xs
xsm
sm
md
lg

ยอดขายอสังหาฯ ครึ่งปีแรกติดลบ 35.6% กลุ่มบ้าน 30 ล.โอนสะดุด เจ้าของ SMEs เจอโควิด-ศก.ดิ่ง "เสี่ยงทิ้งดาวน์"

เผยแพร่:



ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาค่อนข้างซบเซา จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวสะสมมาตั้งแต่ปี 2562 และบวกกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องประกาศมาตรการปิดเมือง (ล็อกดาวน์) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ทุกภาคส่วนของธุรกิจมีการชะลอตัวลง รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์จากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในปี 2563 มีการปรับประมาณการจีดีพีปีนี้ติดลบ 10% ขณะที่ภาคอสังหาฯ มีการปรับตัวชะลอตัวลงตั้งแต่เมษายน 2562 หลังจากมีมาตรการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ และรวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 ส่งผลให้การตัดสินใจของลูกค้าในการซื้อหรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะลูกค้าระดับกลางถึงล่างที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากธนาคารสกรีนลูกค้าอย่างเข้มข้นในลูกค้ากลุ่มนี้ และในส่วนของลูกค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะลูกค้าจากประเทศจีน ที่เป็นฐานใหญ่ครองส่วนแบ่งตลาดในการซื้ออสังหาฯ ประเภทคอนโดมิเนียมมากที่สุดในประเทศไทย มีการซื้อและการโอนกรรมสิทธิ์ที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา จากการไม่สามารถเดินทางเข้าหรือออกนอกประเทศได้ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 

ยอดขายอสังหาฯ ครึ่งปีติดลบ 35.6% จับตาแนวราบสัญญาณน่าห่วง

ซึ่ง บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้รายงานสถานการณ์ดังกล่าวว่า ได้ส่งผลให้ภาพรวมตลาดในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดขายปรับตัวลดลงติดลบ 35.6% จากมูลค่า 199,510 ล้านบาท เป็นมูลค่า 128,457 ล้านบาท โดยกลุ่มอาคารชุดลดลงมากที่สุด ติดลบ 53.7% เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายชะลอการเปิดโครงการ และเน้นการระบายสต๊อก รองลงมาคือกลุ่มทาวน์เฮาส์ ติดลบ 19.6% และบ้านเดี่ยวลดลงติดลบ 12%

ในส่วนของยอดโอนในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ติดลบ 8.4% เท่ากับมีมูลค่าเพียง 145,969 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ลูกค้าถูกปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคาร และการขอยกเลิกการจอง เนื่องจากได้ผลกระทบของการถูกเลิกจ้างงาน ลดเงินเดือน หรือการพักงานชั่วคราว โดยตลาดคอนโดฯ กระทบมากที่สุด มูลค่าโอนลดลงติดลบ 10.6% ส่วนแนวราบ ลดลงทั้งประเภทบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ลดลงติดลบ 4.4% ถึง ลบ 4.6% (โอนจากบุคคลธรรมดา ติดลบ 15% เมื่อเทียบกับช่วง 5 เดือนแรกของปี 62)

แหล่งข่าวอสังหาฯ รายหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นแหล่งจ้างงานสำคัญของเศรษฐกิจไทย ผ่านการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ SMEs อาจจะไม่ต้องการแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เนื่องจากภาพรวมธุรกิจและเศรษฐกิจยังไม่มีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ในภาวะที่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กำลังประสบชะตากรรมจากโควิด-19 และเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศชะลอตัวอย่างหนัก ธนาคาบางแห่งที่ได้รับวงเงินปล่อยกู้อาจจะมีการคิดค่าธรรมเนียม ซึ่งสวนทางกับการเข้าไปช่วยเหลือเพื่อชุบชีวิตธุรกิจ หรือแม้แต่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ความหวังของธุรกิจตัวเล็ก การจะค้ำประกัน ผู้กู้ต้องเสียค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อให้ บสย. ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ของวงเงินกู้ไม่น้อยเลย ยังไม่นับรวมการประเมินราคาหลักทรัพย์ เสียค่าประเมินหลักทรัพย์ ค่าจดจำนอง ค่าประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อเต็มวงเงินเยอะ

