xs
xsm
sm
md
lg

UTAเปิดแผนแม่บทสร้างเมืองการบินอู่ตะเภา “หมอเสริฐ”มองทะลุเป้าดึงแอร์ไลน์ใช้บริการ

เผยแพร่:



กลุ่ม UTA เดินเครื่องเต็มสูบ ส่งแผนแม่บทพัฒนาและก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ให้อีอีซี รุกหน้าจ้าง OPi ประเมินผู้โดยสารและแนวโน้มธุรกิจการบิน วางแผนกันยายนนี้ปักหมุดสำรวจละเอียด ขยับพิ้นที่จี้ย้ายเครื่องบินการบินไทยเคลียร์พื้นที่ วางแผนตอกเข็มปี 65 เตรียมเจรจากองทัพเรือ ขอบริหารเทอร์มินอล2 สร้างเลสติ้งผู้โดยสาร เปิดใจมือทองบริทองบริหารสนามบินอู่ตะเภา “ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ”มองทุลุเป้าเมืองการบิน ไม่ไกลเกินฝัน หวังเนรมิตเทียบชั้นอินเตอร์ทั้งในและต่างประเทศ ”หมอเสริฐ”ชูกลยุทธ์มัดใจแอร์ไลน์ มั่นใจสายการบินแห่งใช้เพียบ เชื่อมีความคล่องตัวกว่าสนามบินสุวรรณภูมิ อัดโปรแรง”สะดวก-เร็ว-ลดค่าใช้จ่าย .”ดึงดูดแอร์ไลน์

คณะผู้บริหารบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA นำโดย นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกวิน กาญจนพาสน์ นายภาคภูมิ ศรีชำนิ และ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ร่วมจัดแถลง “ความคืบหน้า โครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก” ครั้งที่ 1 หลังจากมีการลงนามสัญญา กับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2563 โดยเสนอผลประโยชน์ด้านการเงินแก่รัฐ 305,555 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.การบินกรุงเทพ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2563 บริษัทฯได้เข้าสำรวจพื้นที่ของสนามบินอู่ตะเภาเบื้องต้น และในวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทฯได้จัดส่งแผนแม่บท ให้อีอีซี ตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุนฯ ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ลงนามในสัญญา

สำหรับแผนแม่บทดังกล่าวจะเป็นวางผังเบื้องต้น กำหนดตำแหน่งและจุดเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่สำคัญต่างๆ เช่น มอเตอร์เวย์สาย 7 ต่อขยายจากช่วงพัทยา-มาบตาพุด เข้าสนามบิน ,รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน,ระบบไฟฟ้า ประปา และเชื้อเพลิง และในเดือนก.ย. นี้ จะลงพื้นที่เพื่อสำรวจ Topographic อย่างละเอียด รวมถึงพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงของการบินไทย เพื่อดำเนินการออกแบบรายละเอียดต่อไป โดยตามแผนต้นปี 2565 คาดว่าจะได้รับหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน(NTP) และใช้เวลาก่อสร้าว 3 ปี พร้อมเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในปี 2568 และครบอายุสัญญาร่วมทุนในปี 2615

ขอเวลา3 ปีเนรมิตเมืองการบินเทียบชั้นสนามบินสุวรรณภูมิ

เนื่องจากมีเวลาก่อสร้างเพียง 3 ปี ในระหว่างนี้บริษัทฯ จะต้องเตรียมความพร้อมทุกๆด้านเพื่อให้เริ่มก่อสร้างได้ทันทีในต้นปี 2565 โดยได้ว่าจ้างที่ กลุ่มบริษัท OPi เป็นที่ปรึกษาจัดทำแผนแม่บท เป็นเวลา 1 ปี ประกอบด้วย 1. Oriental Consultants Global (OCG) 2. Pacific Consultants (PCKK) จากญี่ปุ่นเป็นแกนนำ ซึ่ง มีประสบการณ์ด้านวิศวกรรมก่อสร้างและออกแบบ มากกว่า 4,500 โครงการใน 150 ประเทศ มีผลงานสนามบินชั้นนำ เช่น นาริตะ คันไซ สุวรรณภูมิ กัวลาลัมเปอร์ 3. IBIS Company Limited (IBIS) เชี่ยวชาญด้านพัฒนาทางด่วน รถไฟ ขนส่งสาธารณะ และการบิน 4. บริษัท To70 (Thailand) Company Limited ที่ปรึกษาทางด้านวิศวกรรมการบินและธุรกิจการบินระดับโลกจะศึกษาประมาณการณ์จำนวนผู้โดยสารให้ข้อมูลมีความอัพเดทมากขึ้น โดยมีปัจจัยเรื่องโควิด-19 ด้วย

