xs
xsm
sm
md
lg

5สตาร์ทอัพตัวอย่าง สร้างยอดขายจากวิกฤต

เผยแพร่:


หน้ากาก LED จากดีไซเนอร์แฟชั่นไฮเทคเตือนให้คนเว้นระยะห่าง (ภาพจาก Lumen Couture)
ไม่ใช่แค่หน้ากากหรือเจลล้างมือ แต่ไวรัสโคโรนายังสร้างโอกาสใหม่ให้ผลิตภัณฑ์อีกมากมาย ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะพลิกแพลงได้ ตัวอย่างเช่นสตาร์ทอัพที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ที่เข้าใจเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จนกระทั่งยอดขายพุ่งขึ้นทันตา

หน้ากากวิบวับ
ช่วงแรกๆ ที่โควิดระบาด เชลซี คลูคัส ดีไซเนอร์แฟชั่นและเจ้าของแบรนด์ ลูเมน กูตูร์ คิดแค่ว่า จะทำหน้ากากผ้าแจกเพื่อนๆ

แต่หลังจากยอดขายของสตาร์ทอัพแฟชั่นไฮเทคแห่งนี้หยุดนิ่ง คลูคัสจึงตัดสินใจนำเทคโนโลยีมาแต่งเติมเพื่อให้การสวมหน้ากากดูน่าสนุกมากขึ้น เธอบอกว่า มีอุปกรณ์พร้อมสรรพอยู่แล้ว แค่เปิดหาวิธีทำในยูทูบอีกนิดหน่อยเท่านั้น

หน้ากากของคลูคัสมีแผ่น LED บางๆ ที่ผู้สวมสามารถวาดภาพหรือใส่ข้อความลงไปโดยใช้แอปพลิเคชันบนมือถือ และชิ้นส่วนไฮเทคเหล่านี้ที่รวมถึงแบตเตอรี่สามารถถอดออกเพื่อนำหน้ากากไปซักและใช้ซ้ำได้หลายครั้ง

หน้ากากไฮเทคนี้วางขายพร้อมสายชาร์จในราคา 95 ดอลลาร์

คลูคัสสำทับว่า ไม่ได้อยากหากำไรกับโควิด ดังนั้น ลูเมน กูตูร์จึงบริจาครายได้จากยอดขายหน้ากาก LED ตลอดเดือนมิถุนายนที่มีประมาณ 5,000 ดอลลาร์ ให้กองทุนเยียวยาโควิดขององค์การอนามัยโลก (ฮู)

เธอเล่าว่า ลูกค้าที่มาซื้อหน้ากากไม่ใช่ลูกค้าประจำและมีผู้ชายมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ออกตัวว่า ไม่ใช่สายแฟชั่น คลูคัสยังคิดว่า การทำหน้ากากที่ใครก็ใส่ได้อาจทำให้หน้ากากกลายเป็นของที่ต้องมีติดตู้เสื้อผ้าสำหรับคนยุคสมัยนี้

เทคโนโลยีไร้สัมผัส
พร็อกซีคือเทคโนโลยีไร้สัมผัสที่ช่วยให้ผู้ใช้เปิดประตู ปลดล็อกออฟฟิศ และเรียกลิฟต์ด้วยสัญญาณ “อัตลักษณ์” ดิจิตอลจากสมาร์ทโฟน

เดนนิส มาร์ส และไซมอน แรตเนอร์ เปิดตัวพร็อกซีตั้งแต่ปี 2016 โดยขายให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ที่สร้างสำนักงานขนาดใหญ่ ยอดขายของพร็อกซียิ่งพุ่งกระฉูดในช่วงโควิดระบาด เพราะบริษัทต่างๆ ต้องการวิธีช่วยลดการแพร่เชื้อ

ตอนนี้พร็อกซีเล็งเห็นโอกาสในออฟฟิศขนาดเล็กลง ด้วยการเสนอวิธีเพิ่มฟังก์ชันการติดตามการสัมผัสและภาวะสุขภาพ เช่น ถ้าพนักงานคนหนึ่งแจ้งว่าไม่สบาย ระบบของพร็อกซีสามารถระบุตัวเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิดพนักงานคนนั้นและขอให้หยุดอยู่บ้านเพื่อสังเกตอาการ โดยมาร์สคาดว่า จะเริ่มให้บริการนี้ได้ในช่วงปลายปี

บริการตัวอ่านไร้สัมผัสของพร็อกซีที่ไม่จำกัดผู้ใช้มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 50 ดอลลาร์ ส่วนตัวเครื่องอ่านราคา 199-249 ดอลลาร์

ปัจจุบัน พร็อกซีมีพนักงานประมาณ 70 คน และระดมทุนได้ทั้งสิ้น 58.8 ล้านดอลลาร์หลังปิดการระดมทุนรอบ B เมื่อเดือนมีนาคม

แหวนทำนายอาการ
เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ซ่อนอยู่ในรูปแกดเจ็ตสวมใส่เพื่อป้อนข้อมูลสุขภาพถึงมือผู้ใช้ ด้วยการเก็บข้อมูลตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงอัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิ หรือรูปแบบการนอนหลับ เพื่อให้เห็นภาพรวมสุขภาพของผู้สวม แต่ในช่วงวิกฤตไวรัส แกดเจ็ตบางอย่างช่วยระบุอาการเบื้องต้นของโควิด-19 ได้ด้วย

