xs
xsm
sm
md
lg

คลังเผยจีดีพีปี 63 หดตัว -8.5% เผยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วไตรมาส 2

เผยแพร่:



คลังเผยจีดีพีปี 63 หดตัวร้อยละ -8.5 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เผยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วไตรมาส 2 คาดปี 64 กลับมาขยายตัวร้อยละ 4-5 หลายประเทศเริ่มขายวัคซีนเชิงพาณิชย์ สร้างความเชื่อมั่นทุกฝ่าย

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 หดตัวร้อยละ -8.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ ร้อยละ -9.0 ถึง -8.0) จากปี 62 ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี สาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักหดตัว มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ -11.0 ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยหดตัวร้อยละ -82.9 หรือประมาณ 10 ล้านคน ส่วนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่า หดตัวร้อยละ -2.6 สอดคล้องต่อทิศทางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง คาดว่าการบริโภคภาครัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.3 การลงทุนภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 9.7

“เศรษฐกิจไทยถึงจุดต่ำสุดมาแล้วในช่วงไตรมาส 2 ของปี 63 หลังจากนี้ เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มาถึงเฟส 5 แล้ว จึงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น เงินงบประมาณภาครัฐเริ่มออกสู่ระบบ การส่งเสริมท่องเที่ยวผ่านโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่สำคัญ เมื่อหลายประเทศทดลองวัคซีน คาดว่าจะขายในเชิงพาณิชย์กลางปีหน้า จึงสร้างความมั่นใจกับทุกฝ่าย และอาจเปิดให้ต่างชาติเดินทางเข้ามาได้ในปีหน้า จึงคาดการณ์จีดีพีปี 64 ขยายตัวร้อยละ 4-5” นายลวรณ กล่าว

กระทรวงการคลังคาดว่า การช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน รักษาระดับการจ้างงาน และสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดการหมุนเวียนกิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศ อีกทั้งเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยภายในประเทศยังเข้มแข็ง แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ -1.3 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 13.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.7 ของ GDP เมื่อรัฐมนตรีคลังคนใหม่เข้ามาทำงาน สศค. จึงเตรียมเสนอการออกมาตรการเพิ่มเติมในเวลาที่เหมาะสม เพื่อประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ และพร้อมดูแลผู้ถือบัตรสวัสดิการผ่านงบปี 64 และพร้อมเปิดลงทะเบียนเพิ่มเติม เพื่อดูแลสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย พรุ่งนี้คลังเตรียมหารือกับ ททท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาทางดึงที่พักรายย่อยให้เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันให้มากเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นตัวเลือกในการเดินทางไปเที่ยวและกระจายเงินไปยังกลุ่มที่พักรายย่อย

ปัจจัยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คาดว่าธุรกิจฟื้นตัวได้เร็ว ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลรวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ช่วยสนับสนุนธุรกิจบริการดิจิทัลและธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ให้ขยายตัวได้ดี กระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 1-3 เป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญในการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
กำลังโหลดความคิดเห็น