xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : แอร์เอเชีย VS ไทยเวียตเจ็ท ศึกชิงโลว์คอสต์สุวรรณภูมิ

เผยแพร่:



บางครั้งข่าวลือมักจะมาในรูปแบบของนัยยะที่มาก่อนกาล เฉกเช่นกระแสข่าวจากแวดวงการบินมาถึงโลกโซเชียลว่า สายการบินไทยแอร์เอเชีย กำลังขออนุญาตทำการบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมกับสื่อที่คาดว่าจะใช้ประชาสัมพันธ์ ระบุว่า "บินสะดวก เลือกได้ 2 สนามบิน ดอนเมือง และ สุวรรณภูมิ กับ 5 เส้นทางสุดฮอต เชียงใหม่ ขอนแก่น เชียงราย กระบี่ ภูเก็ต"

หากเป็นเช่นนั้นจริง นอกจากจะเป็นการกลับมาทำการบินที่สุวรรณภูมิในรอบ 8 ปี หลังย้ายเที่ยวบินมาที่ท่าอากาศยานดอนเมืองตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมาแล้ว ยังถือเป็นการชิงส่วนแบ่งตลาดโลว์คอสต์แอร์ไลน์ในประเทศที่สุวรรณภูมิ ซึ่งมีเพียงรายเดียว คือ สายการบินไทยเวียตเจ็ท ที่ให้บริการ 10 เส้นทาง มีส่วนแบ่งตลาดในรอบ 5 เดือนของปี 2563 อยู่ที่ 6%

ดูเหมือนว่าไทยเวียตเจ็ทไม่ได้นิ่งเฉย ประกาศว่า "เวียตเจ็ท ตัวจริงสุวรรณภูมิ" บินราคาประหยัดจากสุวรรณภูมิ สู่ 10 เส้นทางทั่วไทย และบินตรงจากเชียงราย สู่ ภูเก็ต อุดรธานี และ หาดใหญ่ #บินสุวรรณภูมิต้องVietjet" เสมือนส่งสัญญาณพร้อมรบ หากถึงเวลานั้นจริง สายการบินแดงเหลืองสัญชาติเวียดนาม อาจได้จัดโปรโมชันสงครามราคา ปะทะหางแดงสัญชาติมาเลเซีย





ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ออกมายอมรับว่า ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้จำนวนผู้โดยสารรวมลดลง 23% อยู่ที่ 4.5 ล้านคน รายได้รวม 9,399 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิสำหรับงวด 671.4 ล้านบาท พลิกจากกำไรในงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 497.2 ล้านบาท *

ปัจจุบัน ไทยแอร์เอเชียมีเครื่องบินจำนวน 62 ลำ จาก 5 ฐานปฏิบัติการบิน (Hub) ได้แก่ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ และอู่ตะเภา ที่ผ่านมาได้ขายอากาศยาน 1 ลำ ขายแล้วกลับมาเช่ากลับ 9 ลำ แก่เอโวลอน (Avolon) ผู้ให้บริการเช่าซื้ออากาศยานจากไอร์แลนด์ เพื่อบริหารความเสี่ยง และรองรับการจัดหาเครื่องบินแอร์บัส A321 นีโอ ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า

ไทยแอร์เอเชีย กลับมาให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา และจะกลับมาให้บริการครบ 23 จุดหมายปลายทางภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อกระตุ้นการเดินทางและส่งเสริมภาคธุรกิจ ข้อมูลจากเว็บไซต์แอร์เอเชียระบุว่า เส้นทางบินที่ได้รับความนิยมสูงสุดเฉพาะประเทศไทย ได้แก่ ดอนเมือง-เชียงใหม่ และ ดอนเมือง-หาดใหญ่


อีกหนึ่งกลยุทธ์ของแอร์เอเชียที่น่าจับตามองก็คือ การแสวงหาจุดหมายปลายทางใหม่ โดยมีรายงานว่า แอร์เอเชียกำลังขออนุญาตท่าอากาศยานหัวหิน เปิดเพิ่มเที่ยวบินเส้นทาง หัวหิน-เชียงใหม่ และหัวหิน-อุดรธานี ซึ่งถือเป็นเส้นทางบินข้ามภาคใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2563 ถึง 23 ตุลาคม 2563 ให้บริการสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน ทุกวันศุกร์และวันอาทิตย์

เดิมแอร์เอเชียให้บริการเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-หัวหิน เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา แต่ได้หยุดทำการบินอย่างไม่มีกำหนด ปัจจุบันแอร์เอเชียมีสำนักงานขายและเคาน์เตอร์บริการ แต่ปิดให้บริการชั่วคราว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่เส้นทางในประเทศเดิมมี นกมินิ กานต์แอร์ และไทยไลอ้อนแอร์ใช้เครื่องบินเล็กให้บริการ แต่ได้หยุดไปนาน

การฟื้นเส้นทางบินข้ามภาคจากหัวหิน-เชียงใหม่ ที่เดิมกานต์แอร์เคยทำการบิน และเปิดเส้นทางใหม่ หัวหิน-อุดรธานี นอกจากจะทำให้แอร์เอเชียมีจุดหมายปลายทางเพิ่มเป็น 24 แห่งแล้ว ยังอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารจากภาคตะวันตก เช่น ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และภาคใต้ตอนบน เช่น ชุมพร เดินทางระหว่างภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น


ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 แอร์เอเชียมีส่วนแบ่งตลาดในไทยอยู่ที่ 33% รองลงมาคือนกแอร์ 18% ไทยไลอ้อนแอร์ 16% บางกอกแอร์เวย์ส 11% ไทยสมายล์ 9% การบินไทย 7% และไทยเวียตเจ็ท 6% ** เมื่อวัดกันเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) จะพบว่าที่ท่าอากาศยานดอนเมืองมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง 67% จาก 3 สายการบิน

ขณะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พบว่าการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์ส เป็นสายการบินแบบฟลูเซอร์วิส ส่วนไทยสมายล์เป็นสายการบินระดับไลท์พรีเมียม ทั้งสามสายการบินมีลูกค้าเฉพาะกลุ่ม จะมีก็แต่ไทยเวียตเจ็ทเป็นโลว์คอสต์แอร์ไลน์เพียงรายเดียว เดิมได้เปรียบตรงที่รับผู้โดยสารจากต่างประเทศไปยังจังหวัดต่างๆ โดยตรง โดยไม่ต้องนั่งรถไปต่อเครื่องที่ดอนเมือง

การนำเที่ยวบินแอร์เอเชียมาลงที่สุวรรณภูมิ หากเกิดขึ้นได้จริง นอกจากผู้โดยสารจะได้ประโยชน์เต็มๆ แล้ว ยังส่งผลไปถึง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) จะได้มีเที่ยวบินและผู้โดยสารมาใช้บริการที่สุวรรณภูมิ ให้พอมีรายได้เลี้ยงตัวเอง ทดแทนเที่ยวบินต่างประเทศที่ถูกยกเลิกอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ได้บ้าง

อ้างอิง * คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับไตรมาสที่ 1 ปี 2563 (AAV)
** INVESTOR UPDATE : VIRTUAL CONFERENCE BY CLSA SECURITIES, 30 JUNE 2020 (AAV)

(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)
กำลังโหลดความคิดเห็น