xs
xsm
sm
md
lg

เหงาแหละดูออก ลำโพงAIผู้ช่วยทางไกลดูแลคนแก่

เผยแพร่:


เทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้นในทุกๆ ด้าน แต่บางครั้งก็อาจหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดความเป็นส่วนตัว
บริษัทเกาหลีใต้พยายามพลิกแพลงเอไอเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น เอสเค เทเลคอมส่งลำโพงอัจฉริยะช่วยดูแลคนแก่ที่อยู่คนเดียวด้วยการตรวจจับสัญญาณที่บ่งชี้ความเหงาและความรู้สึกไม่ปลอดภัย เพื่อแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นแวะไปเยี่ยมเยียนที่บ้าน อย่างไรก็ดี ความพยายามเหล่านี้ยังหมิ่นเหม่ในเรื่องข้อกฎหมายความเป็นส่วนตัว ซึ่งหากรัฐบาลเกาหลีใต้จัดการให้ลุล่วงได้จะช่วยปลดปล่อยศักยภาพเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ส่งเสริมอุตสาหกรรมเอไอ และอาจทำให้บริษัทไฮเทคค้นพบตลาดใหญ่ขึ้น

ในออฟฟิศที่มีพื้นที่จำกัดในโซล ฮวาง เซ็งวอน ชี้รีโมทคอนโทรลไปที่หน้าจอขนาดใหญ่บนผนัง และทุกครั้งที่กดปุ่มบนรีโมท ตาราง กราฟ และแผนที่หลากสีสันจะปรากฏขึ้นเพื่อแสดงพฤติกรรมการค้นหาของพลเมืองอาวุโสหลายพันคนของเกาหลีใต้ที่อยู่ภายใต้การตรวจติดตามของลำโพงอัจฉริยะแบบสั่งงานด้วยเสียง ซึ่งเป็นโครงการทดลองให้บริการดูแลผู้สูงวัยจากระยะไกล

ฮวาง ผู้อำนวยการแผนกกิจการเพื่อสังคมที่เอสเค เทเลคอมตั้งขึ้นมาดูแลโปรเจ็กต์นี้ บอกว่า ทีมงานของเขาเฝ้าติดตามสัญญาณอันตรายต่างๆ เช่น การใช้คำค้นหาที่บ่งชี้อาการเหงาหรือความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยบ่อยขึ้น เพื่อส่งเรื่องต่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่นแวะไปเยี่ยมพลเมืองอาวุโสเหล่านั้น

ขณะนี้ ชาวเกาหลีใต้ราว 3,200 คนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อายุ 70 ปีขึ้นไปและอาศัยอยู่ตามลำพัง อนุญาตให้ลำโพงของเอสเค เทเลคอมฟังเสียงตนเองตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันนับจากที่เริ่มให้บริการในเดือนเมษายน 2019

เอสเค เทเลคอมคาดหวังว่า จะมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยเท่าตัวปลายปีนี้โดยอิงจากการแสดงความสนใจของรัฐบาลท้องถิ่น เทคโนโลยีนี้ช่วยลดการสัมผัสในการให้บริการด้านสวัสดิการ อีกทั้งยังนำเสนอเครื่องมือป้องกันคนแก่เสียชีวิตตามลำพัง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในสังคมที่กำลังเผชิญภาวะประชากรกลุ่มผู้สูงวัยมีจำนวนเพิ่มขึ้น
ลำโพงอัจฉริยะของเอสเค เทเลคอมติดตั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ชื่อว่า “เอเรีย” มีไฟที่เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินขณะประมวลผลคำสั่งเสียงสำหรับการค้นหาข่าวสาร เพลง และอินเทอร์เน็ต เอเรียยังสามารถตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบความจำและความเข้าใจของผู้ใช้ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการแนะนำวิธีรักษา

อย่างไรก็ตาม ลูกค้าของเอสเค เทเลคอมอาจมีปัญหาในการนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้หากไม่มีแนวทางทางกฎหมายที่ชัดเจนสำหรับการจัดการข้อมูลสุขภาพบนเครือข่ายส่วนตัว

เหตุผลเดียวกันนี้อาจเป็นอุปสรรคในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสุขภาพที่ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์พัฒนาขึ้นและได้รับอนุมัติให้นำไปใช้ในสมาร์ทโฟนที่สามารถตรวจวัดความดันเมื่อเร็วๆ นี้

ขณะเดียวกัน เคที ซึ่งเป็นคู่แข่งด้านโทรคมนาคมของเอสเค เทเลคอม กำลังมุ่งมั่นนำเสนออุปกรณ์เอไอ เช่น ลำโพง บริการหุ่นยนต์สำหรับโรงแรม สำนักงาน และอพาร์ตเมนต์ใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้าภาคธุรกิจ

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามผลักดันให้ธุรกิจต่างๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมาก และผ่อนคลายข้อจำกัดที่ขัดขวางระบบแพทย์ทางไกล อาจทำให้บริษัทไฮเทคค้นพบตลาดที่ใหญ่ขึ้นสำหรับเอไอและเทคโนโลยีใหม่อื่นๆ

