xs
xsm
sm
md
lg

สปอนเซอร์ซ้ำหน้ากันยังได้ เอสเอฟประหมัดเมเจอร์ เปิดศึกไดรฟ์อิน กระตุ้นลูกค้าคืนจอเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



การตลาด - “เมเจอร์-เอสเอฟ” ใจตรงกัน เปิดศึกกลยุทธ์โรงหนังแบบไดรฟ์อินพร้อมกัน ทำเอาย่านถนนเลียบด่วนรามอินทราเดือด หวังสร้างแรงกระตุ้นคนกลับมาเข้าโรงหนังสู้โควิด-19 สปอนเซอร์ร่วมเพียบ ซ้ำกันก็ยังมี

เป็นการเปิดศึกแบบน่าจับตามองทีเดียวระหว่าง เมเจอร์ กับ เอสเอฟ สองค่ายโรงหนังรายใหญ่ในไทย ที่งัดกลยุทธ์เปิดโรงหนังไดรฟ์อิน (Drive-in) เข้ามาบริการในช่วงจังหวะเดียวกัน ที่สำคัญยังอยู่ในทำเลเดียวกันอีกด้วย คือ แถวถนนเลียบด่วนเอกมัย-รามอินทรา ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่หายไป

ไดรฟ์อินในวงการโรงหนัง คือการบริการโรงหนังแบบให้ลูกค้าขับรถส่วนตัวเข้าไปจอดเพื่อชมหนังในโรงหนังหรือสถานที่ที่ผู้ประกอบการจัดสร้างไว้ ซึ่งในต่างประเทศก็มีบริการเช่นนี้แล้ว และในขณะที่โควิด-19 ระบาดในช่วงที่ผ่านมา โรงหนังต้องปิดบริการ ก็มีบริการแบบนี้มากและได้รับความนิยมในระดับหนึ่ง

ขณะที่ประเทศไทยในอดีตเคยมีบริการแบบนี้เช่นกัน แต่ก็ยังไม่ถือว่าเต็มรูปแบบมากนัก เช่น ที่ย่านลาดพร้าวเคยมีบริการแต่เลิกไปนานแล้ว อีกที่คืออีจีวีสมัยที่ยังเป็นคู่แข่งกับเมเจอร์ฯ และยังไม่ได้รวมเป็นค่ายเดียวกัน อีจีวีเคยมีเปิดแบบไดรฟ์อินที่สาขาศูนย์การค้าซีคอนสแควร์เพียง 1 โรง แต่ก็เป็นไดรฟ์อินแบบจำลอง คือการสร้างโมเดลที่นั่งชมเป็นรถยนต์ปลอมๆ ให้เข้าไปนั่งชมหนังแทนที่จะเป็นเก้าอี้ โดยการซื้อบัตรเข้าไปในโรงหนังเข้าชมปกติเท่านั้นเอง คือมีแต่บรรยากาศเสมือนเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการขับรถจริงหรือไดรฟ์อินเข้าไปในโรงหนังแต่อย่างใด ปัจจุบันเลิกบริการไปนานแล้ว


*** เปิดแนวคิด สองค่าย ทำไมต้องทำ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิด-19 เต็มๆ ที่เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้โรงหนังต้องปิดบริการในช่วงระบาดกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา และแม้ว่าจะเปิดบริการแล้วก็ตาม ก็ยังต้องเจอมาตรการที่เข้มงวดเรื่องการรักษาระยะห่างอีก ทำให้การบริการหรือการเปิดขายตั๋วทำได้ไม่เต็มที่ 100% รายได้ย่อมต้องหายไปอย่างแน่นอน

นางสาวพิมสิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ผู้จัดการรายวัน 360” ว่า ในช่วงที่ต้องปิดบริการโรงหนังทั้งหมดเพราะโควิด-19 มีลูกค้าจำนวมากสอบถามมายังเราว่าทำไมไม่เปิดบริการแบบไดรฟ์อินเหมือนในต่างประเทศ เพราะพวกเขาอยากจะดูหนัง ซึ่งทางเราเองก็นำข้อมูลความต้องการคอมเมนต์ต่างๆ ของลูกค้ามาพิจารณาและศึกษาว่าจะทำได้มากน้อยอย่างไร และในที่สุดก็ตัดสินใจทำ ด้วยงบลงทุนจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเปิดเผยได้

“ถือเป็นการบริการในยุคนิวนอร์มัลได้อย่างหนึ่ง ซึ่งเอสเอฟก็ยังคงคำนึงถึงเรื่องมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวดเหมือนเดิม ส่วนจะมีการจัดครั้งต่อไปได้หรือไม่นั้น คงต้องดูผลงานครั้งแรกนี้ก่อนว่าเป็นอย่างไร และต้องดูสถานการณ์ความเหมาะสมอีกครั้งว่าเป็นอย่างไรบ้าง” นางสาวพิมสิริกล่าว

