xs
xsm
sm
md
lg

“เน็ตซิตี้” เมืองอัจฉริยะเทนเซ็นต์ เน้นความยั่งยืนช่วยฟื้นเศรษฐกิจ

เผยแพร่:


ภาพจำลองเมืองอัจฉริยะของเทนเซ็นต์ (ภาพจากเอ็นบีบีเจ)
เทนเซ็นต์เตรียมสร้างเมืองอัจฉริยะที่พร้อมพรั่งด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยโดยให้ความสำคัญกับคนและสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก สถาปนิกโครงการอวด “เน็ตซิตี้” คือโมเดลการพัฒนาหลังจบโควิด โปรเจ็กต์นี้ยังตอกย้ำเทรนด์ที่ยักษ์ใหญ่ไฮเทคเข้าไปมีบทบาทในแวดวงการวางผังเมืองแห่งอนาคตมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของรัฐบาลจีนในการกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางภาวะขาลงทั่วโลก

เน็ตซิตี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ 2 ล้านตารางเมตรในเมืองเซินเจิ้น ประกอบด้วยสำนักงานของเทนเซ็นต์ อพาร์ตเมนต์สำหรับพนักงานและครอบครัว โรงเรียน พื้นที่ค้าปลีก ตลอดจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ และพื้นที่ริมน้ำ

โจนาธาน วอร์ด ดีไซน์พาร์ตเนอร์ของเอ็นบีบีเจ ซึ่งเป็นบริษัทสถาปนิกของอเมริกา บอกว่า เน็ตซิตี้เป็นโมเดลสำหรับเมืองแห่งอนาคต ด้วยพื้นที่ถนนที่น้อยลง สวนบนดาดฟ้า และการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

เขาสำทับว่า วิกฤตไวรัสตอกย้ำความจำเป็นในการออกแบบพื้นที่ อาคาร และเมืองที่ช่วยในการฟื้นฟูและส่งเสริมสุขภาพโดยรวมด้วยพื้นที่กว้างขวางทั้งในและนอกอาคาร

เน็ตซิตี้จะสนับสนุนการเดิน การขี่จักรยาน และระบบขนส่งสาธารณะ มากกว่าการใช้รถยนต์ส่วนตัว ภายใต้วัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความยั่งยืน เพิ่มการวางแผนกลยุทธ์โดยอิงกับความต้องการของผู้คน และเพิ่มการสงวนรักษาสิ่งแวดล้อม

การออกแบบเมืองอัจฉริยะของเทนเซ็นต์ที่มีกำหนดเริ่มต้นก่อสร้างปลายปีนี้และแล้วเสร็จภายใน 7 ปี ยังตรงตามเกณฑ์ “เมืองฟองน้ำ” เพื่อป้องกันน้ำท่วมของจีน

เน็ตซิตี้จะใช้เทคโนโลยีเอไอ รถอัตโนมัติ ฯลฯ รวมทั้งปลูกต้นโกงกาง และสภาพแวดล้อมธรรมชาติอื่นๆ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จากข้อมูลของทางการจีน ขณะนี้มีเมืองอัจฉริยะกว่า 500 แห่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างทั่วประเทศ โดยมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ กล้อง และแก็ดเจ็ตต่างๆ ที่สามารถประมวลผลข้อมูลทุกอย่างตั้งแต่การจราจร มลพิษ สุขภาพ ไปจนถึงความมั่นคง

นอกจากนั้น เมืองอัจฉริยะยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนท่ามกลางภาวะขาลงทั่วโลก

ขณะเดียวกัน แม้การใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น เอไอ กำลังทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการสอดแนม แต่สำหรับจีนนั้น ซู เฉิงเว่ย นักวิจัยนโยบายสาธารณะของมหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงคโปร์ บอกว่า ประชาชนไม่ค่อยมีปากมีเสียงมากนักเกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะที่ต้องพึ่งพิงบทบาทของรัฐบาลในการวางผังเมืองและการจัดสรรงบประมาณ

ซูสำทับว่า แผนการริเริ่มเมืองอัจฉริยะของจีนขับเคลื่อนโดยความทะเยอทะยานทางการเมืองและเทคโนโลยี ไม่ใช่ความต้องการของตลาด และเมืองอัจฉริยะจะยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการวางผังเมือง เช่นเดียวกับที่ยักษ์ใหญ่ไฮเทคจะยังคงมีส่วนร่วมในโครงการเหล่านี้

เน็ตซิตี้ของเทนเซ็นต์เป็นตัวอย่างล่าสุดของการที่บริษัทเทคโนโลยีเข้าไปมีบทบาทในแวดวงการวางผังเมืองแห่งอนาคตมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ไซด์วอล์ก แล็บส์ บริษัทนวัตกรรมเมืองในเครืออัลฟาเบ็ต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล มีโครงการในลักษณะเดียวกันนี้อยู่ที่โทรอนโต แคนาดา
โครงการของไซด์วอล์ก แล็บส์มีมูลค่า 900 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ที่ป้อนข้อมูลเข้าสู่ระบบเอไอเพื่อจัดการระบบการจราจรและระบบระบายน้ำ รถไร้คนขับ ฯลฯ ก่อนที่จะล้มเลิกไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเนื่องจาก “ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ”
กำลังโหลดความคิดเห็น