xs
xsm
sm
md
lg

“นารายา” ปรับกลยุทธ์ฝ่าโควิด-19 โหมสินค้าใหม่-ลุยขยายออนไลน์

เผยแพร่:



ผู้จัดการรายวัน 360 - เปิดกลยุทธ์ “นารายา” ฝ่าวิกฤตโควิด-19 กระหน่ำ ลูกค้าหลักต่างชาติหาย ปิดน่านฟ้า ปิดศูนย์การค้ากระเทือนหน้าร้านปิดหมด มุ่งผลิตหน้ากากผ้า ขายกระเป๋าผ้าผ่านออนไลน์ แต่ได้แค่ประคอง คาดปีนี้รายได้คงหายไป 50% ปีหน้าปรับแผน ขยายช่องทางสินค้าเสื้อผ้ากับสกินแคร์มากขึ้น ลดเสี่ยง

นายพศิน ลาทูรัส ผู้บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายแบรนด์ “นารายา” ของไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดอย่างหนักในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในภาพรวมอย่างมากและต่อบริษัทฯ ด้วย โดยเฉพาะการที่ศูนย์การค้าและห้างค้าปลีกต่างๆ ต้องปิดบริการอันเนื่องมาจากมาตรการป้องกันโควิดของภาครัฐ ซึ่งบริษัทฯ มีสาขาหน้าร้านอยู่ในศูนย์การค้าเป็นหลัก ทำให้บริษัทฯ ต้องมีการปรับกลยุทธ์และปรับแผนการดำเนินงานใหม่ในช่วงดังกล่าว เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ปีนี้เราหันมาเน้นการผลิตและจำหน่ายสินค้าหน้ากากผ้ามากขึ้น เพื่อทำตลาดทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อรองรับสถานการณ์โรคระบาดโควิดที่รุนแรงทั่วโลก ซึ่งหน้ากากผ้ากลายเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นอย่างหนึ่งในการใช้ชีวิต

“สินค้าของนารายา หลักๆ เป็นพวกกระเป๋าผ้า ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าเป็นสินค้าที่สิ้นเปลือง ทำให้ผู้บริโภคนำเงินไปจับจ่ายซื้อสินค้าและสิ่งของจำเป็นมากกว่าและสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ จึงเป็นการลดความเสี่ยงของเราด้วย ประกอบกับฐานลูกค้าหลักของนารายาจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 70% ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ต้องยอมรับว่าหายไปหมดเลย จากการที่ต้องปิดน่านฟ้าไม่มีการเดินทางในช่วงที่ผ่านมา และขณะนี้ก็ยังไม่มีนักท่องเที่ยวกลับมา ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของนารายา จึงต้องปรับแผนใหม่” นายพศินกล่าว


ทั้งนี้ บริษัทได้เตรียมแผนการวิจัยและผลิตหน้ากากผ้าไว้ล่วงหน้าแล้ว ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ใหม่ๆ ในจีน และเมื่อสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้นในไทยเริ่มมีผู้ติดเชื่อ เราก็สามารถที่จะเดินเครื่องผลิตได้ทันทีภายใน 1 สัปดาห์เท่านั้นเอง ซึ่งพบว่าในช่วงแรกที่เริ่มวางตลาดมียอดขายได้มากถึง 50,000 ชิ้น

อีกทั้งยังพบว่าหลังจากที่เราเน้นทำหน้ากากผ้าในช่วงที่ผ่านมาสินค้าของนารายาได้รับการตอบรับดีอย่างมาก ทั้งจากลูกค้าคนไทย รวมทั้งยังมีการผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น รวมทั้งขยายตลาดใหม่ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา กรีซ เยอรมนี ตุรกี ตะวันออกกลาง จนขณะนี้จำหน่ายหน้ากากผ้าไปแล้ว 4 ล้านชิ้นจากโรงงานที่ผลิตได้วันละ 60,000 ชิ้นใน 2 โรงงาน ถือเป็นการส่งออกไปประเทศใหม่ๆ เพิ่มอีก 1 เท่าตัว จากก่อนหน้านี้จำหน่ายใน 36 ประเทศทั่วโลก

ส่วนสินค้าหลักเดิมคือ กระเป๋าผ้านารายา ก็มีการปรับกลยุทธ์ช่องทางการขายเพิ่มขึ้น จากหน้าร้านที่ขณะนั้นไม่สามารถเปิดร้านจำหน่ายได้ ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับทางช้อปปี้ และเจดีดอทคอม โดยนำสินค้าของนารายาเข้าไปวางจำหน่ายใน 2 แพลตฟอร์มดังกล่าวประมาณ 500 เอสเคยูในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ซึ่งถือว่าได้รับความสำเร็จดีเช่นกัน โดยถึงขณะนี้มีสัดส่วนยอดขายแล้ว 10% ของยอดขายรวมทั้งหมด

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีการปรับกลยุทธ์หันมาเน้นผลิตหน้ากากผ้า แต่ก็เป็นเพียงรายได้เสริม ไม่สามารถทดแทนกับรายได้หลักในการจำหน่ายกระเป๋าผ้าได้ที่มีสัดส่วนรายได้มากกว่า 99% รองมาคือ สกินแคร์ และเสื้อผ้า เล็กน้อยเท่านั้น และแม้ว่าจะมีการขายผ่านช่องทางออนไลน์แต่ก็ยังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยมากอยู่เช่นเดียวกัน จึงทำให้คาดว่าในปี 2563 บริษัทฯ คาดว่ายอดขายรวมยังคงติดลบจากปีที่แล้วไม่ต่ำกว่า 50% เพราะสถานการณ์ดังกล่าว

นายพศินกล่าวต่อว่า ในปีหน้า (2564) บริษัทฯ วางแผนธุรกิจใหม่ โดยจะหันมาให้ความสำคัญต่อการขายสินค้าประเภทเสื้อผ้า และสกินแคร์ ไปด้วย ทั้งในช่องทางออนไลน์และร้านสะดวกซื้อทั่วไป เพื่อเป็นการขยายตลาดให้กว้างขึ้น นอกเหนือจากการขายในร้านของนารายาเพียงอย่างเดียว และเป็นการกระจายโอกาสในการสร้างรายได้ด้วย

ส่วนแผนการขยายสาขานั้นคงจะต้องชะลอไว้ก่อน เพราะสถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวย จากปัจจุบันที่มี 28 สาขา อีกทั้งตั้งแต่มีการปลดล็อกมา บริษัทฯ เปิดสาขาบริการได้แล้ว 23 สาขาเท่านั้น ยังมีอีกหลายสาขาที่ยังไม่สามารถเปิดได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านตลาด โดยเฉพาะยังไม่เปิดให้บริการในสถานที่ท่องเที่ยวที่จับตลาดชาวต่างชาติเป็นหลัก เช่น ภูเก็ต 2 สาขา เชียงใหม่ และเอเชียทีค เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น