"คำถามคือ เมื่อธุรกิจ SMEs เสี่ยงที่จะไม่ไหว เถ้าเแก่ หรือผู้ประกอบการก็มีทางเลือกในการ RUN ธุรกิจ เช่น ลดเงินเดือนพนักงาน เลิกจ้าง ปิดกิจการ อย่าลืมนะครับกลุ่มนี้มีการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่สูง เพื่อรวมเป็นครอบครัวใหญ่ และหากธุรกิจไม่รอด หรือไม่ไหวแล้ว ก็ต้องตัดหรือยอมทิ้งบ้านที่ซื้อไป"


บ้านระดับบนเริ่มชะลอตัวจากโควิด-ศก.ขาลง

ด้าน แผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการหลายรายมีการนำที่ดินที่เคยเตรียมไว้สำหรับการพัฒนาโครงการคอนโดฯ ในอนาคต มาประกาศขายและมีการหยุดการขายและการพัฒนาในบางโครงการลง เนื่องจากยอดขายไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ นอกจากนี้ แผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์สฯ ยังพบว่า มีโครงการคอนโดฯ อีกกว่า 5 โครงการ รวมมูลค่าการพัฒนากว่า 20,000 ล้านบาท ที่ผู้ประกอบการเลือกที่หยุดการพัฒนาลงในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา เนื่องจากมองว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยที่จะพัฒนาโครงการใหม่ ทั้งภาพรวมของเศรษฐกิจที่ถือว่าอยู่ในภาวะชะลอตัวเป็นอย่างมาก รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดหนักในหลายประเทศทั่วโลก ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย มีท่าทีที่ดีขึ้นก็ตาม จึงเลือกที่จะหยุดการพัฒนาเพื่อรอจังหวะที่เหมาะสม และมองว่าสถานการณ์ปัจจุบันยังคงไม่ใช่ช่วงเวลาเหมาะสมที่จะเปิดตัวโครงการใหม่

แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดบ้านจัดสรร แผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พบว่า ผู้ประกอบการบางรายกลับมียอดขายที่สูงขึ้นในแทบทุกระดับราคาและทุกประเภท หลายโครงการสามารถปิดการขาย 100% ในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา และอีกหลายโครงการสามารถปิดการขายได้สูงกว่าเป้าที่วางไว้ ทั้งยอดการขายและยอดการโอนกรรมสิทธิ์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่หลายรายมีการปรับเพิ่มยอดขายจากเดิมที่เคยวางไว้ในช่วงต้นปี และยังคงเดินหน้ามองหาที่ดินสำหรับการนำพัฒนาโครงการแนวราบอย่างต่อเนื่องในครึ่งหลังของปี

ซึ่งสำหรับยอดการขายและยอดการโอนกรรมสิทธิ์ที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายนั้น แผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มองว่า เนื่องจากการชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา และหันมาปรับกลยุทธ์การตลาด เน้นนำสินค้าพร้อมขายและพร้อมโอนกรรมสิทธิ์มากระตุ้นการขายด้วยโปรโมชันต่างๆ ซึ่งลูกค้ากลุ่มที่มีความพร้อมและต้องการซื้อที่อยู่อาศัยอยู่แล้วในช่วงที่ผ่านมา มองว่า เป็นโอกาสที่เหมาะสมที่จะได้ที่อยู่อาศัยที่ต้องการในราคาที่ดี จึงตัดสินใจซื้อ

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มลูกค้าที่เคยสนใจซื้อคอนโดฯ เปลี่ยนการตัดสินใจมาซื้อทาวน์โฮมมากขึ้นหลังจากวิกฤตโควิด-19 ระบาด และหลายบริษัทให้พนักงานหยุดอยู่บ้านโดยไม่ต้องมาทำงาน และ Work from home เพื่อความคุ้มค่าและได้มีพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นและการตอบโจทย์การใช้งานได้มากกว่า จึงตัดสินใจซื้อ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่คิดว่าราคารวมถึงโปรโมชันอื่นๆ ที่โครงการเสนอมายังสามารถต่อรองและเจรจาได้ จึงส่งผลให้เราเห็นภาพกลุ่มลูกค้าให้ความสนใจแนวราบเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา และหลายโครงการสามารถปิดขายยอดการขายได้เกินจากเป้าที่วางไว้


