xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตใส “บริการหมอทางไกล” คาดตลาดเอเชียโตทะลุ$2หมื่นล้าน

เผยแพร่:


หมอญี่ปุ่นสาธิตแอปพลิเคชันวินิจฉัยโรคทางไกล โดยคาดหมายว่า บริการนี้ในแดนปลาดิบมีแนวโน้มขยายตัวถึง 60% ภายในปี 2024
มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลเป็นโอกาสทองสำหรับระบบแพทย์ทางไกลในเอเชีย-แปซิฟิก และมีแนวโน้มว่า ปรากฏการณ์นี้จะคงอยู่ต่อไปแม้หลังจากที่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้แล้วก็ตาม โดยมีการคาดการณ์ว่า บริการแพทย์ทางไกลในภูมิภาคนี้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ภายใน 5 ปี

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ประเทศต่างๆ ตั้งแต่เกาหลีใต้ที่มีอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับเวิลด์คลาส จนถึงอินเดียที่มีค่ารักษาพยาบาลถูกและแพทย์จำนวนมาก ต่างกำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการใช้ระบบดิจิตอลให้เกิดประโยชน์ในขณะที่คนไข้จำนวนมากยังลังเลที่จะไปโรงพยาบาลหรือคลินิกเพราะกลัวติดโควิด-19

งานศึกษาของฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวนเมื่อเร็วๆ นี้คาดว่า วิกฤตโรคระบาดจะยังคงสร้างรูปแบบใหม่ของระบบการดูแลสุขภาพ ซึ่งรวมถึงการรักษาพยาบาลเสมือนในอนาคตอันใกล้ พร้อมคาดการณ์ว่า ธุรกิจแพทย์ทางไกลจะขยายตัวถึง 7 เท่าในปี 2025 หรือเท่ากับอัตราเติบโตปีละ 38.2%

ขณะเดียวกัน มาร์เก็ต ดาต้า ฟอร์แคสต์คาดการณ์ว่า ตลาดระบบแพทย์ทางไกลในเอเชีย-แปซิฟิกจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 8,500 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ เป็น 22,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2025

ทางด้านฟิลิปส์ บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่จากเนเธอร์แลนด์ ตั้งข้อสังเกตว่า ศักยภาพด้านการดูแลสุขภาพทางไกลและเทคโนโลยีดิจิตอลที่อำนวยความสะดวกในการรักษาพยาบาลเสมือนและตรวจคนไข้จากระยะไกลกำลังมาแรง โดยเฉพาะในช่วงโรคระบาดขณะนี้

อย่างไรก็ตาม หลายประเทศยังมีกฎที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการขอคำปรึกษาจากหมอต่างแดน ทั้งที่ความจริงแล้วจุดประสงค์ของระบบแพทย์ทางไกลคือการเพิ่มโอกาสที่ชุมชนห่างไกลจะสามารถเข้าถึงระบบสุขอนามัยมากขึ้นก็ตาม

วิกรัม คาปูร์ หุ้นส่วนของเบน แอนด์ โค. ในสิงคโปร์ และผู้อำนวยการฝ่ายการดูแลสุขภาพในเอเชีย-แปซิฟิก บอกว่า ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์จากระบบแพทย์ทางไกลในแง่ของการปรับปรุงการเข้าถึง ราคาที่ต้องจ่าย ผลลัพธ์ และการช่วยคัดกรองผู้ป่วย

นิกเกอิรายงานว่า ที่ญี่ปุ่น การสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 15 เท่านับจากไวรัสโคโรนาเริ่มระบาด ขณะที่ข้อมูลของเบนระบุว่า มายด็อก แพล็ตฟอร์มแพทย์ทางไกลที่มีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ มีผู้ใช้รายวันที่ยังคงใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 60% ในเดือนกุมภาพันธ์และเพิ่มขึ้นอีกสองเท่าในเดือนถัดมา เช่นเดียวกับแพล็ตฟอร์มสุขภาพดิจิตอลในอินโดนีเซียและออสเตรเลียที่มีผู้สนใจใช้บริการมากขึ้นอย่างชัดเจน

