xs
xsm
sm
md
lg

“กุสซิ่ง” ชูเทคโนฯ ลุยโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่ม

เผยแพร่:



กุสซิ่ง รีนิวเอเบิ้ลฯ ตั้งเป้าขยายโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้นเป็น 50 เมกะวัตต์ ในช่วง 3 ปีนี้ ชูเทคโนโลยีแก๊สเชื้อเพลิงสังเคราะห์แบบ DFB หลังผุดโรงไฟฟ้าชีวมวลชุมชนหนองบัวขนาด 1 เมกะวัตต์ จ่อต่อยอดทำห้องเย็นจากความร้อนเหลือทิ้งด้วย ขณะที่เอสซีจีก็สนใจนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในโรงปูน

นายไมเคิล เมสเนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กุสซิ่ง รีนิวเอเบิ้ล เอ็นเนอร์จี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนาเทคโนโลยีแก๊สเชื้อเพลิงสังเคราะห์แบบเตาคู่ DFB ประเทศออสเตรีย เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายขยายโรงไฟฟ้าชีวมวลในไทย 15-20 โครงการๆ ละ 1-5 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 50 เมกะวัตต์ในปี 2563-2565 หลังจากรัฐมีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 700 เมกะวัตต์

ปัจจุบันบริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าชีวมวลชุมชนหนองบัว จ.นครสวรรค์ กำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2561 โดยขายไฟให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งมีบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี ให้การสนับสนุนเพื่อการวิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าว นับเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนต้นแบบแห่งแรกในเอเชีย

“เทคโนโลยี DFB เป็นระบบปิด ใช้น้ำน้อย ไม่มีน้ำเสีย ใช้เชื้อเพลิงจากวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรหลักการทำงานใช้หลักการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ ที่ไม่ใช่การเผาวัตถุดิบเชื้อเพลิงโดยตรงแต่ใช้ทรายร้อน ประมาณ 800-850 องศาเป็นตัวนำความร้อนไปเผาเชื้อเพลิง ได้แก๊สมีเทนบริสุทธิ์เพื่อเปลี่ยนเป็นเป็นพลังงานไฟฟ้าไฮโดรเจน หรือก๊าซธรรมชาติสังเคราะห์ (SNG)”

นายไมเคิลกล่าวว่า บริษัทฯ ยังได้ต่อยอดโรงไฟฟ้าชีวมวลโดยนำพลังงานความร้อนเหลือทิ้ง (Waste heat) จำนวนมาก นำมาเปลี่ยนเป็นความเย็นเพื่อสร้างห้องเย็น (Cold storage room) ให้แก่ชุมชนหนองบัวได้ใช้ประโยชน์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564

ขณะเดียวกัน ทางเอสซีจีก็สนใจที่จะนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปต่อยอดใช้ในโรงปูนซีเมนต์ จากเดิมที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตปูน ก็จะใช้ไฮโดรเจนที่ได้จากกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยี DFB มาเป็นเชื้อเพลิงแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น