xs
xsm
sm
md
lg

ความในใจ “ฐากร” วันที่ก้าวลงจากเก้าอี้เลขาฯกสทช.

เผยแพร่:



“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เปิดใจกว่า 8 ปีบนเก้าอี้เลขาธิการกสทช. สุดภูมิใจสามารถสร้างองค์กรกสทช.จากที่ไม่มีคนรู้จัก ไม่เห็นความสำคัญ ให้กลายเป็นองค์กรแนวหน้าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พิสูจน์ชัดจากผลงานประมูลคลื่น 3G 4G และ 5G ที่ผ่าน มานำเงินเข้ารัฐกว่า 5 แสนล้านบาท พร้อมช่วยผ่าทางตันแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล หาเงินเยียวยาคืนช่องทีวีด้วยการแลกเปลี่ยนคลื่น 700 MHzกับโอเปอเรเตอร์มือถือยืดเวลาชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz เป็นทางออกแบบวิน-วินได้ประโยชน์ทุกฝ่าย เผยความท้าทายกสทช.ยุคหน้ามีอีกหลายภารกิจทั้งการประมูลดาวเทียม สร้างดาต้า เซ็นเตอร์ ขับเคลื่อน OTT ด้วยคนรุ่นใหม่ และการสร้าง 5G ให้เกิดเป็นรูปธรรม

“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถึงเวลาก้าวลงจากเก้าอี้เลขาธิการกสทช.ที่ดำรงตำแหน่งมาเป็นเวลาเกือบ 9 ปีจากวาระที่มีอายุ 5 ปี สามารถทำงานได้ 2 วาระ แต่ในปี 2563 นี้เป็นปีที่ “ฐากร” ต้องเกษียณอายุราชการเนื่องจากอายุครบ 60 ปีในวันที่ 9 ก.ย. 2563 ซึ่งก่อนหน้านี้ “ฐากร” ได้ยื่นจดหมายลาออกต่อประธานกสทช.ว่าต้องการออกจากตำแหน่งก่อนในวันที่18 พ.ค. 2563 ทว่าประธานกสทช.ได้ขอให้ทำงานจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 เพื่อดำเนินการประชุมเรื่อง การเยียวยาคลื่น 2600 MHz ให้กับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ให้เรียบร้อยเสียก่อน

“ผมขอลาออกก่อนเกษียณอายุเล็กน้อย ด้วยก่อนเกิดวิกฤตโควิดตั้งใจว่าจะเดินทางไปงานรับปริญญาของลูกชายที่สหรัฐอเมริกา หลังจากได้รับเกียรติและความไว้วางใจจาก กสทช.ให้ทำงานในตำแหน่งนี้มาเป็นเวลากว่า 8 ปี 5 เดือน 25 วัน”

***ผู้ปลุกปั้น กสทช.ให้ฉายแสง

หากถามถึงความภาคภูมิใจตลอดระยะเวลาทำงานในตำแหน่งเลขาธิการกสทช.คืออะไร “ฐากร” ระบุว่าคือการทำให้องค์กรกสทช.ซึ่งแต่ก่อนเป็นหน่วยงานที่ยังไม่มีใครรู้จัก ไม่ได้อยู่ในสายตาของใคร กลายเป็นองค์กรที่ใครๆก็รู้จักในฐานะองค์กรที่สำคัญของประเทศ และเป็นองค์กรหนึ่งที่สำคัญระดับชาติเหมือนธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะเป็นองค์กรขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการประมูลคลื่นความถี่ 3G,4G และ 5G เพื่อนำคลื่นให้อุตสาหกรรมใช้งาน และนำเงินเข้ารัฐ