พิษโควิด-19 ทุบเถ้าแก่ SME เสี่ยงหมดแรงโอนบ้าน

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการ แผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากไตรมาสแรกของปี พ.ศ.2563 เป็นต้นมา พบว่า ประชาชนค่อนข้างระมัดระวังในการใช้เงินมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างหนี้ที่มีภาระผูกพันระยะยาว เลือกที่จะเก็บเงินสดไว้กับตัว เริ่มเห็นการยกเลิกการจองบ้านที่เคยจองไว้ในช่วงก่อนหน้า และเริ่มเห็นยอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ในหลายโครงการ แม้กระทั่งบ้านระดับบนที่มีราคาขายสูงกว่า 30 ล้านบาท เนื่องจาก SMEs เป็นจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบทางธุรกิจจากโรคโควิด-19 ส่งผลให้ลูกค้าที่ทำธุรกิจ SMEs บางรายเมื่อครบกำหนดโอน ธนาคารมีการปฏิเสธปล่อยสินเชื่อ หรือมีการทิ้งดาวน์ ส่งผลให้หน่วยขายเหล่านั้นถูกนำกลับมาขายใหม่ในตลาดใหม่ และเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลใจให้แก่ผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก

บ้านราคา 30 ลบ.คงค้างในระบบ 31,000 ลบ.

สำหรับบ้านจัดสรรที่มีราคาขายมากกว่า 30 ล้านบาทต่อยูนิตขึ้นไป เริ่มในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เริ่มมีการเปิดขายมากขึ้นในช่วงประมาณปี พ.ศ.2556 เป็นต้นมา โดย ณ ปัจจุบัน มีโครงการที่อยู่ระหว่างการขายทั้งหมดประมาณ 48 โครงการ ประมาณ 1,661 ยูนิต ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 73,299 ล้านบาท โดยโครงการระดับนี้มีการกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ แม้แต่ในทำเลกรุงเทพฯ ชั้นใน ช่วงตั้งแต่สุขุมวิท 31 ถึงเอกมัย ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการหันมาพัฒนาโครงการบ้านหรูในซอย เป็นโครงการขนาดเล็ก เน้นพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ จำนวนหน่วยขายแต่ละโครงการไม่เกิน 10 หน่วย แต่เน้นรูปแบบที่โดดเด่นและทันสมัย บนทำเลไพรม์โลเกชัน

แต่สำหรับการพัฒนาบ้านจัดสรรที่ระดับราคาขายเริ่มต้นเกิน 30 ล้านบาท ที่มีการเปิดขายมากที่สุดในกรุงเทพฯ นั้นตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพโซนตะวันตก เช่น ย่านราช พฤกษ์ถนนพระเทพตัดใหม่ (พรานนก-พุทธมณฑลสาย 4) เป็นต้น และกรุงเทพฯ ตอนเหนือ ที่ไม่ไกลจากเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินมากนัก เช่น เกษตร-นวมินทร์ ลาดพร้าว-วังหิน รามอินทรา เป็นต้น ซึ่งเป็นทำเลที่ลูกค้าระดับบนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

โดยในช่วงประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา มีโครงการบ้านในระดับราคานี้เปิดขายมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน เพื่อตอบสนองกำลังซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบในพื้นที่ใจกลางเมือง แต่ไม่อยากได้คอนโดมิเนียมที่มีพื้นที่ใช้สอยจำกัด ผู้ประกอบการหลายรายจึงพัฒนาบ้านจัดสรรขนาดเล็กมารองรับกำลังซื้อกลุ่มนี้ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับค่อนข้างดีแม้จะเป็นช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี แต่กำลังซื้อกลุ่มนี้ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจเท่าใดนัก โดยโครงการที่เปิดขายส่วนใหญ่พบว่าประมาณ 95% เป็นโครงการบ้านเดี่ยว รองลงมาคือ ทาวน์โฮม ประมาณ 3% และบ้านแฝดอีกประมาณ 2% แต่โครงการบ้านเดี่ยวในระดับราคาขายเริ่มต้นเกินหลังละ 30 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะอยู่ในทำเลนอกเมืองเป็นส่วนใหญ่ มีแค่บางส่วนเท่านั้นที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน

สำหรับอัตราการขายเฉลี่ยรวมของโครงการบ้านจัดสรร ที่มีราคาขายเริ่มต้นเกินหลังละ 30 ล้านบาทขึ้นไป จะอยู่ที่ประมาณ 56.7% หรือสามารถขายไปแล้วประมาณ 942 หน่วย จากหน่วยขายทั้งหมด 1,661 หน่วย เหลือหน่วยที่ยังรอการขายในตลาดอีกประมาณ 719 หน่วย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 31,729 ล้านบาท แต่ที่น่าสนใจคือ ตลาดบ้านหรูระดับราคาขายเริ่มต้นเกิน 30 ล้านบาท ยังมีแนวโน้มที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 พบว่ายังคงมีผู้ประกอบการรายใหญ่อีกหลายรายรอการพัฒนาโครงการใหม่อีกเกือบ 100 หน่วย ในหลายทำเลทั่วกรุงเทพฯ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในพัฒนาการ หรือแม้กระทั่งย่านกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ เป็นต้น

 นายภัทรชัย ทวีวงศ์
ซึ่งแผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มองว่า สำหรับเทรนด์ของบ้านในระดับ luxury และ super luxury สิ่งที่เป็นที่ดึงดูดใจลูกค้าเป็นสิ่งแรก คือ ทำเล ซึ่งต้องเป็นทำเลที่ดี โดยเฉพาะในพื้นที่ใจกลางเมือง หรือสามารถเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองได้อย่างสะดวกสบาย นอกจากนี้ ต้องมีการพัฒนาฟังก์ชันต่างๆ ที่สามารถตอบสนองกับ lifestyle ได้มากที่สุด บ้านระดับ Luxury และ super luxury ถึงแม้ว่าแนวโน้มจะตั้งอยู่บนที่ดินที่มีขนาดเล็กลง เนื่องจากราคาที่ดินในกรุงเทพฯ ที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเป็นแนวบ้านทรงสูงขึ้น แต่ยังมีฟังก์ชันการใช้งานที่ครบครัน มีพื้นที่ใช้สอยที่มากพอสำหรับกลุ่มบ้านในระดับราคาสูง ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มองหาบ้านในระดับนี้ จะเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งกลุ่มลูกค้าเหล่านี้จะต้องการสิ่งที่ดีที่สุด ต้องการความแตกต่างและความโดดเด่น เป็นส่วนหนึ่งที่เสริมสร้างภาพลักษณ์ และยังมองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

นายอาณัติ  กิตติกุลเมธี
"แสนสิริ" ยืดดาวน์ช่วยเหลือลูกค้า

นายอาณัติ กิตติกุลเมธี รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาโครงการแนวราบ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า "เริ่มเห็นภาวะของตลาดที่อยู่อาศัยระดับบนที่อาจจะมีผลกระทบจากผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสบปัญหาจากโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และอาจเสี่ยงไปถึงการซื้อและโอนบ้านระดับบน โดยในส่วนของแสนสิริ ก็เฝ้าดู ขณะเดียวกัน ได้พยายามช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มนี้ ยืดการผ่อน การโอนออกไป เพื่อบรรเทา เนื่องจากแบงก์เข้มงวดอยู่ เราพยายามบริหารตัวเลขไม่ให้เกิดการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้น"

นายภมร ประเสริฐสรรค์
"เอพี ไทยแลนด์" ระบุลูกค้าธุรกิจ SMEs มีสัดส่วนน้อย

นายภมร ประเสริฐสรรค์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาธุรกิจกลุ่มสินค้าทาวน์โฮม บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ลูกค้ากลุ่มหลักของเอพี ไทยแลนด์ ในส่วนที่ซื้อและโอนกรรมสิทธิ์โครงการแนวราบ ยังอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 26-30 ปี เพราะฉะนั้นในกลุ่มนี้จะไม่ใช่เถ้าแก่มาก แต่ในพอร์ตของเอพี ก็มีผู้ซื้อที่ทำธุรกิจเอสเอ็มอีบ้าง ในบางส่วนของกลุ่มสินค้าในโครงการที่อยู่อาศัยระดับราคาสูง เช่น แบรนด์บ้างกลางเมือง แต่เป็นพอร์ตที่ไม่ใหญ่มาก

"ถามผมว่ามีผลกระทบหรือไม่ เราไม่เห็นอะไรชัด ไม่เห็นสัญญาณ เรามีการคุยกับสถาบันการเงิน พบว่า หลายๆ ท่าน (แบงก์) ก็ยังปล่อยสินเชื่ออยู่ และจากข้อมูลตรงนี้เราพอประเมินได้ว่า กลุ่มเรียลดีมานด์ที่เข้ามาหาเรา (เอพี) ก็ยังมีสถานะที่น่าเชื่อถืออยู่"