“ภายในปีนี้การศึกษาและประมาณการณ์ต่างๆ จะเสร็จ จะเห็นประมาณการณ์ตัวเลข ด้านการบิน ผู้โดยสาร จากนั้นจะนำมากำหนดแผนการบริหารจัดการของสนามบิน และออกแบบรายละเอียด ในการก่อสร้าง ทั้งอาคารผู้โดยสาร และระบบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งระยะแรก จะต้องมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี ตามเงื่อนไข RFP โดยยังมีเวลาในการสร้างเครือข่าย เพื่อเพิ่มปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสาร”


สำหรับ Lead Consulting Firm ซึ่งนำโดย OCG และ PCKK นั้นเป็นบริษัทที่ให้การบริการด้านงานวิศวกรรมที่ปรึกษาซึ่งมีความเชี่ยวชาญในงานโครงการระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ในระบบนานาชาติ อันประกอบด้วยงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ, งานจัดทำแผนแม่บท, งานออกแบบ และงานควบคุมงานก่อสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มงานสนามบินซึ่งเป็นงานที่เชี่ยวชาญอย่างยิ่ง โดยผลงานสำคัญได้แก่ สนามบินนาริตะ, สนามบินฮาเนดะ, สนามบินคันไซ, สนามบิน Changi รวมถึงงานสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีประสบการณ์มากกว่า 4,500 โครงการใน 150 ประเทศ

นอกจากนี้ในกลุ่มบริษัท OPi จะมี IBIS Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาสัญชาติไทยที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญสูงในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางด่วน, ทางรถไฟ, ระบบขนส่งสาธารณะ และการบิน ทั้งในและต่างประเทศ และบริษัท To70 (Thailand) Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางด้านวิศวกรรมการบินและธุรกิจการบินระดับโลกซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศไทย โดยนับเป็นการผสมผสานระหว่างแนวคิดทางตะวันตก กับแนวทางการทำงานของตะวันออก โดยมีความเป็นไทยผสมอยู่อย่างลงตัว เพื่อให้เป็นสนามบินนานาชาติระดับโลกที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยอีกด้วย

ประกาศหาพาร์ทเนอร์ด้านโรงแรม ศูนย์การค้า

นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า กิจกรรมต่างๆในสนามบินนั้น จะแบ่งเป็น Aero และ Non Aero ซึ่งผู้ร่วมทุนทั้ง 3 บริษัทจะร่วมมือกัน โดยกิจกรรมที่บริษัทใดถนัด มีประสบการณ์จะทำหน้าที่เป็นแกนนำ เช่น BA มีประสบการณ์ด้านการบิน จะเป็นผู้นำในกิจกรรม ครัวการบิน บริการภาคพื้น คลังสินค้า แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมทุน UTA เข้าร่วมด้วย ในทางกลับกันทาง บีทีเอส ชำนาญด้านอสังหาริมทรัพย์ จะเป็นแกนนำในเรื่องนี้มี UTA เข้าร่วม นอกจากนี้ยังจะมีกิจกรรมที่อาจจะต้องหาพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วม โดยมี UTA ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง เช่น โรงแรม ศูนย์การค้า ซึ่งจะต้องมีการหารือกันและสรุปในปีนี้ เพราะจะต้องเร่งเพื่อให้เปิดได้พร้อมกับสนามบินปี 2568 ส่วนการบริหารสนามบินอู่ตะเภา กลุ่ม UTA จะตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาอีก 1 บริษัท

อ้อนกองทัพเรือ ขอบริหารเทอร์มินอล2 ช่วงสร้างเมืองการบินสร้างฐานผู้โดยสาร

นายพุฒิพงศ์ กล่าวถึงแผนหาพันธ์มิตรในช่วงปีแรกที่เปิดบริการ (2568 ) คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 5-6 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันสนามบินอู่ตะเภามีผู้โดยสารประมาณ 2 ล้านคนเศษ ซึ่งบริษัทฯ สนใจที่จะขอเข้าไปบริหารอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ในปัจจุบันก่อนระหว่างก่อสร้าง ซึ่งจะต้องหารือกับกองทัพเรือเพื่อดูระเบียบ หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะการเข้าไปบริหารจัดการได้ก่อนจะทำให้สามารถสร้างฐานผู้โดยสารให้เมืองการบินได้ และเมื่อเปิดเมืองการบิน อาคาร 2 จะต้องปิดอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามในช่วงที่เปิดให้บริการช่วงแรกจำเป็นต้องลุยตลาดเพื่อหาลูกค้าสายการบินต่างๆ ให้เข้ามาใช้บริการสนามบินอู่ตะเภาให้มากที่สุด ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้กลยุทธ์ดึงดูดใจให้สายการบินย้ายฐานมาใช้บริการที่อู่ตะเภาให้มากที่สุด

นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร บมจ. การบินกรุงเทพ
เบื้องหลัง”หมอเสริฐ”ตัวจริงเมืองการบิน
ในธุรกิจการบุกเบิกสายการบินและสนามบิน เรียกได้ว่าเป็นมือทองในการบริหารจัดการในอุตสาหกรรมการบินของเมืองไทย ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก “ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” ผู้บุกเบิกและคว่ำหวอดในอุตสาหกรรมการบินมานานกว่า 30-40 ปี นับตั้งแต่การบุกเบิกสนามบินในภูมิภาคต่าง จนประสบความสำเร็จ เช่น สนามบินสุโขทัย สนามบินสมุย ซึ่งล้วนแต่เป็นสนามบินที่ได้เป็นผู้บุกเบิกมาตั้งแต่ตั้ง จนประสบความสำเร็จและได้รับรางวัลในการบรืหารจัดการด้านต่างๆ จนเป็นที่กล่าวขวัญของชาวต่างประเทศ

“ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งต้องฟันผ่าอุปสรรคในทุกด้าน แต่ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จจนสามารถบุกเบิกสนามบินและเพิ่มศักยภาพให้กับจังหวัดที่ไปตั้งสนามบินได้ และสามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้าจังหวัดสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นกอบเป็นกำให้กับอุตสาหกรรม จึงนับได้ว่าเป็นบุคคลที่ยอมรับในวงการอุตสาหกรรมการบินอย่างมาก และเชื่อมั่นว่าการลงทุนในเมืองการบินอู่ตะเภาครั้งนี้ ดูเหมือนจะต้องฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก แต่ก็เชื่อว่าในอนาคตอีก3 ปีข้างหน้าก็จะเป็นช่วงขาขึ้นของเศรษฐกิจพอดี เมืองการบินอู่ตะเภาก็มีความพร้อมรองรับทันที “แหล่งข่าวจาก กองทัพเรือ กล่าว

หมอเสริฐเปิดจุดแข็ง”ชูอู่ตะเภา”ขึ้น-ลง”สะดวก-เร็ว-ลดคชจ.”
นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร บมจ. การบินกรุงเทพ กล่าวว่า หลักการบริหารสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลาง การบินของภูมิภาคนั้น จะต้องทำให้ มีความน่าขึ้น-ลง มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำ เช่น สามารถบริหารจัดการให้เครื่องบินขึ้น-ลงในเวลาเฉลี่ย 2 นาที/ลำ เพราะช่วยทำให้เครื่องบินจะใช้น้ำมันน้อยลง ซึ่งสนามบินบางแห่งของสหรัฐอเมริกาใช้เวลา แค่ 1 นาที/ลำ แต่ไทยปัจจุบัน เฉลี่ย 3 นาที/ลำ และจากทั่วโลกในการเข้าถึงประเทศไทย เส้นทางบินมายังสนามบินอู่ตะเภาจะเร็วกว่าเฉลี่ย 10 นาที เมื่อเทียบกับการลงที่สุวรรณภูมิและดอนเมือง เนื่องจากจุดที่ตั้งของอู่ตะเภาเครื่องบินไม่ต้องบินวน

นอกจากนี้ การกำหนดอัตราค่าบริการค่าธรรมเนียม การขึ้นลงอากาศยาน (Landing Fee) ค่าจอดอากาศยาน(Parking Fee) ที่ต่ำและแบ่งอัตราทั้ง 24 ชม. ให้เหมาะสม ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้สายการบินมาใช้บริการ และลดความแออัดในบางช่วงเวลาได้อีกด้วย และสร้างระบบธุรกิจเครือข่ายทั้ง โรงแรม บริษัททัวร์ ขับเคลื่อนไปด้วย

เคลียร์พื้นที่เดินหน้าสร้างรันเวย์-อาคารผู้โดยสารใหม่
นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจเบื้องต้น พบว่าไม่น่ามีปัญหา ซึ่งในส่วนพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ของบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) นั้น ขณะนี้ทางอีอีซี แจ้งว่าได้ทำหนังสือประสานไปยังการบินไทยให้รื้อย้ายอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงเครื่องบินที่จอดอยู่ ภายใน 1-2 เดือนนี้เพื่อใช้พื้นที่สำหรับการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 และอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวว่า บีทีเอสได้ศึกษาในส่วนของกิจกรรมที่นอกเหนือจากธุรกิจการบิน (Non-Aero) พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ มูลค่าประมาณแสนล้านบาท ซึ่งจะมีทั้ง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ และคลังสินค้า โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จากนั้นอาจต้องหาพันธมิตรมาร่วมลงทุน เบื้องต้นมีนักธุรกิจทั้งชาวไทย และต่างชาติกว่า 10 รายสนใจเข้าร่วมโครงการต่างๆ แล้ว

นายกวิน กาญจนพาสน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะดำเนินการพัฒนา “โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก” ให้เป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” รวมถึง การเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ในการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดจากรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างสะดวกสบาย ทันสมัย ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ


กำลังโหลดความคิดเห็น