“ในภาพรวม เราภาคภูมิใจได้ว่าในห้วงระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาเราจัดสรรคลื่นความถี่ได้เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบันและยังรองรับเทคโนโลยีใหม่ในอนาคตอีกด้วย เป็นผลให้ผู้ประกอบการสามารถนำคลื่นความถี่ไปใช้งานจำนวน มากถึง 3,420 MHz โดยเป็นคลื่นความถี่ย่านต่ำและย่านกลางจำนวน 620 MHz และคลื่นความถี่ย่านสูงจำนวน 2,600 MHz ซึ่งเป็นปริมาณสูงกว่าที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้ให้ข้อเสนอ แนะไว้ อีกทั้งนำส่งรายได้เข้ารัฐได้มากถึง 5 แสนล้าน บาท ที่สำคัญเรายังจัดการประมูลคลื่นความถี่ที่สามารถใช้งานด้วยเทคโนโลยี 5G ได้เป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย”
ขณะที่ในวงการอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล แม้ว่าการประมูลทีวีดิจิทัลเมื่อปลายปี 2556 ถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญหน้าหนึ่งของการเปิดเสรีช่องทีวีในประเทศไทย การประมูลประสบความสำเร็จอย่างมาก สร้างรายได้จากการประมูลทั้งสิ้นกว่า 5 หมื่นล้านบาทจากราคาขั้นต่ำที่ประเมินไว้เพียง 1.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการช่องรายการที่เดิมคาดหวังว่าจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการเป็นเจ้าของช่องรายการเอง ประสบกับภาวะขาดทุน เนื่องจากรายได้จากค่าโฆษณาที่เป็นรายได้หลักได้ถูกแบ่งไปให้กับแพลตฟอร์มอื่น เช่น Facebook และ Youtube อีกทั้งมีจำนวนผู้ประกอบการช่องรายการซึ่งมากกว่าเดิมถึง 3 เท่า และต่างเข้ามาแข่งขันเพื่อแย่งชิงเค้กค่าโฆษณาก้อนเดียวกันที่มีขนาดเล็กลงอีก

จนกระทั่งผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัลรวม 11 ราย ยื่นฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครอง และมีการยื่นข้อเรียกร้องต่อหัวหน้า คสช. ให้เข้ามาแก้ไขปัญหาในที่สุด “ฐากร” จึงมีการตั้งคำถามว่าเนื่องจากทีวีดิจิทัลที่ให้บริการอยู่นี้ใช้คลื่นความถี่ 700 MHz ที่หลายประเทศสามารถนำมาใช้ให้บริการโทรคมนาคมได้ด้วย จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะลดสัดส่วนการใช้งานในการให้บริการทีวีดิจิทัล เพื่อนำคลื่นความถี่บางส่วนมาใช้ในงานกิจการโทรคมนาคม

สถานการณ์ประจวบเหมาะกับที่ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือซึ่งประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ได้ทำหนังสือถึงหัวหน้า คสช. เพื่อขอให้ขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลออกไปเป็น 15 ปี เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการโทรคมนาคม ซึ่ง จากการประชุมของทุกฝ่ายทั้ง กสทช. ผู้ประกอบการ ธุรกิจทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และรัฐบาล ได้ข้อสรุปว่าให้ธุรกิจทีวีดิจิทัลคืนคลื่นความถี่ 700 MHz บางส่วนมาให้ กสทช. และขยายเวลาการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็น 10 ปี หากรับเงื่อนไขที่จะเข้ารับการจัดสรรคลื่นความถี่ 700MHz ที่ได้รับคืนมาจากทีวีดิจิทัล ทำให้ กสทช.มีเงินเข้ามาเยียวยาให้กับทีวีดิจิทัลที่ไม่สามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้


***’ชี้ความท้าทายรอกสทช.ชุดใหม่ผลักดัน

“ตอนนี้ทุกสายตา ล้วนเพ่งมาที่กสทช.ตอนนี้ใครจะมาเป็นกสทช. เป็นยากมาก เพราะใครๆก็อยากเป็นทั้งนั้น แต่อย่าลืมว่าความท้าทายและภารกิจของ กสทช.ยังไม่จบเพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่กสทช.ชุดใหม่ต้องขับเคลื่อนประเทศต่อไป”