ทางเอสเอฟตั้งชื่ออีเวนต์ครั้งนี้ว่า แคต ไดรฟ์-อิน ซินีมา (CAT Drive-in Cinema) เพราะมี CAT เป็นพันธมิตรหลัก กำหนดวันที่ 2-5 กรกฎาคมศกนี้

นายสุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้โรงภาพยนตร์แบบไดรฟ์อิน (Drive-in) หรือการชมภาพยนตร์กลางแจ้งในรถส่วนตัว กลับมาได้รับความนิยมสูงขึ้นในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ จนเกิดเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการฉายภาพยนตร์ในลักษณะนี้

นายสุรเชษฐ์ อัศวเรืองอนันต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสื่อโฆษณา บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากการจัดการตามมาตรการเว้นระยะห่าง Social Distancing ในโรงภาพยนตร์แล้ว การชมภาพยนตร์แบบไดรฟ์อิน หรือการชมภาพยนตร์กลางแจ้งในรถยนต์ส่วนตัวที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในประเทศไทย จึงเป็นอีเวนต์แห่งความปกติใหม่ที่น่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดในตอนนี้

โดยเมเจอร์ฯ ได้จัดอีเวนต์ Major Cineplex Drive-in Theater @CentralFestival EastVille และเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการความสะอาด และความปลอดภัยโดยยึดหลักปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสุขอนามัย ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานทุกท่านเชื่อมั่นในความปลอดภัยเมื่อมาร่วมงาน

งานนี้เมเจอร์ฯ เป็นเจ้าของอีเวนต์ โดยได้ว่าจ้างให้ออร์แกไนเซอร์ คือ บริษัท แอบโซลูท เป็นผู้ดำเนินการ


*** ยึดทำเลเดียวกันแต่คนละฝั่ง-หนังคนละเรื่อง
ทั้งนี้ เมเจอร์ฯ จับมือกับพันธมิตรหลักด้านสถานที่ คือ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล อีสต์วิลล์ ของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) จัดบนลานจอดรถลอยฟ้าของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ บนเนื้อที่ 3,830 ตร.ม. สามารถรองรับได้ประมาณ 85 คันในแต่ละรอบ

ส่วนการฉายหนังนั้นก็ฉายด้วยระบบจอ LED ขนาด 16 คูณ 7 เมตร ที่ให้ความคมชัดระดับ 4K พร้อมประสิทธิภาพเสียงแบบสเตอริโอ ผ่านลำโพงบลูทูธ และการจัดเตรียมเครื่องปรับอากาศเคลื่อนที่เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับรถยนต์ส่วนตัว ทั้งระบบเสียงที่ใช้บลูทูธและระบบแอร์ โดยลูกค้าต้องดับเครื่องรถยนต์ โดยเมเจอร์ฯ เลือกเอาทำเลดังกล่าวเพราะต้องการสร้างประสบการณ์ใหม่ที่แปลกแหวกแนวออกไป

สำหรับหนังของเมเจอร์นี้จะมีความหลากหลายเรื่องแต่ไม่ใช่หนังใหม่ชนโรง เริ่มรอบ 19.00 น. มีเพียงรอบเดียวทุกวัน ใน 4 วัน เริ่มวันที่ 2 กรกฎาคม เรื่อง Begin Again (เพราะรักคือเพลงรัก), วันศุกร์ที่ 3 เรื่อง Your Name (หลับตาฝัน ถีงชื่อเธอ), วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม เรื่อง WHIPLASH และวันสุดท้าย อาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม เรื่อง Begin Again. (เพราะรักคือเพลงรัก)

ส่วนลูกค้าที่จะเข้ามาชมได้นั้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายซื้อตั๋วหนัง โดยให้ผู้ที่สนใจติดตามทางเว็บไซต์ของเมเจอร์ฯ ว่าจะมีช่องทางใดและวิธีการใดที่ลูกค้าจะมีสิทธิ์เข้าร่วมชมในไดรฟ์อินได้ ซึ่งจะมีรายละเอียดในวันที่ 29 มิถุนายน ศกนี้