หนึ่งในนั้นคือ ออรา แหวนอัจฉริยะที่ช่วยติดตามสุขภาพผู้สวม ก่อนหน้านี้แหวนไทเทเนียมออราเคยประสบความสำเร็จในการทำนายฤดูกาลไข้หวัดใหญ่มาแล้ว

ฮาร์พรีต ซิงห์ ไร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารออรา บอกว่า เพิ่งรู้ว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีความสามารถในการพยากรณ์อาการโควิด-19 จากผู้ใช้คนหนึ่งที่เล่าว่า กลับจากทริปเล่นสกีช่วงต้นเดือนมีนาคมโดยที่คะแนน “ความพร้อม” ในออราลดลง ทำให้เขาตัดสินใจไปรับการตรวจหาเชื้อโควิด และพบว่า ตัวเองเป็นกลุ่มที่ไม่แสดงอาการซึ่งทำให้ไวรัสสายพันธุ์นี้อันตรายยิ่งขึ้น

และขณะนี้ ออรากำลังร่วมมือกับพันธมิตรในวงการกีฬาเพื่อให้นักกีฬาได้กลับลงสนามอีกครั้ง

เดือนมิถุนายน สมาคมบาสเกตบอลแห่งชาติของอเมริกา (เอ็นบีเอ) สั่งซื้อออราที่มีราคาวงละ 300 ดอลลาร์ กว่า 1,000 วง ก่อนที่ฤดูกาลแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายเดือนเดียวกัน

ซิงห์ ไรบอกว่า คะแนนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในออราจะช่วยเตือนให้นักกีฬาแจ้งแพทย์ประจำทีมเพื่อเข้ารับการทดสอบหาเชื้อไวรัสซ้ำ

สุขาพกพา
ตอนที่เปิดตัวซานิเกิร์ล โถปัสสาวะพกพาแบบใช้แล้วทิ้งสำหรับผู้หญิงในปี 2019 ซูซาน ทอมป์สัน ชูจุดขายว่า เป็นอุปกรณ์สุขอนามัยสำหรับสาวสายลุยที่รักการเดินทางไกลหรือตั้งแคมป์ท่ามกลางธรรมชาติ ลูกค้าในช่วงแรกๆ ของซานิเกิร์ลคือสาวๆ ที่ชื่นชอบกิจกรรมเอาต์ดอร์หรือเทศกาลดนตรี

แต่หลังจากโควิด-19 ระบาด กิจกรรมและเทศกาลเหล่านี้ถูกยกเลิกทั้งหมด ฉุดยอดขายซานิเกิร์ลระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนดิ่งเหว 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

เพื่อรักษาบริษัทที่ตั้งอยู่ในฟลอริดา ทอมป์สันจึงเปลี่ยนมาโฟกัสผู้หญิงที่ไม่ต้องการและไม่สามารถใช้ห้องน้ำสาธารณะแทน และจัดการปรับเปลี่ยนแผนการตลาดบนโซเชียลมีเดีย, แอมะซอน และเว็บไซต์ของบริษัทเพื่อดึงลูกค้ากลับสู่วิถีปกติใหม่หรือ new normal

กลยุทธ์ของทอมป์สันได้ผลดีเกินคาด ส่งให้ยอดสั่งซื้อซานิเกิร์ลที่ขายในราคาแพคละ 8.99 ดอลลาร์ (10 ชิ้น) เพิ่มขึ้นเป็น 40,000 ดอลลาร์ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน หรือเท่ากับยอดขายตลอดปี 2019

ระบบฆ่าเชื้ออัตโนมัติ
ปลายเดือนมกราคม กันเนอร์ ลิสโล ประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารเซอร์ฟาไซด์ในวิสคอนซิน ได้ยินข่าวจากผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อคนหนึ่งว่า รัฐบาลจีนคุมไวรัสโคโรนาไม่อยู่ และตอนนั้นเองที่ลิสโลสั่งให้บริษัทเตรียมพร้อมรับมือออร์เดอร์ที่กำลังจะหลั่งไหลเข้ามาสำหรับเฮลิโอส

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ลิสโลเพิ่มกำลังผลิตเฮลิโอส หรือระบบฆ่าเชื้อพื้นผิวอัตโนมัติที่หน้าตาคล้ายพัดลมตั้งพื้น โดยคาดว่า จะมีออร์เดอร์เพิ่มจากโรงพยาบาลที่ต้องการเครื่องมือฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเมื่อไวรัสโคโรนาบุกถึงอเมริกา

เซอร์ฟาไซด์เปิดตัวเฮลิโอสที่ใช้รังสี UV-C ฆ่าเชื้อโรคเมื่อปี 2010 โดยวางจำหน่ายในราคาชุดละ 100,000 ดอลลาร์ ประกอบด้วยอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ 3 เครื่อง ลูกค้าส่วนใหญ่คือโรงพยาบาล แต่หลังจากไวรัสระบาด เฮลิโอสสามารถขยายฐานลูกค้าสู่ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยว และเป็นไปตามการคาดการณ์ของลิสโล เพราะรายได้ของบริษัทระหว่างเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมพุ่งขึ้นกว่า 350% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น