กสทช.ยังมีงานที่ต้องเดินหน้าอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้เกิดการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน, การประมูลคลื่นความถี่ 3400-3700 MHz ,การเปิดให้จองตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมที่กำลังจะมีการเปิดเสรี ,การทำดาต้า เซ็นเตอร์ ที่สามารถแบ่งปันข้อมูลมาใช้ประโยชน์ต่อประชาชนได้รวมไปถึงการขับเคลื่อน 5G ให้เป็นรูปธรรม เพราะประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่มี 5G และในสถานการณ์โควิด-19 ก็พิสูจน์ให้เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า 5Gสามารถช่วยด้านสาธารณสุขในสถานการณ์ที่ผู้คนไม่สามารถพบปะกันได้

“คนไทยนอกจากเก่งด้านการแพทย์แล้ว คนไทยเองก็ยังมีแพลตฟอร์มที่ใช้งานได้ดีไม่แพ้ชาติใด เช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะมีการสร้างแพลตฟอร์ม OTT เป็นของเราเอง และต่างชาติต้องมาใช้ของเรา ด้วยการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้คิดค้นและพัฒนารูปแบบ OTT แบบใหม่ขึ้นมา โดยมีผู้ใหญ่อย่างเราๆให้การสนับสนุน”

*** ชงเรื่องเข้าบอร์ด 5G ลดความเหลื่อมล้ำสังคม

การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติที่จะเกิดขึ้นในเดือนก.ค.นี้ “ฐากร” ได้ฝากประเด็นสำคัญที่มั่นใจว่าคณะกรรมการ 5G แห่งชาติที่มาจากหน่วยงานทุกภาคส่วนของประเทศจะทำให้เกิดขึ้นได้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมในประเทศโดยเร็วที่สุด

ด้วยการเสนอให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสำหรับการทำงานจากที่บ้าน (Work from Thailand to the Whole World) โดยเบื้องต้นจะมีการจัดตั้งกองทุน OTT 5G ประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินทุนจะมาจาก 2 ส่วนคือ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน USO)ของ กสทช.50% ที่เหลือ 50% มาจากเงินกองทุนจากคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เพื่อต้องการให้คนรุ่นใหม่ นักศึกษา หรือ มหาวิทยาลัยที่มีไอเดียในการทำแพลตฟอร์ม OTT ของประเทศมีเงินทุนในการคิดค้นและพัฒนา เพื่อให้ OTT ของประเทศไทยกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ต่างชาติสามารถนำไปใช้งานและสร้างรายได้เข้าประเทศด้วย

ดังนั้นด้วยสภาพแวดล้อมของประเทศไทยที่เหมาะสม จะช่วยจูงใจให้บุคลาการจากบริษัทไอทีข้ามชาติเข้ามาพำนักและทำงานในประเทศไทย เพราะในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการทำงานรูปแบบใหม่ ทำงานที่ไหนก็ได้ ซึ่งสิ่งที่จำเป็นในการหาสถานที่ทำงานคือต้องเป็นประเทศไม่เสี่ยง และหากป่วย แพทย์ของไทยก็เก่งในอันดับต้นๆของโลก แถมประเทศไทยก็มี 5G ก่อนใคร เมื่อมีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในไทย ก็สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้น รัฐบาลจะต้องสนับสนุนในการออกเวิร์คเพอร์มิตที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

“ผมเป็นเด็กต่างจังหวัดธรรมดาคนหนึ่ง เริ่มต้นชีวิตรับราชการด้วยต้นทุนเพียงสองอย่างคือความรู้และความต้องการที่จะเห็นการพัฒนาของประเทศไทย ผมเชื่อว่าคนเราถ้าตั้งมั่นจะทำอะไรสักอย่างแล้ว ต้องกัดไม่ปล่อยและทำให้สำเร็จไม่ว่าจะเผชิญกับอุปสรรคความยากลำบากระหว่างทางใดก็ตาม ผมยึดมั่นหลักนี้เสมอในชีวิตรับราชการ มาจนถึงวันนี้ ผมถือว่าตัวเองมาได้ไกลกว่าที่คาดหวังไว้มาก ที่สำคัญอย่างยิ่งคือภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสทำงานที่มีความสำคัญต่อประเทศ และมีส่วนช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องคนไทย”เลขาธิการกสทช.กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น