คาปูร์เสริมว่าที่จริงแล้ว ระบบแพทย์ทางไกลได้รับความนิยมมากขึ้นตั้งแต่ก่อนโควิดระบาด แต่หลังจากที่การเว้นระยะห่างทางสังคมกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ ยอดการใช้แพล็ตฟอร์มแพทย์ทางไกลรายวันในไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นถึงกว่า 150% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

ราเฟย์ อิชแฟก ผู้บรรยายวิชาการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ฮาร์เบิร์ต คอลเลจ ออฟ บิสเนสของมหาวิทยาลัยออเบิร์นในอเมริกา อธิบายว่า องค์ประกอบสำคัญของปรากฏการณ์นี้คือ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในภาคสาธารณะ

แม้ระบบแพทย์ทางไกลยังถูกแบนในเกาหลีใต้ เนื่องจากข้อครหาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการละเมิดข้อมูลและการวินิจฉัยผิดพลาด แต่แดนกิมจิเริ่มทดสอบโครงการนี้ตั้งแต่ก่อนโควิดระบาดโดยจำกัดอยู่ในกลุ่มที่มีช่องทางเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลจำกัด เช่น ประชาชนบนเกาะและทหารในแนวหน้า

ต่อมาเมื่อไวรัสระบาดหนักในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลจึงอนุมัติการปรึกษาแพทย์ออนไลน์สำหรับผู้ป่วยทั่วไปเป็นการชั่วคราว

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพที่กำลังมาแรงนำโดยซัมซุง ไบโอโลจิกส์, เซลล์เทรียน และซีเจน ยังช่วยให้ระบบแพทย์ทางไกลของเกาหลีใต้ตอบสนองเศรษฐกิจ “untact” ของรัฐบาล ซึ่งหมายถึงการลดการปฏิสัมพันธ์โดยตรงระหว่างคนกับคน

ระบบแพทย์ทางไกลยังเป็นประโยชน์สำหรับประเทศอย่างอินเดียที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เคยคาดหมายกันว่า จะมีมูลค่าถึง 9,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้กำลังเจอปัญหาหนัก เนื่องจากบริการส่วนใหญ่ของโรงพยาบาลต้องทุ่มเทให้กับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ดังนั้น แพล็ตฟอร์มใหม่นี้จึงช่วยให้ประชาชนมากมายเข้าถึงระบบสุขอนามัยและปกป้องอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้ประเทศถึง 10% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

ดรูฟ กุมาร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารไอคลินิก เครือข่ายโรงพยาบาลเสมือนที่มีแพทย์ให้บริการถึง 3,500 คน บอกว่า บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์โตขึ้น 4 เท่าจากปีที่แล้ว โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในอ่าวเปอร์เซีย ยุโรป และอเมริกา ที่ค่ารักษาแพงกว่าอินเดียมาก

ไม่นานมานี้ ไอเอชเอช กลุ่มกิจการการดูแลสุขภาพใหญ่ที่สุดของเอเชีย เปิดตัวบริการแพทย์ทางไกลในสิงคโปร์ มาเลเซีย ตุรกี อินเดีย และฮ่องกง ครอบคลุมตั้งแต่การปรึกษาแพทย์ไปจนถึงการจัดส่งยาถึงบ้าน

คาปูร์จากเบนสำทับว่า ประเทศที่มีช่องทางเข้าถึงการรักษาพยาบาลจำกัดอย่างอินโดนีเซียรับรู้ถึงประโยชน์ของระบบแพทย์ทางไกลชัดเจนขึ้น ขณะที่ประเทศที่มีระบบนิเวศดิจิตอลโตเต็มที่อย่างจีนนั้น การใช้บริการแพทย์ทางไกลจะขยายตัวต่อไปแม้หลังจากโรงพยาบาลและคลินิกต่างๆ เปิดบริการปกติแล้วก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น