xs
xsm
sm
md
lg

ยกเครื่อง "ดีแทคเติมเงิน"

เผยแพร่:



เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้วที่ดีแทค ออกมาประกาศรีแบรนด์ธุรกิจซิมเติมเงินที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจากแบรนด์แฮปปี้ (Happy) ให้กลายมาเป็น ดีแทคเติมเงิน (dtac prepaid) หวังให้สามารถสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้น แต่จนถึงปัจจุบันกลายเป็นว่า ดีแทคเติมเงิน กลับมีลูกค้าลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยนับตั้งแต่ปี 2016 ที่รีแบรนด์มาเป็น ดีแทคเติมเงิน สีสันในการทำตลาดของดีแทค ก็เริ่มจางหายไปเนื่องจากหันไปโฟกัสกับการตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าอย่างค่าโทร.ถูกใช้เน็ตไม่ต้องกลัวหมด รวมถึงจับตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวจากทัวริสซิม ประกอบกับการผลัดเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงเรื่อยมา

จนกลายเป็นว่า ซิมเติมเงินของดีแทค จากที่เคยมีฐานลูกค้าอยู่ราว 20 ล้านราย ลดลงมาเรื่อยๆ จนล่าสุดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวหายไปจนลูกค้าเติมเงินลดลงอีก 7.57 แสนราย ทำให้จากข้อมูลในช่วงสิ้นไตรมาส 2 ดีแทคมีจำนวนลูกค้าเติมเงินอยู่ที่ 12.7 ล้านรายเท่านั้น

เห็นได้ว่า ตั้งแต่มีการรีแบรนด์จากแฮปปี้ มาสู่ดีแทคเติมเงิน ได้เผชิญกับสถานการณ์แข่งขันสูงทั้งการทำโปรโมชันย้ายค่าย พฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าเติมเงินที่เปลี่ยนมาใช้งานรายเดือนมากยิ่งขึ้นเนื่องจากส่วนลดค่าเครื่องเมื่อซื้อโทรศัพท์รุ่นใหม่ และหันมาใช้งานดาต้ามากขึ้น ทำให้ตลาดเติมเงินที่คึกคักจากจำนวนผู้ใช้งาน กลายเป็นตลาดที่แข่งกันดุเดือดมากยิ่งขึ้นเพื่อรักษาฐานลูกค้าไม่ให้ย้ายไปไหน รวมทั้งเพื่อแสวงหาลูกค้าใหม่

ถ้ามองย้อนกลับไป หนึ่งในกลยุทธ์ที่ทำให้ แฮปปี้ ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานทั่วประเทศคือ บริการใจดีโดยเฉพาะใจดีให้ยืม ที่เปิดให้ลูกค้ายืมเงินใช้งานก่อนในกรณีฉุกเฉินเมื่อเงินในซิมหมด และกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้ลูกค้าไว้วางใจและเลือกใช้งานอย่างต่อเนื่อง

จากช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ทางดีแทคเห็นถึงความความท้าทายจากการใช้วิถีชีวิตแบบใหม่ ผู้บริโภคเริ่มปรับพฤติกรรมจากออฟไลน์สู่ออนไลน์มากยิ่งขึ้นแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมค่าใช้จ่าย ในภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ฮาว ริเร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ลูกค้าดีแทคเติมเงิน ใช้บริการใจดีไปมากกว่า 97 ล้านครั้ง แสดงให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยเฉพาะจำนวนผู้ใช้บริการใจดีให้ยืม ที่มียอดใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 47% ในช่วงเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม รวมถึงการสมัครใช้งานแพกเกจอินเทอร์เน็ตที่กว่า 50% หันมาสมัครเป็นรายวัน แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อการใช้งานของกลุ่มลูกค้าอย่างชัดเจน

‘จากข้อมูลการใช้งานทำให้ดีแทค รับรู้ว่าลูกค้าโดนวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะจากเดิมที่ลูกค้าสมัครใช้งานแพกเกจรายสัปดาห์ รายเดือน ลดลงมาเป็นรายวัน ทำให้ต้องมีการปรับแพกเกจใหม่ที่ตอบโจทย์การใช้งานให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยกว่า 60% ของลูกค้าที่มีการซื้อแพกเสริมเพิ่มจะซื้อทุกวัน’