ในส่วนกลุ่มลูกค้าที่ทำอาชีพแพทย์ พยาบาล นักบิน นั้น แบงก์ไม่ได้ตัดกลุ่มนี้ออก เพียงแต่แบงก์ดูให้ละเอียดขึ้นดีกว่า ซึ่งแม้ว่าหลายราย รายได้จะลดลง ตรงนี้ใช่ แต่เป็นการลดลงอย่างเพียงพอที่จะซื้อที่อยู่อาศัยได้ อย่างเช่น แบรนด์พลีโน่ ซึ่งราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2-4 ล้านบาท เราไม่ได้ต้องการรายได้ที่สูงมาก ปกติรายได้ต่อบุคคลประมาณ 20,000-40,000 บาทต่อเดือน หรือบางท่านไปถึง 60,000 บาท ก็สามารถซื้อแบรนด์พลีโน่ได้แล้ว ตัวเลขเหล่านี้เราจะมองเห็นว่ากลุ่มนักบิน หรือหมอ รายได้เกินอยู่แล้ว หรือถ้าเป็นบ้านกลางเมือง ราคา 4-8 ล้านบาท ลูกค้าที่กล่าวมาข้างต้นไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

"ที่คุณถามว่า การที่แบรนด์พลีโน่มาจับกลุ่มลูกค้าที่อายุน้อยลง จากเดิมที่เราจะจับกลุ่มพรีเมียม ไม่ใช่การรีแบรนด์ แต่เป็นการ Re-Positioning ดีกว่า เพื่อให้ชัดเจนขึ้น กลุ่มลูกค้าเราไป โฟกัสว่า เมื่ออยากได้บ้านหลังแรกต้องการอะไร เราเอาตรงนี้มาวางเป็นโพสิชันนิงของแบรนด์พลีโน่ และเราก็เช็กข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าต่อว่า คนที่ต้องการบ้านหลังแรกมีความต้องการอย่างไร ซึ่งจะแตกต่างกันตามโลเกชัน แตกต่างตามลักษณะของงานที่อยู่ เราเน้นตรงนั้นมากกว่า แล้วนำมาพัฒนาเป็นโครงการให้ตอบสนอง Customer Insight" นายภมร กล่าวถึงหลักคิดการทำ Insight กับลูกค้า

เร่งเพิ่มแชร์ตลาดทาวน์โฮมเบียดเจ้าตลาด

ในส่วนของแผนครึ่งปีหลังนั้น บริษัทชูแบรนด์ "บ้านกลางเมือง" และ "พรีโน่" ขับเคลื่อนในการลงทุนและขยายตลาดแนวราบ ซึ่งจะมีแผนเปิดตัวโครงการใหม่รวม 13 โครงการ มูลค่ารวม 15,350 ล้านบาท เปิดภายใต้แบรนด์บ้านกลางเมือง 5 โครงการ มูลค่า 7,855 ล้านบาท ในราคาเริ่มต้นที่ 3.99-8 ล้านบาท และเปิดโครงการภายใต้แบรนด์พลีโน่ 8 โครงการ มูลค่า 7,495 ล้านบาท ราคาเริ่มต้น 1.99-6.8 ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 7 เดือนแรกที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายรวม 18,175 ล้านบาท คิดเป็น 55% จากเป้าหมายยอดรวมในปี 63 ที่ 33,500 ล้านบาท โดย 15,540 ล้านบาท เป็นยอดขายที่เกิดขึ้นจากสินค้าแนวราบ เติบโตขึ้น 11% และหรือคิดเป็น 70% ของเป้าแนวราบทั้งปีที่ 22,500 ล้านบาท ซึ่งยอดขายที่เกิดขึ้นมาจากโครงการที่อยู่ระหว่างการขายกว่า 85 โครงการ มูลค่าคงเหลือขาย 46,750 ล้านบาท และมียอดขายจากโครงการคอนโดมิเนียม 2,635 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวมจากแนวราบและกลุ่มคอนโดมิเนียม 19,960 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทมีแบ็กล็อกรวม 46,000 ล้านบาท แบ่งเป็นแนวราบ 9,140 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 36,000 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิในช่วง 2 ไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีจำนวน 1,830 ล้านบาท โดยเฉพาะในไตรมาส 2 กำไรสุทธิเติบโตขึ้น 150% หรือกว่า 1,215 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น