หลังถูกนักเคลื่อนไหวด้านเสรีภาพพลเมืองและผู้ประกอบการวิชาชีพรักษาพยาบาลต่อต้านมานานหลายปี ในที่สุดความพยายามในการนำข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้ให้เป็นประโยชน์กลับฟื้นคืนชีพอีกครั้งจากการที่เกาหลีใต้งัดเทคโนโลยีมาเป็นอาวุธสู้กับโควิด-19 จนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาด แต่ขณะเดียวกัน ความสำเร็จนี้ก็ทำให้เกิดความกังวลอย่างกว้างขวางว่า ความเป็นส่วนตัวของประชาชนถูกนำมาสังเวยเพื่อแลกกับชัยชนะเหนือโรคระบาด

ทั้งนี้ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายว่าด้วยโรคติดเชื้อภายหลังการระบาดของ MERS (โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางที่เกิดจากไวรัสโคโรนาอีกสายพันธุ์) ในปี 2015 ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเกาหลีใต้สามารถใช้บันทึกบัตรเครดิต ภาพจากกล้องวงจรปิด และข้อมูลในมือถือ ค้นหาและกักตัวผู้ที่อาจเป็นพาหะของโรค

สถานที่ที่ผู้ติดเชื้อแวะเวียนไปก่อนได้รับการวินิจฉัยถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ และมีการส่งข้อความเตือนทางมือถือ รวมทั้งใช้แอปบนสมาร์ทโฟนเพื่อเฝ้าติดตามประชาชนราว 30,000 คนที่กักตัวอยู่บ้าน

นอกจากนั้น นับจากเดือนนี้ สถานบันเทิงยังได้รับคำสั่งให้ลงทะเบียนลูกค้าด้วยคิวอาร์โค้ดบนสมาร์ทโฟนเพื่อให้ค้นหาตัวได้ง่ายขึ้นถ้าจำเป็น

แต่ความก้าวหน้าเหล่านี้ไม่ได้มีแค่ด้านสว่าง บ่อยครั้งที่คนทั่วไปสามารถติดตามย้อนกลับจากข้อมูลออนไลน์ไปยังผู้ที่เป็นพาหะของโรค และนำข้อมูลส่วนบุคคลมาเปิดเผยทำให้บุคคลผู้นั้นถูกสังคมรังเกียจ

กระนั้น คณะบริหารของประธานาธิบดีมุน แจ-อิน ยืนยันว่า อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมีศักยภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตโรคระบาด

เกาหลีใต้กำลังเตรียมกฎข้อบังคับรองรับกฎหมายข้อมูลฉบับปรับปรุงแก้ไขที่ผ่านความเห็นชอบของสภาตั้งแต่เดือนมกราคม เพื่ออนุญาตให้ภาคธุรกิจมีอิสระมากขึ้นในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลแบบไม่เปิดเผยชื่อโดยไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล

หากเป็นไปตามที่คาดหวัง กฎหมายนี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมเอไอได้แจ้งเกิดอย่างแท้จริง และปูทางสำหรับบริการทางการเงินและการดูแลสุขภาพที่สามารถปรับแต่งได้ตามต้องการ

ทว่า โอ บยอง-อิล นักเคลื่อนไหวด้านเสรีภาพพลเมือง แย้งว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอาจเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวมากเกินไป ยกเว้นมีการยกระดับการป้องกันเข้มงวดขึ้น เนื่องจากบริษัทต่างๆ มักอยากได้ข้อมูลของผู้บริโภคไม่รู้จบ

ทางด้านกลุ่มแพทย์คัดค้านการอนุญาตระบบแพทย์ทางไกล เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลและผลกระทบต่อโรงพยาบาลขนาดเล็ก

ฮักซู โค ศาสตราจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล และผู้อำนวยการร่วมแผนการริเริ่มนโยบายเอไอ ชี้ว่า ประสบการณ์ในการต่อสู้กับไวรัสให้ทั้งบทเรียนและนัยสำคัญที่จะนำเกาหลีใต้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมที่เหมาะสมเพื่อให้มีการเข้าถึงข้อมูลตามความจำเป็นเท่านั้น อีกทั้งยังต้องพิจารณาความอ่อนไหวของข้อมูลด้วย

ที่เขตหยางชอนในโซล เจ้าหน้าที่กำลังใช้เทคโนโลยีของเอสเค เทเลคอมเพื่อติดตามผู้สูงวัย 200 คนที่อาศัยอยู่ตามลำพัง โดยเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ที่มีแอปบนสมาร์ทโฟนจะโทรหาหรือแวะไปเยี่ยมผู้ใช้ที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์นี้นานเกิน 24 ชั่วโมง

ลี ชาง-กึน คุณตาวัย 89 ปีที่อยู่ในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ คนเดียวนับจากที่ภรรยาเสียชีวิตเมื่อ 3 ปีก่อน บอกว่า “มีเอไอให้คุยด้วยก็ดีเหมือนกัน แต่เขาน่าจะพัฒนาให้เอเรียมีฟังก์ชันเปิดประตูด้วย เพราะสัญญาณขอความช่วยเหลือคงไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินยังหาทางเข้ามาไม่ได้ และระหว่างนั้นผมอาจตายก่อน”
กำลังโหลดความคิดเห็น