xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : "ตั๋วบินบุฟเฟต์แอร์เอเชีย" เที่ยวทั่วไทยไม่อั้นยาวถึงปลายปี

เผยแพร่:



สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบิน จากมาตรการภาครัฐที่ปิดน่านฟ้าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แม้จะมีมาตรการผ่อนคลายให้เดินทางระหว่างจังหวัดภายในประเทศได้ ยังต้องจำกัดผู้โดยสารต่อเที่ยวบิน ส่งผลให้สายการบินมีรายได้ลดลง ทางรอดหนึ่งคือการระดมทุนเพื่อเป็นกระแสเงินสดหมุนเวียนในกิจการ เช่น การจัดโปรโมชัน การจำหน่ายบัตรกำนัล

ล่าสุด สายการบินไทยแอร์เอเชีย จัดรายการส่งเสริมการขาย “ตั๋วบินบุฟเฟต์แอร์เอเชีย” (Airasia Unlimited Pass) สำหรับเดินทางในประเทศไทยแบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง หลังแคมเปญนี้ประสบความสำเร็จกับแอร์เอเชีย มาเลเซีย โดยจำหน่ายจำนวนจำกัด 100,000 ราย ซึ่งจะเปิดขายในวันที่ 29 มิ.ย. เวลา 10.00 น. เดินทางระหว่างวันที่ 20 ก.ค. ถึง 17 ธ.ค. 2563

ก่อนหน้านี้ สายการบินแอร์เอเชีย มาเลเซีย ได้ออกแคมเปญบัตรโดยสารแบบ Unlimited Pass เพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายในประเทศ และสนับสนุนนโยบายรัฐบาลมาเลเซีย ที่ให้ลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยวในประเทศ โดยครอบคลุมจุดหมายปลายทาง 16 แห่ง จำหน่ายในราคา 399 ริงกิต (คิดเป็นเงินไทย 2,870 บาท) มาตั้งแต่วันที่ 11-13 มิ.ย. ที่ผ่านมา


นายรีอัด อัสมัต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินแอร์เอเชียมาเลเซีย กล่าวว่า ทางสายการบินยินดีที่จะเปิดให้บริการเที่ยวบินในประเทศอีกครั้ง ตามมาตรการผ่อนคลายของรัฐบาลมาเลเซีย พร้อมกับมาตรการจูงใจของภาครัฐ เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้ 1,000 ริงกิต (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 7,195 บาท) สำหรับค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในประเทศ ถึงธันวาคม 2021

ทั้งนี้ การฟื้นฟูการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นความพยายามร่วมกัน หวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน จากผู้ประกอบการโรงแรม ไปจนถึงบริษัทนำเที่ยว สำหรับบัตรโดยสาร Airasia Unlimited Pass เป็นข้อเสนอหลักที่นักเดินทางสามารถแลกตั๋วเครื่องบินไม่จำกัดภายในประเทศ กับจุดหมายปลายทางมากถึง 16 แห่ง

การเดินทางในประเทศ จะสามารถสนับสนุนชุมชนในท้องถิ่น และมีส่วนร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจของมาเลเซีย เมื่อการเดินทางท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง เราขอความร่วมมือแก่ผู้โดยสารทุกคนให้รักษาสุขอนามัยของตนเอง และสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งแอร์เอเชียยังได้ดำเนินการขั้นตอนให้บริการผู้โดยสารแบบไร้สัมผัส และมาตรการด้านความปลอดภัยแบบใหม่สำหรับผู้โดยสารทุกคน


สำหรับตั๋วบินบุฟเฟต์แอร์เอเชีย ทางไทยแอร์เอเชียยังไม่แจ้งราคาอย่างเป็นทางการ แต่คาดการณ์ว่าราคาใกล้เคียงกับแอร์เอเชีย มาเลเซีย โดยมีเงื่อนไขก็คือ ผู้ซื้อจะต้องเป็นสมาชิก BIG อายุ 12 ปีขึ้นไป สามารถใช้ได้ทุกที่นั่ง ทุกเที่ยวบิน (ปัจจุบันมี 23 จุดหมายปลายทาง) วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ ยกเว้นช่วงเวลาที่มีอัตราการเดินทางสูง เช่น วันหยุดยาว วันหยุดนักขัตฤกษ์

ราคาตั๋วบินแบบบุฟเฟต์ไม่รวมค่าภาษีสนามบิน (ปัจจุบันอยู่ที่ 50-100 บาทต่อเที่ยวบิน) และค่าธรรมเนียมอื่นๆ โดยจะต้องแลกเที่ยวบินล่วงหน้า 21 วันก่อนเดินทาง (ก่อน 26 พ.ย. 2563) ผ่านเว็บไซต์หรือโมบายแอปฯ Airasia เท่านั้น ซึ่งจะแสดงข้อความ "ส่วนลด 100%" ชื่อสมาชิกและผู้เดินทางจะต้องตรงกัน หากจองแล้วไม่เดินทางเกิน 3 ครั้ง ดีลนี้จะสิ้นสุดทันที

ความเสี่ยงของตั๋วบินบุฟเฟต์แอร์เอเชีย ผู้ซื้อจะต้องทำใจกรณีที่ถึงเวลาจองเที่ยวบินไม่สามารถค้นหาเที่ยวบิน "ส่วนลด 100%" ได้ เพราะมีคนจองเต็มโควตาแล้ว และช่วงวันหยุดยาวไม่สามารถใช้ได้ อีกทั้งความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ที่หลายฝ่ายกังวล ขึ้นอยู่กับมาตรการภาครัฐที่จะเปิดทำการบินได้หรือไม่


แต่สำหรับความคุ้มค่าของตั๋วบินบุฟเฟต์แอร์เอเชีย ขึ้นอยู่กับจะวางแผนการเดินทาง การลางาน และจองเที่ยวบินไป-กลับอย่างไรให้เหมาะสมที่สุด ที่สำคัญคนที่จองแต่ไม่เดินทางนั้น ทำได้ไม่เกิน 3 ครั้ง ป้องกันพวกที่จองแล้วไม่ได้บิน หากเทียบกับราคาบัตรโดยสารปัจจุบัน ไม่ได้มีราคาถูกเหมือนแต่ก่อน ใช้บริการประมาณ 3-4 เที่ยวบินก็ถือว่าถึงจุดคุ้มทุนแล้ว

จึงเหมาะสำหรับคนที่มีวันลาพักร้อน และใช้วันลาพักร้อนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ คนที่ต้องเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเป็นประจำ ส่วนคนที่เดินทางในช่วงวันศุกร์ตอนเย็นถึงวันอาทิตย์ อาจต้องใช้ความพยายามจองที่นั่งล่วงหน้าเพราะเป็นช่วงเวลาที่มีอัตราการเดินทางสูง ส่วนลด 100% อาจจะเต็ม รวมทั้งค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่ต้องจ่ายเพิ่มเติม

แม้การจำหน่ายตั๋วบินบุฟเฟต์ 100,000 ที่นั่ง แอร์เอเชียอาจมีรายได้เพียงแค่หลักร้อยล้านบาท เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดหมุนเวียนที่ต้องใช้อยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน แต่นโยบายของแอร์เอเชีย ที่ต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศในยามนี้ เราอาจจะได้เห็นโปรโมชันที่หลากหลายให้ลูกค้าสามารถเดินทางได้ในราคาที่ประหยัดขึ้นตามมาอีกก็ได้

(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)
กำลังโหลดความคิดเห็น