ขณะเดียวกัน ปริมาณการใช้งานดาต้าต่อเดือน ของกลุ่มผู้ใช้งานดีแทคเติมเงินเพิ่มสูงขึ้นถึง 70% เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปริมาณการใช้งานดาต้าในแต่ละภูมิภาคที่เติบโตสูงกว่าในกรุงเทพฯ ถึง 5 เท่า


เมื่อเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ดีแทค เลยทำการปัดฝุ่นชื่อซิมอย่าง แฮปปี้ (Happy) กลับมาสร้างความผูกผันกับผู้ใช้งานอีกครั้ง ด้วยการแบ่งกลุ่มผู้ใช้งานดีแทคเติมเงินออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ ซิมแฮปปี้เน็ต สำหรับลูกค้าที่เน้นใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก และซิมแฮปปี้คอลล์ ที่เน้นการโทร.เป็นหลัก

โดยดีแทค เริ่มทำตลาดซิมแฮปปี้รูปแบบใหม่นี้ตั้งแต่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นช่วงไตรมาสเดียวในรอบกว่า 5 ปีที่จำนวนฐานลูกค้าซิมเติมเงินของดีแทคเพิ่มสูงขึ้น ก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้ จนทำให้ฐานลูกค้าซิมเติมเงินลดน้อยลง

จึงทำให้ดีแทค หันกลับมาโฟกัสกับตลาดลูกค้าชาวไทยที่ถือเป็นตลาดหลักในช่วงเวลานี้มากขึ้นบนเป้าหมายที่ต้องการเติบโตในกลุ่มนี้มากที่สุดด้วยการออกแคมเปญกระตุ้นการใช้งานดีแทคเติมเงินอย่างแคมเปญ ‘สัญญาณดี ราคาดี และบริการใจดี’

‘ดีแทค ไม่ได้ต้องการให้บริการแค่ในลักษณะของการเป็นซิมเติมเงินให้ลูกค้าใช้งานเท่านั้น แต่จะเข้าไปช่วยเติมสัญญาณให้ดียิ่งขึ้นพร้อมกับเติมเต็มบริการที่ใช้งานแล้วเกิดความคุ้มค่าและเข้าใจเข้าถึงลูกค้าด้วยการทำงานร่วมกับพันธมิตรให้ได้มากที่สุด’

***“สัญญาณดี ราคาดี บริการใจดี

สำหรับแนวทางในการทำตลาดของการเป็นมากกว่าซิมเติมเงินของดีแทค ภายใต้งบการทำตลาด 80 ล้านบาทนั้น จะเน้นเข้าไปใน 3 ส่วนหลักคือ 1.สัญญาณดี ผ่านการสื่อสารถึงการเพิ่มจำนวนสถานีฐาน 2300 MHz 1 สถานีฐานในทุกๆ 1 ชั่วโมงพร้อมกับการนำเทคโนโลยี MassiveMIMO มาขยายปริมาณการใช้งาน 4G ให้รองรับจำนวนมากยิ่งขึ้น

2.ราคาดี ด้วยการออกซิม และแพกเกจเสริมเข้าไปจับกลุ่มผู้ใช้งานตามแต่ละเซกเมนต์ อย่างในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา มีการออกซิมฮีโร่ยอดนักขับ ให้ผู้ขับมอเตอร์ไซค์ที่เข้าไปทำธุรกิจส่งอาหารได้ใช้งาน ด้วยการแถมกระเป๋าใส่ของหลังรถ หรือที่ยึดสมาร์ทโฟนกับจักรยานยนต์เพิ่มเติม

3.บริการใจดี ที่เป็นการนำหนึ่งในบริการที่ลูกค้านิยมใช้งานมาตลอด 17 ปี อย่าง ใจดีให้ยืม มาต่อยอดเป็นบริการที่เข้าไปช่วยผู้ใช้งาน อย่าง ใจดีให้ยืมเน็ต และล่าสุดคือใจดีช่วยค่ายา ที่ร่วมกับซันเดย์ อินส์ และอรินแคร์ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อยารักษาโรค


ขณะเดียวกัน เพื่อให้สามารถเปิดตลาดเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ดีแทค ยังได้ประกาศความร่วมมือกับทั้งปั๊มน้ำมันพีที โคคาโคล่า และกสิกรไทย เมื่อเติมน้ำมัน ซื้อโค้ก หรือเปิดบัญชีใหม่ จะได้รับ ‘ซิมเติมสุข’ ไปทดลองใช้งาน

