาร์ต้องปิดหรือลดเวลาการให้บริการ ยิ่งทำให้แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มซึมเซา

ผลสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า รายได้จากเบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คล้ายคลึงเบียร์ของ 4 ผู้ผลิตรายใหญ่ ได้แก่ อาซาฮี กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, คิริน โฮลดิ้งส์, ซันโตรี โฮลดิ้งส์ และซัปโปโร บริวเวอรีส์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ลดลงทั้งหมด

ต้นเดือนสิงหาคม คิรินทบทวนการคาดการณ์ผลกำไรจากการดำเนินงานสำหรับปีการเงินปัจจุบันอยู่ที่ 140,000 ล้านเยน (1,300 ล้านดอลลาร์) จาก 191,000 ล้านเยนที่เคยประกาศก่อนหน้านี้ อันเป็นผลจากวิกฤตโรคระบาด สำหรับช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน กำไรสุทธิจากการดำเนินงานตกลง 23.1% เหลือ 69,900 ล้านเยน

โนริยะ โยโกตะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของคิริน เปิดเผยในงานแถลงข่าวเมื่อต้นเดือนสิงหาคมว่า บริษัทจะหันไปโฟกัสเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพซึ่งเป็นหมวดหมู่ที่สร้างการเติบโตในธุรกิจนี้ โดยมีแผนเปิดตัวเบียร์ไร้น้ำตาลครั้งแรกในญี่ปุ่นในเดือนหน้าภายใต้แบรนด์ อิชิบัน ชิโบริ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ตื่นตัวเรื่องสุขภาพมากขึ้น และคาดว่า จะทำยอดขายได้ถึง 1.2 ล้านลังในปีนี้

บริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่แห่งนี้ยังเตรียมเปิดตัวชูไฮปลอดแอลกอฮอล์ที่ร่วมพัฒนากับ Fancl ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่คิรินถือหุ้น 33%

ชูไฮคือค็อกเทลบรรจุกระป๋องโดยมีส่วนผสมคือโชจูกับผลไม้หรือไซรัป

ทั้งนี้ ผลสำรวจของซันโตรีเมื่อเดือนมีนาคมพบว่า ตลาดค็อกเทลพร้อมดื่มในปีที่ผ่านมาขยายตัว 12% จากปี 2018 โดยมียอดจัดส่งถึง 229 ล้านลัง และยังเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมสูงสุดสำหรับการดื่มที่บ้าน

ทางด้านอาซาฮีเผชิญแรงกดดันด้านรายได้เช่นเดียวกันเนื่องจากยอดขายจากร้านอาหารและบาร์ทรุดดิ่ง ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นแห่งนี้มีกำไรจากการดำเนินงานในช่วงไตรมาสที่สิ้นสุดเดือนมิถุนายนร่วงลงถึง 40% อยู่ที่ 53,400 ล้านเยน สำหรับตลอดปี อาซาฮีคาดว่า กำไรจากการดำเนินงานมีแนวโน้มลดลงจากปีที่แล้วถึง 30.4%

โทโมมิ ฟูจิกาวะ นักวิเคราะห์ของยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชันแนล ระบุว่า ช่องทางบริการอาหาร เช่น ร้านอาหาร เคยมีบทบาทอย่างมากในการสร้างแนวโน้มและสร้างแบรนด์ แต่ตอนนี้บริษัทต่างๆ ต้องค้นหาวิธีการใหม่เพื่อเข้าถึงลูกค้าที่เลิกพฤติกรรมการทดลองชิมอาหารหรือเครื่องดื่มที่ร้านก่อนซื้อกลับบ้านโดยสิ้นเชิง

อาซาฮีมีแผนขยายแคมเปญการตลาดบนโซเชียลมีเดียเพื่อส่งเสริมเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เช่น เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์และเบียร์ที่ลดปริมาณมอลต์ลง

ผู้เล่นสำคัญอีกรายคือซัปโปโรคาดการณ์ว่า กำไรจากการดำเนินงานในปีการเงินปัจจุบันจะร่วงลงถึง 91.5% จากปีที่แล้ว เหลือแค่ 1,000 ล้านเยน เนื่องจากแม้ความต้องการกินอาหารและดื่มเบียร์ที่บ้านเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผู้บริโภคกักตัวอยู่บ้าน แต่ยังไม่มากพอชดเชยยอดขายที่หายไปจากร้านอาหารและตู้กดอัตโนมัติ

เพื่อหารายได้ทดแทน เดือนที่ผ่านมาซัปโปโรเปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ลูกค้าสามารถสั่งอาหารจากร้านอาหารที่ขายเบียร์ซัปโปโร โดยขณะนี้มีร้านอาหารกว่า 80 แห่งเข้าร่วมโครงการและบริษัทหวังว่า จะเพิ่มเป็น 100 แห่งในเร็วๆ นี้

ทางด้านผู้ผลิตวิสกี้อย่างซันโตรีพยายามสนับสนุนร้านอาหารเช่นเดียวกัน โดยการเปิดตัวโครงการขายเวาเชอร์ที่ลูกค้าเก็บไว้ใช้ในอนาคตได้เพื่อให้ร้านอาหารมีกระแสเงินสดเพียงพออยู่รอดต่อไป ผลปรากฏว่า มีร้านอาหารเข้าร่วมมากกว่า 11,000 แห่ง และบริษัทขายเวาเชอร์ไปแล้วคิดเป็นมูลค่า 143,000 ล้านเยนเมื่อต้นเดือนสิงหาคม

ผู้ผลิตวิสกี้ใหญ่อันดับ 3 ของโลกแห่งนี้ ระบุว่า ทั้งยอดขายและรายได้จากการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนจนถึงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาลดลง 10.2% และ 19.7% ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น