xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” หนุนดึงเอกชนร่วมเดินรถไฟ เปิดสัมปทาน 99 ปีเพื่อจูงใจ - ปัดเอื้อประโยชน์

เผยแพร่:



“ศักดิ์สยาม” หนุนเอกชนร่วมบริการเดินรถไฟ เพิ่มขนส่งรางเป็น 30% ในปี 65 จ่อรื้อ กม. เปิดทางเอกชนร่วมทุน 99 ปีเพื่อจูงใจ ยันไม่เอื้อไม่ขายชาติ อยากพัฒนาต้องกล้าทลายกำแพง ด้านสหภาพฯ หวั่นกระทบปลอดภัย ชี้เอกชนควรเช่าใช้รางและหัวจักร ส่วน รฟท.คุมบริหาร

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการระบบราง ว่าปัจจุบันมีการใช้ระบบรางยังไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยมีการขนส่งเพียง 30% เท่านั้น และในอนาคตจะมีการลงทุนรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ซึ่งนโยบายรัฐต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรางเพื่อลดต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งนอกจากเชื่อมโครงข่ายในประเทศแล้วจะมีการเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการขนส่งสินค้าของอาเซียน

แนวทางหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางราง คือ การเปิดให้ภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการเดินรถ ทั้งผู้โดยสารและสินค้า โดยได้มอบแนวทางที่ต้องนำมาพิจารณาคือ ตารางเวลา (Time Slot) หลังจากที่ รฟท.ใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว ส่วนที่เหลือจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมเดินรถ ต้องมีการดำเนินการสถานีขนถ่ายสินค้าที่มีเครื่องมือทันสมัยเป็นระบบอัตโนมัติ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพในการให้บริการ มีค่าบริการ ค่าโดยสารที่สมเหตุสมผล เพราะต้องคำนึงถึงประชาชนเป็นอันดับแรก
“ผมเห็นว่าเอกชนควรต้องลงทุนจัดหาขบวนรถ หัวลากด้วย ซึ่งอายุสัมปทาน 30 ปีอาจไม่จูงใจ และเมื่อครบ 30 ปีก็ต้องให้เอกชนลงทุนต่ออยู่ดี โดยเขียนเงื่อนไขการกำกับดูแลให้รัดกุม กำหนดค่าบริการชัดเจน สมเหตุสมผล ประชาชน และรัฐได้ประโยชน์ วันนี้ต้องมองว่าหลายประเทศไปถึงไหนกันแล้ว มีการส่งเสริมเอกชนลงทุนอย่างไร สัมปทาน 99 ปีจะจูงใจเอกชนมากกว่า ส่วนที่มองว่าเป็นการเอื้อเอกชน ขายชาติ เป็นเพียงวาทกรรม ซึ่งหากมีเหตุผลอธิบายได้ว่าประเทศและประชาชนได้อะไรเราต้องกล้าทลายข้อจำกัดของประเทศ ส่วนกฎหมายหากมีข้อติดขัดสามารถแก้ไขได้ เหมือนกรณี อีอีซี ที่ขยายอายุสัมปทานจาก 30 ปี เป็น 50 ปี ยังทำได้ รถไฟก็ทำได้ หากมีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลพอ ผมไม่กลัว” นายศักดิ์สยามกล่าว

@จ่อเบรกรถไฟซื้อรถเพิ่มหากเอกชนจัดหาได้เร็วกว่าเพื่อประหยัดงบ
นายศักดิ์สยามกล่าวถึงโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กม. วงเงินลงทุนกว่า 2.73 แสนล้านบาท ว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไม่ได้ตีกลับ เพียงแต่ขอข้อมูลเพิ่มจาก รฟท.และติดใจว่าจะมีรถวิ่งบริการหรือไม่ ขณะที่การจัดซื้อรถ หัวจักรของ รฟท.นั้นต้องดูสถานะการเงินการคลังของประเทศด้วย และหากพิจารณาจากการให้เอกชนเข้ามาลงทุนร่วมเดินรถ แล้วสามารถจัดหารถได้เร็วกว่า น่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่ารัฐลงทุนเอง ซึ่งจะเร่งส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้ สศช.ต่อไป

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า กรมรางได้ดำเนินการศึกษารวบรวมข้อมูลในการกำกับดูแลกิจการรถไฟทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อจัดทำกฎระเบียบรองรับการขนส่ง การกำกับการใช้ประโยชน์รางเพื่อการเดินรถในเส้นทางหลัก โดยปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าทางราง 10.5 ล้านตันต่อปี โดยคาดการณ์ว่าเพิ่มขึ้นเป็น 16.8 ล้านตันในปี 2565 หรือเพิ่มสัดส่วนเป็น 30% ซึ่งจะกำหนดมาตรการ กฎหมาย ในการสนับสนุนภาคเอกชนให้เป็นผู้ร่วมบริการเดินรถ

เบื้องต้นจะให้เอกชนเลือกเวลาที่นอกเหนือจากการที่รถไฟให้บริการ และจ่ายค่าเช่าใช้ทางแก่ รฟท. โดยให้เอกชนยื่นข้อเสนอขอใช้รางต่อ รฟท. จากนั้น รฟท.จะพิจารณาความเหมาะสมของตารางการเดินรถ/แผนธุรกิจแล้ว จึงเปิดประมูล Time Slot ให้เข้าใช้ทาง หรือดำเนินการแบบไม่ใช้วิธีประมูลกับผู้ยื่นข้อเสนอ ซึ่งในช่วงแรกที่ยังไม่มี พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ..จะดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ในการทำสัญญาร่วมทุนกับเอกชน

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพฯ รฟท.กล่าวว่า สหภาพฯ ไม่คัดค้านการให้เอกชนร่วมเดินรถ แต่รูปแบบจะต้องเหมาะสม ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการกำหนดระยะเวลาสัมปทานถึง 99 ปี โดยเห็นว่ารถไฟควรเป็นผู้ลงทุนราง จัดหารถ หัวจักร และบริหารจัดการเวลาและคนขับ เพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย และการบริการที่เท่าเทียมกับประชาชนทุกคน ส่วนเอกชนเข้ามาเช่าใช้ ซึ่งในอดีต รฟท.เคยให้สิทธิเอกชนเข้ามาร่วมเดินรถ โดยเช่าใช้รถและรางมาแล้ว เช่น บริษัท เชิดชัยดีเซลราง, บริษัท ธานินทร์การท่องเที่ยว แต่จะมีอำนาจทางการเมืองที่เหนือกว่า รฟท.เข้ามาบีบ เลือกเวลาที่ดีมีกำไรไป และกระทบต่อบริการของรถไฟ ซึ่งสหภาพฯ จะนำข้อมูลในการสัมมนาไปศึกษาเพื่อสรุปความเห็นต่อไปด้วย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.)


กำลังโหลดความคิดเห็น