โดยจะเริ่มนำร่องแจกซิมฟรี 5 แสนซิม ไปพร้อมกับการเปิดช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ จนถึงสิ้นปีนี้ และเชื่อมั่นว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ตลาดซิมเติมเงินของดีแทคจะกลับมาเติบโต ต่อเนื่องไปยังช่วงไตรมาส 4 ที่จะกลับมาได้อย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าจะขาดปัจจัยจากนักท่องเที่ยวก็ตาม

ทั้งนี้ ความน่าสนใจของซิมแฮปปี้เน็ต อยู่ที่การเปิดให้ลูกค้าใช้งานเน็ตสำหรับเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรมแมสเซนเจอร์ และทวิตเตอร์ ความเร็วเต็มสปีดแบบไม่อั้น และอินเทอร์เน็ตสำหรับยูทูป 500 MB โดยเมื่อเติมเงิน 50 บาท จะได้รับ 1 สิทธิต่อ 7 วัน รับสิทธิได้ 4 สิทธิต่อเดือนนาน 12 เดือน ทำให้กรณีที่เติมเงินเดือนละ 200 บาท ก็จะสามารถใช้งานโซเชียลมีเดียหลักๆ ได้แบบไม่จำกัด


ในขณะที่ซิมแฮปปี้คอล จะเน้นการโทร.ราคาประหยัดนาทีละ 0.69 บาท และเปิดให้สามารถสมัครแพกเสริมอินเทอร์เน็ตใช้งานได้ ซึ่งซิมทั้ง 2 รูปแบบนี้ ได้เริ่มวางจำหน่ายมาตั้งแต่ปลายปี 2019 ที่ผ่านมา

***ลุ้นคลื่น 700 MHz ช่วยให้บริการครอบคลุม

ความครอบคลุมของสัญญาณกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ ดีแทค ต้องเร่งแก้ไขอยู่ในเวลานี้ เนื่องจากการขาดหายไปของคลื่นความถี่ย่านต่ำ ที่มีระยะในการให้บริการครอบคลุมที่กว้างไกล ทำให้ในบางพื้นที่ไม่มีสัญญาณจากข้อจำกัดของคลื่นความถี่ที่ดีแทคมีให้บริการในปัจจุบันซึ่งเป็นคลื่นความถี่ย่านกลาง

ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา ดีแทค เร่งขยายสถานีฐานบนคลื่น 2300 MHz ที่เมื่อนำมารวมกับเทคโนโลยี MassiveMIMO แล้วจะสามารถรองรับการใช้งานในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นเพิ่มมากขึ้น แต่ระยะให้บริการไม่ได้ครอบคลุมเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

คลื่นความถี่ที่จะมาช่วยให้ ดีแทค หลุดพ้นจากสถานการณ์พื้นที่ให้บริการไม่ครอบคลุมเลยหนีไม่พ้นคลื่นความถี่ 700 MHz ที่ กสทช. เปิดประมูลไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถนำมาใช้งานได้เพราะเป็นคลื่นความถี่ที่ทีวีดิจิทัลใช้งานอยู่ ซึ่งทาง กสทช. กำลังเร่งให้บรรดาผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้ส่งสัญญาณเพื่อนำคลื่น 700 MHz มาจัดสรรให้แก่โอเปอเรเตอร์ที่ประมูลได้

สำหรับแผนการนำคลื่นความถี่ 700 MHz มาให้บริการนั้น ดีแทค เห็นว่าเริ่มมีผู้ให้บริการทีวีดิจิทัลในบางภูมิภาคมีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ จึงได้เริ่มเสนอให้ กสทช. นำคลื่น 700 MHz มาให้ทางโอเปอเรเตอร์ใช้งาน โดยทางดีแทค คาดหวังว่าจะเริ่มให้บริการในบางพื้นที่ได้ภายในสิ้นปีนี้ ด้วยการเน้นนำมาขยายความครอบคลุมของคลื่น 4G เป็นหลัก ก่อนขยายไปให้บริการทั่วประเทศในช่วงต้นปี 2021 เนื่องจากแผนการปรับจูนคลื่นความถี่ทีวีดิจิทัล จะแล้วเสร็จทั่วประเทศในช่วงปลายปีนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น