xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีผลผลิตอุตฯ พ.ค.เริ่มฟื้นตัว “สศอ.” ลุ้นกำลังซื้อ-แผนฟื้นฟูฯ ชี้ชะตา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ค.อยู่ที่ 80.31 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.19% ซึ่งเป็นอัตราเปลี่ยนแปลงลดลงต่ำสุดกว่า 8 ปี แต่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวเพิ่มขึ้นจาก เม.ย. 2.86% และคาดหวัง มิ.ย.จะดีขึ้นตามลำดับจากการคลายล็อกดาวน์ ลุ้นแรงซื้อ และงบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาทชี้ชะตา ศก.

นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2563 อยู่ที่ 80.31 ปรับตัวลดลง 23.19% เมื่อเทียบกับ พ.ค. 62 โดยนับเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงต่ำสุดรอบ 101 เดือน หรือ 8 ปี 4 เดือนนับจาก ม.ค. 55 เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยและโลกชะลอตัว แต่แนวโน้มจากการที่ไทยเริ่มมีสัญญาณการแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19 ที่ดีและเริ่มคลายล็อกดาวน์ได้บางส่วนส่งผลให้ MPI เดือน พ.ค.หากเทียบกับ เม.ย.ซึ่งอยู่ที่ระดับ 78.08 ปรับเพิ่มขึ้น 2.86%

"MPI พ.ค.ที่ลดต่ำลงมากเพราะเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักส่งผลให้การใช้อัตรากำลังการผลิต พ.ค.อยู่ที่ 52.84% ลดลงจาก พ.ค. 62 ที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 67.38 แต่เริ่มดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ เม.ย. 63 ที่อัตราการใช้กำลังผลิตอยู่ที่ 51.27 ซึ่งการฟื้นตัวดังกล่าว สศอ.ประเมินว่า MPI เดือน มิ.ย.น่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากรัฐบาลผ่อนคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 3 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. และระยะที่ 4 เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ช่วยให้กิจกรรมเศรษฐกิจบางส่วนและกิจการบางประเภทสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้" นายอิทธิชัยกล่าว

ทั้งนี้ สศอ.ยังคงคาดการณ์ MPI ปี 2563 ทั้งปีติดลบ 6-7% จากเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาคาดขยายตัว 2-3% ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เริ่มมีการคำนวณดัชนี MPI เมื่อเดือน ม.ค. 2543 และอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมติดลบ 5.5-6.5% จากเดิมคาดขยายตัว 1.5-2.5% โดยจะได้ติดตามปัจจัยต่างๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนในระยะต่อไปหรือไม่อย่างไร


ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามคือ มาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ระยะถัดไปจะเอื้อให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยแค่ไหน รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรง ที่มีการระบุฝนจะขาดช่วงซึ่งอาจทำให้แรงซื้อเกษตรกรลดลง นอกจากนี้ แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังผลกระทบจากโควิด-19 และแผนฟื้นฟูที่มีอยู่แล้วจะเข้ามาแก้ไขถูกจุดหรือไม่ เพราะจะต้องรอการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ที่จะนำเสนอแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจก่อน ซึ่งเชื่อว่าจะอยู่บนพื้นฐานของแผนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบันเตรียมการไว้

"สิ่งที่น่ากังวลที่สุดขณะนี้ คือ ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ เพราะธนาคารเข้มงวดการพิจารณาสินเชื่อมาก ดังนั้น ในช่วง 3 เดือนจากนี้สำคัญมาก สำหรับการใช้เงินฟื้นฟูเศรษฐกิจตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 400,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) วางแผนพิจารณาโครงการขอใช้เงิน 3 ชุด คือ เดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายนนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว" นายอิทธิชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น