xs
xsm
sm
md
lg

มารู้จัก มังคุดคัด (มังคุดเสียบไม้) ของดี วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) นครศรีธรรมราช

เผยแพร่:



มังคุดคัด พอฟังหลายคนก็คงจะต้องบอกว่า เป็นมังคุดที่เขาคัดเอา มังคุดลูกใหญ่ หรือไม่ ก็ต้องเป็นมังคุดที่คุณภาพดี เนื้อหวานอร่อย แต่เปล่าเลยเพราะมังคุดคัดของ ชาวนครศรีธรรมราช คือ มังคุดที่ไม่ได้คุณสมบัติ ตามที่กล่าวมาข้างต้น หรือ ถ้าจะบอก ก็คือ คัดทิ้งนั่นเอง แต่วันนี้ มังคุดที่ชาวสวนนครศรีธรรมราช คัดออกเพราะยังไม่สุก กลับมีราคาสูงกว่ามังคุดคุณภาพ เกรดเอ สูงขนาดไหน ก็ขนาด น้องนำมาขาย 3 ลูก 75 บาท

พออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนเริ่มสงสัย มันคืออะไร วันนี้มีคำตอบ ของคำว่า “มังคุดคัด “ที่ชาวสวนนครศรีธรรมราชเรียกกัน แต่สำหรับคนที่เคยเดินทางไปไหว้ ไอ้ไข่ ที่วัดเจดีย์ ฯ น่าจะพอรู้จัก ได้เห็น หรือได้ชิมมังคุดคัด กันมาบ้างแล้ว แต่สำหรับคนที่ไม่รู้จัก วันนี้ สองนักศึกษา “นางสาวทิพย์นภา ศรีอ่อน” และ “นางสาววรรัตน์ ผดุงศิลป์ไพโรจน์” จากรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของไอเดียการสร้างแบรนด์มังคุดคัด ชื่อว่า Green Mangsirra พามารู้จักมังคุดคัด


สำหรับมังคุดคัด เป็นมังคุดที่เสียบไม้ขายอยู่ที่วัดเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช คนที่เคยมาไหว้ไอ้ไข่ น่าจะได้เคยซื้อกิน ส่วนที่มาของชื่อมังคุดคัด เป็นภาษาใต้ คำว่า คัด แปลว่า งัด หรือ แงะ เพราะมังคุดที่นำมาทำเป็นมังคุดคัด หรือ มังคุดเสียบไม้นี้ มาจากการนำมังคุดที่ยังไม่สุก ยังไม่ขึ้นเส้นสีแดง หรือ ชาวสวนเรียกว่า ยังไม่ขึ้นเส้นสายเลือด ซึ่งแท้จริงในอดีตกาลชาวสวนมังคุด เวลาไปเก็บมังคุด ใช้ตะกร้อ เก็บติดมังคุดอ่อน ที่ยังไม่ขึ้นเลือด ซึ่งไม่สามารถนำมาทำอะไรได้ ทิ้งอย่างเดียว เพราะถ้ายังไม่ขึ้นเลือดทิ้งไว้อย่างไรก็ไม่สุก หรือ ถ้าสุก คุณภาพก็ไม่อร่อย

แต่ภูมิปัญญาชาวสวน และถ้าจะทิ้ง เกิดความเสียดาย ก็เลยนำมางัด หรือ แงะเอาผลข้างในออกมา และนำมาแช่น้ำปูนใส เพื่อไม่ให้เนื้อมังคุดดำ เนื่องจากโดนยางมังคุด และนำมาแช่ในน้ำแข็งเย็น ซึ่งเมื่อนำมารับประทานจะมีรสชาติอมเปรี้ยวอมหวาน และมีเนื้อสัมผัสที่กรอบ เรียกว่ารสชาติดีเลยที่เดียว ชาวสวนก็เลยนำมาเสียบไม้ขาย ขายกันมานานมากแล้ว สถานที่พบเห็นได้บ่อย คือที่วัดเจดีย์ เพราะคนมาไหว้ไอ้ไข่กันมาก ก็จะขายดี ชาวสวนขายอยู่ที่ไม้ละ 20-25 บาท มีมังคุด 3-5 ลูก แล้วแต่ขนาด


โดยปัญหาของมังคุดคัด คือ การงัด หรือ แงะออกมายาก ถ้าไม่ใช่ชาวสวน หรือ คนที่เคยทำประจำ จะทำออกมาไม่ได้เนื้อมังคุดที่ขาว และที่สำคัญ คือ อายุการเก็บสั้น เพียงแค่ 6 ชั่วโมง เนื้อมังคุดเริ่มออกสีคล้ำ หรือ สีน้ำตาล มาจากปฏิกริยาการเกิดสีน้ำตาลจากเอนไซม์ และความกรอบก็จะลดลง เนื่องจากเอ็นไซม์ของมังคุดเอง และเอ็นไซม์ที่มาจากจุลินทรีย์ปนเปื้อนระหว่างกระบวนการผลิต ด้วยเหตุนี้เอง ทาง นักศึกษาของ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. นำมังคุดคัดนี้มาผ่านการฉายรังสีนิวเคลียร์ ซึ่งผลการฉายรังสี พบว่า สามารถยืดอายุมังคุดไม่ให้เป็นสีน้ำตาล และ ยืดอายุความกรอบให้นานขึ้น ช่วยให้ชาวสวนสามารถขายเป็นของฝากให้กับนักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อมังคุดคัดไปเป็นของฝาก หรือ สามารถขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศได้ด้วย

ทั้งนี้ มังคุดคัด ที่ผ่านการฉายรังสี สามารถยืดอายุได้นานกว่า 30 วัน และชาวสวนก็ยังสามารถขายมังคุดได้ราคาเพิ่มขึ้นหลังจากฉายรังสี โดยน้องนักศึกษา เจ้าของแบรนด์มังคุดคัด Green Mangsirra ตั้งราคาในบรรจุภัณฑ์ ซองสุญญากาศ และกล่องที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้สะดวก และเกิดมูลค่าเพิ่ม ในราคากล่องละ 75 บาท มีมังคุดเสียบไม้ 1 ไม้มี 3 ผลขนาดใหญ่

สำหรับการเพิ่มมูลค่ามังคุดคัด ในครั้งนี้ ช่วยให้ชาวสวนนำของเหลือทิ้งมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้หลายเท่าตัว จากเดิมขายมังคุดสุกหน้าสวน กิโลกรัมละ 50-60 บาท แต่พอเป็นมังคุดคัด ราคาเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 100-150 บาท เป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรที่ปลูกมังคุด ในช่วงที่ผลผลิตออกมาก หันมาทำเป็นมังคุดเสียบไม้ขายอีกทางหนึ่ง ขายให้กับคนที่ชอบการกินมังคุดแบบกรอบ และมีรสชาติอมเปรี้ยว อมหวาน

ผู้สนใจต้องการทราบเรื่องราวของมังคุดคัด หรือ ต้องการข้อมูลด้านการฉายรังสีนิวเคลียร์ในอาหาร สามารถติดต่อได้ที่ สทน. โทร. 02-401-9889 หรือ www.tint.or.th



* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager

กำลังโหลดความคิดเห็น