xs
xsm
sm
md
lg

ใครดีใครได้!!ชาติอาเซียนชิงดำ งัดแผนเด็ดดูดบ.ต่างชาติทิ้งจีน

เผยแพร่:


 การที่อเมริกาเปิดศึกกดดันจีนรอบด้านทำให้บริษัทมากมายคิดย้ายฐานจากแดนมังกร ถือเป็นโอกาสอันดีที่อาเซียนจะเสนอตัวเป็นทางเลือกใหม่
ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้งัดมาตรการจูงใจแย่งชิงการลงทุนจากบริษัทต่างชาติที่กำลังเล็งย้ายออกจากจีน หนึ่งในโฟกัสสำคัญคืออุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ หลังจากการระบาดของโควิด-19 ตอกย้ำการพึ่งพิงจีนอย่างมาก โดยเมื่อไม่กี่วันมานี้ญี่ปุ่นเผยว่า มีบริษัท 15 แห่งขอรับเงินอุดหนุนเพื่อย้ายโรงงานจากแดนมังกรไปยังเวียดนาม

ปลายเดือนมิถุนายน ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด เปิดตัวที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในบาตังบนเกาะชวา เพื่อป่าวประกาศให้โลกรู้ว่า อินโดนีเซียกำลังอ้าแขนรับธุรกิจต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อเมริกา หรือประเทศอื่นใดในโลกก็ตาม

คำประกาศนี้เป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ก่อนหน้านี้หลายประเทศต่างเสนอมาตรการจูงใจบริษัทต่างๆ ที่ต้องการย้ายออกจากจีนเพื่อหนีผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างพญามังกรกับอเมริกา

ขณะเดียวกัน เมื่อไม่นานมานี้ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด) ได้เปิดเผยรายงานการลงทุนโลกประจำปี 2020 ที่คาดการณ์ว่า การลงทุนโดยตรงของต่างชาติในประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียจะลดลงถึง 45% ในปีนี้ ปัจจัยหลักคือโรคระบาด เฉพาะไตรมาสแรกจำนวนการลงทุนใหม่ลดลงไปแล้ว 37% และจำนวนการซื้อและผนวกกิจการตกลง 35% ในเดือนเมษายน

รายงานฉบับนี้แจงว่า มาตรการล็อกดาวน์และการที่โรงงานต่างๆ ระงับการผลิตซึ่งส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานและการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่รายได้ภาคเอกชนลดลงเช่นเดียวกับดีมานด์ในภูมิภาคและทั่วโลก รวมทั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ล้วนแล้วทำให้บรรษัทข้ามชาติต้องทบทวนแผนการและหลายแห่งตัดสินใจเลื่อนโครงการลงทุนออกไปก่อน

สถานการณ์นี้บีบให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องห้ำหั่นกันถึงพริกถึงขิงเพื่อแย่งชิงเม็ดเงินลงทุนที่หดลง ตัวอย่างเช่นวิโดโดที่ประกาศว่า ถ้าประเทศอื่นขายที่ดินในราคา 1 ล้าน อินโดนีเซียพร้อมเสนอแค่ 5 แสน

แดนอิเหนายังมีแผนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม 19 แห่งภายในปี 2024 รวมทั้งลดภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 22% จาก 25% ในปีนี้ และลดเหลือ 20% ในปี 2022 เร็วกว่าที่เคยวางแผนไว้ 1 ปี

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทยอนุมัติมาตรการจูงใจสำหรับภาคการเกษตรเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน โดยเล็งเป้าหมายบริษัทต่างชาติที่ย้ายฐานออกจากจีน

มาเลเซียเสนอยกเว้นภาษีนาน 15 ปีสำหรับโครงการลงทุนใหม่ของผู้ผลิตต่างชาติมูลค่า 500 ล้านริงกิต (117 ล้านดอลลาร์) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศเมื่อต้นเดือนมิถุนายน

ส่วนพม่าจะให้ความสำคัญในการคัดกรองการลงทุนโดยพิจารณาจากบรรษัทข้ามชาติที่มีสถานะการเงินแข็งแกร่งเป็นอันดับแรกๆ และเวียดนามตั้งเป้าดึงดูดบริษัทยุโรปภายใต้ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรป (อียู) ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม

หนึ่งในโฟกัสสำคัญคืออุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ เพราะการระบาดของโควิด-19 ตอกย้ำว่า ภูมิภาคนี้พึ่งพิงหน้ากากและอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ จากจีนอย่างมาก

วิโดโดนั้นชักชวนให้บริษัทสุขอนามัยอเมริกาเข้าไปตั้งฐานดำเนินงานในอินโดนีเซียระหว่างต่อสายคุยกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเดือนเมษายน ต้นเดือนที่แล้ว ทางการจาการ์ตายังออกมาตรการจูงใจทางภาษีสำหรับผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์

ทางด้านไทยจะพิจารณาขยายมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับบริษัทที่ลงทุนด้านการผลิตยาและอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการก้าวขึ้นเป็นฮับอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ

ขณะเดียวกัน ความพยายามเหล่านี้มีขึ้นขณะที่บริษัทอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น กำลังพิจารณาย้ายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน หลังจากโควิด-19 ทำให้การผลิตในแดนมังกรสะดุดหยุดนิ่งในช่วงต้นปีและส่งผลกระทบไปทั่วโลก

ญี่ปุ่นอนุมัติเงินอุดหนุน 219 ล้านดอลลาร์สำหรับบริษัทที่ต้องการโยกย้ายจากจีนมาผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่นๆ ภายใต้งบประมาณเพิ่มเติมที่ผ่านความเห็นชอบเมื่อเดือนเมษายน
ช่วงต้นสัปดาห์นี้ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เผยว่า บริษัทญี่ปุ่น 15 จาก 30 แห่งที่จะได้รับเงินอุดหนุนดังกล่าวได้ลงทะเบียนเพื่อย้ายโรงงานไปยังเวียดนาม แบ่งออกเป็นบริษัทขนาดใหญ่ 6 แห่ง และกิจการขนาดกลางและเล็ก (SME) 9 แห่ง

บริษัทส่วนใหญ่ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ และที่เหลือผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ชิ้นส่วนโทรศัพท์ เครื่องปรับอากาศ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่า บริษัทเหล่านี้จะย้ายการผลิตออกจากจีนทั้งหมดหรือแค่บางส่วน

เจโทรยังให้รายละเอียดว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้เงินบริษัทแต่ละแห่ง 930,000 ดอลลาร์ ถึง 46.7 ล้านดอลลาร์สำหรับการโยกย้ายออกจากจีน

ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่สองในเอเชียที่ดำเนินการเพื่อย้ายห่วงโซ่อุปทานและลดการพึ่งพิงจีน

รายแรกคือไต้หวันที่เมื่อปีที่แล้วเสนอที่ดิน พลังงาน น้ำ เงินทุน และการลดหย่อนภาษี จูงใจบริษัทท้องถิ่นย้ายกลับบ้าน

นอกจากนั้นในสถานการณ์ที่จีนใช้พลังทางเศรษฐกิจและเครื่องมือทางการทูตแผ่ขยายอิทธิพล จึงมีบางคนเชื่อว่า ญี่ปุ่นและอเมริกาควรร่วมมือกับ 10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) สร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่เพื่อความมั่นคงภายในของแต่ละประเทศด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น