xs
xsm
sm
md
lg

ลีวายส์รักษ์โลกยกกำลังสอง ยีนส์เก่าในตัวใหม่-รีไซเคิลได้ต่อ

เผยแพร่:


ลีวายส์ ผู้นำนวัตกรรมแฟชั่นเพื่อความยั่งยืน (ภาพจากลีวายส์)
นอกจากเป็นผู้บุกเบิกวงการยีนส์แล้ว ลีวายส์ยังจริงจังกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ล่าสุดเปิดตัวยีนส์ที่ใช้วัสดุใหม่ที่ได้จากการนำยีนส์เก่ามารีไซเคิลและผสมเยื่อไม้ ที่สำคัญยีนส์รุ่นนี้ยังนำกลับไปรีไซเคิลเป็นวัสดุสำหรับยีนส์ตัวใหม่ได้อีกโดยใช้เทคโนโลยีเดียวกันจากสตาร์ทอัพสวีเดนชื่อว่า รีนิวเซลล์

สำหรับลีวายส์ที่ร่วมงานกับสตาร์ทอัพแห่งนี้มากว่า 2 ปี การนำผ้ารีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่คือกุญแจสำคัญที่นำไปสู่เป้าหมายการยกระดับความยั่งยืน

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ลีวายส์เป็นผู้นำในแผนการริเริ่มด้านนวัตกรรมเพื่อสร้างแฟชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับวิธียืดอายุการใช้งานและการถนอมเสื้อผ้า แต่ตอนนี้ลีวายส์กำลังก้าวไปอีกขั้นด้วยการตั้งเป้าผลิตยีนส์ที่ใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด

พอล ดิลลิงเจอร์ รองประธานฝ่ายนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทั่วโลกของลีวาย สเตราส์ แอนด์ โค. บอกว่า เทคโนโลยีการรีไซเคิลผ้าแบบเดิมที่ใช้วิธีสับผ้าฝ้ายเป็นชิ้นเล็กๆ ทำให้เส้นใยเสื่อมคุณภาพ

ในงานแถลงข่าวเมื่อไม่นานมานี้ ลีวายส์เผยว่า ยีนส์รุ่นใหม่ Levi’s® Wellthread™ เป็นผลจากการวิจัยและการออกแบบผ้าเดนิมจากฝ้ายออร์กานิกและเซอร์คูโลส ซึ่งเป็นวัสดุที่ทำมาจากยีนส์เก่าผสมเยื่อไม้ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ

ยีนส์รุ่นนี้ยังออกแบบมาเพื่อให้รีไซเคิลได้ง่ายขึ้น ด้วยการใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงป้าย โดยลีวายส์ได้ทดสอบวัฏจักรการหมุนเวียนของยีนส์รุ่นใหม่ด้วยการส่งกลับไปให้รีนิวเซลล์รีไซเคิลเป็นผ้าชิ้นใหม่ออกมา

นอกจากนั้นลีวายส์ยังใช้วิธีฟอกย้อมและขัดสีพิเศษที่ช่วยประหยัดน้ำ ซึ่งเมื่อประกอบกับเส้นใยชนิดใหม่แล้วจะช่วยส่งเสริมเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัทได้เป็นอย่างดี

จากข้อมูลของลีวายส์ ปกติแล้วการผลิตยีนส์ 1 ตัวต้องใช้น้ำถึงราว 2,500 ลิตร มากกว่าน้ำที่ใช้ซักยีนส์ตลอดอายุการใช้งาน และยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 32 กิโลกรัม หรือเท่ากับการอาบน้ำฝักบัวนาน 7 นาที 53 ครั้ง, ขับรถ 125 กิโลเมตร และดูทีวีจอพลาสมา 318 ชั่วโมง

ดังนั้น การนำผ้าเก่ามารีไซเคิลแทนการผลิตผ้าจากวัตถุดิบใหม่จึงช่วยลดการใช้น้ำ รวมทั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนและสารเคมีได้อย่างมาก นี่ยังไม่รวมการลดปริมาณขยะผ้าที่จะถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบหรือเผา
ส่วนเรื่องที่ว่า จะไม่มีผ้าเก่ามารีไซเคิลนั้นตัดไปได้เลย เพราะลำพังคนอเมริกันชาติเดียวโยนเสื้อผ้าทิ้งขยะกันถึงปีละ 11,800 ล้านกิโลกรัม นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะมีการนำผ้ากลับมารีไซเคิลเพื่อตอบสนองกฎระเบียบใหม่ของหลายประเทศที่ห้ามกำจัดสิ่งทอด้วยวิธีฝังกลบ

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมแฟชั่นกำลังพยายามทำธุรกิจอย่างยั่งยืน แบรนด์ระดับโลกบางแห่งสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่อิงกับหลักการระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อให้เสื้อผ้าไม่กลายเป็นขยะเร็วเกินไป ด้วยเหตุนี้การรีไซเคิลจึงมีความสำคัญมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนมีเป้าหมายในการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ใช้ประโยชน์จากวัสดุและทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เน้นให้สามารถรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ได้ง่ายขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือ นอกจากเป้าหมายทางธุรกิจแล้ว ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบจากการผลิตที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย

การเปลี่ยนผ่านสู่โมเดลแฟชั่นแบบหมุนเวียนคือความท้าทายหลักแห่งยุคสมัย และการยอมรับคุณค่าที่ยั่งยืนมีความสำคัญไม่เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ของลูกค้าเท่านั้น แต่ยังต้องนำไปสู่นวัตนกรรมโซลูชันที่สร้างอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ส่งเสริมสุขภาพและสิ่งแวดล้อมสำหรับทุกคนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น