ทางด้านเอสเอฟ ก็ยึดทำเลใกล้ก้นแต่คนละฝั่งกับเมเจอร์ฯ คือที่ คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา (CDC) ทางเอส เอฟ โดยรับชมภาพยนตร์บนรถยนต์ส่วนตัว พร้อมนำเครื่องฉาย Laser Projector 4K เพื่อให้รับอรรถรสด้านภาพที่คมชัดมาตรฐานเดียวกับโรงภาพยนตร์ พร้อมทั้งการรับฟังเสียงภาพยนตร์ผ่านเครื่องเสียงวิทยุในรถยนต์ และการให้บริการระบบปรับอากาศแก่รถยนต์ทุกคันที่มาใช้บริการ โดยไม่จำเป็นต้องติดเครื่องยนต์ขณะชมภาพยนตร์อีกด้วย

ส่วนหนังที่ฉายของค่ายเอสเอฟจะใช้เพียงเรื่องเดียว คือ “Trolls World Tour” แม้จะเป็นเรื่องเดียว แต่ก็เป็นหนังใหม่ชนโรงที่ฉายอยู่ในโรงหนังที่ลงโปรแกรมฉายวันที่ 25 มิถุนายน มีเพียงวันละรอบเดียวเท่านั้น โดยที่ทางเอสเอฟระบุว่า ผู้สนใจสามารถตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ผ่านแอปพลิเคชัน SF Cinema, www.sfcinemacity.com พร้อมทั้งสามารถติดตามข่าวสารและสอบถามรายละเอียดได้ผ่านโซเชียลมีเดีย WeLoveSF หรือ #SFcinema

นายสุวิทย์กล่าวว่า สำหรับ CAT Drive-in Cinema เป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าที่ต้องการประสบการณ์ความบันเทิง ความสะดวกสบาย และความเป็นส่วนตัว เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่สำคัญ ภาพยนตร์ที่จะเข้าฉาย CAT Drive-in Cinema นั้นจะเป็นภาพยนตร์ที่ฉายพร้อมโรงภาพยนตร์ในเครือเอส เอฟ


*** สปอนเซอร์ร่วมวงเพียบ-ซ้ำกันก็ยังมี
แน่นอนว่าการลงทุนครั้งนี้ทั้งสองค่ายย่อมมีบรรดาสปอนเซอร์สินค้าและบริการต่างๆ เข้ามาร่วมสนับสนุนด้วย ทั้งในเรื่องของเงินลงทุน การประชาสัมพันธ์ การตลาด และเทคโนโลยีแต่ละกรณีไป

ค่ายเมเจอร์ฯ มีพันธมิตร เช่น แอร์เพย์, เครื่องดื่มตราช้าง, มายบาซิน บาย เกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า, ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มโค้ก และแมคโดนัลด์ เป็นต้น

นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า ลูกค้าที่เข้าชมยังได้รับสิทธิ์ต่างๆ มากมาย เช่น รับป็อปคอร์นขนาด 64 ออนซ์ 2 ถุง (เมื่อโชว์แอปพลิเคชันแอร์เพย์ในมือถือ) พร้อมเครื่องดื่มโคคา-โคลา ขนาด 32 ออนซ์ 2 แก้ว, ภาพถ่ายที่ระลึกในงาน, น้ำแร่ธรรมชาติตราช้าง, มายบาซิน จากเกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า และอีกมากมาย เสิร์ฟผ่านโรลเลอร์บอยแอนด์เกิร์ลสุดคูล นอกจากนั้น “แมคโดนัลด์” ยังมีบริการจัดส่งอาหารอย่างปลอดภัยภายในงานตลอดระยะเวลา 4 วันอีกด้วย

ส่วนทางด้าน เอสเอฟ ก็มี บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT จึงเป็นที่มาของชื่อโครงการว่า แคต ไดรฟ์-อิน ซินีมา (CAT Drive-in Cinema) และยังมีแอร์เพย์ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มโค้ก โตโยต้า เป็นต้น อีกทั้งผู้เข้าชมยังได้รับสิทธิ์อื่นอีก เช่น บริการป็อปคอร์น อาหาร เครื่องดื่มจาก เอส เอฟ พร้อมบูทกิจกรรมจากพาร์ตเนอร์ เช่น โค้ก ฯลฯ มาให้ร่วมสนุกอีกมากมาย

ทั้งแอร์เพย์ และโค้ก ก็เข้าร่วมเป็นสปอนเซอร์กับทั้งสองค่ายเช่นกัน


นางสาวพิมสิริกล่าวว่า การจัดไดรฟ์อินครั้งนี้ไม่ได้มุ่งหวังเรื่องของรายได้แต่อย่างใด แต่ต้องการจัดเพื่อกระตุ้นอารมณ์ผู้บริโภคให้มีความรู้สึกอยากกลับมาดูหนังที่โรงหนังอีก ไม่ต้องกังวลเรื่องโควิด-19 และเพื่อเป็นการสร้างแบรนด์ไปในตัวด้วย เช่นเดียวกับเป้าหมายของเมเจอร์ที่ทำเพื่อสร้างกระแสความต้องการให้คนกลับมาดูหนังที่โรงหนังมากขึ้นท่ามกลางโควิด-19 ที่ยังต้องเฝ้าระวังกันอยู่

เพราะเกือบ 2 เดือนที่ต้องปิดบริการโรงหนัง ไม่มีรายได้เกิดขึ้นเลย และแม้ว่าขณะนี้จะได้รับการผ่อนคลายให้เปิดบริการแล้วก็ตาม แต่ก็ขายบัตรได้ไม่เต็ทที่ ทำได้เพียง 25-50% เท่านั้นเองจากจำนวนที่นั่งที่มีแต่ละโรง

นางสาวพิมสิริกล่าวก่อนหน้านี้ช่วงที่ได้รับการผ่อนคลายให้เปิดบริการได้ต้นเดือนมิถุนายนนี้ว่า ช่วงที่เอส เอฟ ต้องปิดให้บริการชั่วคราวนานถึง 75 วันถือเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุด ตลอด 75 วันเป็นช่วงที่รายได้เท่ากับศูนย์ แต่ยังมีรายจ่ายฟิกซ์คอสต์ที่แต่ละเดือนอยู่ในหลัก 100 ล้านบาทขึ้นไป และหลังจากกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง เอส เอฟจะไม่มีการปรับราคาบัตรชมภาพยนตร์ขึ้น แม้ว่าจะมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากจำนวนรอบฉายที่ลดลงหรือหายไป 2 รอบ จากปกติโรงภาพยนตร์ 1 โรงจะฉายหนังอยู่ที่ 5 รอบ/วัน และจากการลดที่นั่งเหลือเพียง 25% เนื่องจาก เอส เอฟไม่มีนโยบายผลักภาระต้นทุนให้ลูกค้า


“แต่เราเชื่อว่าถ้าสถานการณ์คลี่คลายลงคนจะออกมาดูหนังมากขึ้นเช่นกัน หรือทั้งปีนี้อย่างน้อยที่สุดเอส เอฟอาจจะมียอดขายตั๋วหนังไม่ต่ำกว่า 50% จากปีที่แล้วที่ขายได้กว่า 20 ล้านใบ หรือช่วงที่ปิดให้บริการไปเกือบ 3 เดือน รายได้ติดลบไปประมาณ 30% เทียบกับปีก่อน” นางสาวพิมสิริกล่าว

นอกจากนี้ ตามแผนเดิมในปี 2563 นี้ เอสเอฟมีแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงไตรมาส 3 นี้ แต่แผนดังกล่าวต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และปีนี้เดิมคาดว่าจะเปิด 4 สาขา แต่คงเปิดสาขาใหม่ได้เพียง 2 สาขา คือที่ชลบุรีทั้ง 2 สาขา โดยเปิดให้บริการแล้ว 1 สาขาที่บ่อวิน อีก 1 สาขาจะเปิดปลายปี ส่งผลให้เวลานี้เอส เอฟมีทั้งหมด 65 สาขา

เช่นเดียวกับค่ายเมเจอร์ฯ ที่นายนรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ว่า ต้องมีการปรับแผนปรับกลยุทธ์กันใหม่หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยช่วงแรกจะเน้นหนังไทยเป็นหลัก ซี่งเมเจอร์ฯ มีหนังไทยในเครือรวมกว่า 20 เรื่องที่จะเข้าฉายในปีนี้ ซึ่งจะช่วยในส่วนของรายได้ต่างจังหวัดได้ดี ส่วนหนังต่างประเทศจะทยอยกลับมาตั้งแต่ไตรมาส 3 หลังจากที่เลื่อนฉายไปตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.เป็นต้นมา ทั้งนี้ มีเพียง Fast 9 เพียงเรื่องเดียวที่เลื่อนไปฉายในปีหน้า อีกทั้งตามแผนเน้นขยายสาขาในต่างหวัดเป็นหลัก รวมกว่า 40 จอในบิ๊กซี และเทสโก้โลตัสในปีนี้

“เมเจอร์เชื่อว่าในการที่เราสามารถยืดหยุ่นระยะเวลาของการฉายหนังแต่เรื่องได้ บวกกับรายได้ต่างประเทศจากการขายหนัง และรายได้ออนไลน์ จากนี้ไปจนสิ้นปีเมเจอร์จะยังประคองรายได้ได้ดีอยู่ หรือน่าจะทำได้เท่าปีก่อน มาจากโรงหนัง 70% อาหาร/เครื่องดื่ม 20% และอื่นๆ 10% ขณะที่ภาพรวมธุรกิจโรงภาพยนตร์จะเท่าปีก่อนเช่นกัน” นายนรุตน์กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น