xs
xsm
sm
md
lg

ไทยออยล์วางแผนใช้เงิน 5 ปี 4.7 พันล้านดอลล์ เดินหน้าต่อยอด CFP รุกธุรกิจปิโตรเคมี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ไทยออยล์วางแผนใช้เงิน 5 ปีนี้ 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อใช้ลงทุนโครงการ CFP และคืนเงินกู้ แย้มไตรมาส 2-4 นี้ความเสี่ยงขาดทุนสต๊อกน้ำมันลดหลังราคาน้ำมันดิบโลกขยับตัวสูงเพิ่มขึ้น พร้อมเดิมหน้าโครงการ Beyond CFP เพื่อต่อยอดปิโตรเคมี ลดความผันผวนจากการพึ่งพาธุรกิจการกลั่น


นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนการใช้เงินเพื่อลงทุนและชำระคืนเงินกู้ในช่วง 5 ปี (ปี 2563-67) รวม 4,695 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น เงินลงทุน 3,486 ล้านเหรียญสหรัฐ และชำระคืนเงินกู้ 1,209 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเม็ดเงินดังกล่าวจะมาจากเงินสดและกระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงานราว 2,634 ล้านเหรียญสหรัฐ และการออกหุ้นกู้ที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ในวันนี้ (10 มิ.ย.) ราว 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2568 จากปัจจุบันที่มีวงเงินหุ้นกู้คงเหลือเพียง 3 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยในปีนี้บริษัทฯ มีแผนใช้เงินรวม 1,826 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการใช้สำหรับลงทุน 1,788 ล้านเหรียญสหรัฐ และชำระคืนเงินกู้ 38 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่จะใช้ในโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ซึ่งเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นน้ำมันจากเดิม 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน มูลค่าราว 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าราว 39% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566


นายวิรัตน์กล่าวต่อไปว่า จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่มีราคาลดลงต่ำกว่า 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลจากต้นปี 2563 อยู่ที่ 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้บริษัทขาดทุนสต๊อกน้ำมันรวม 1 หมื่นล้านบาท ในไตรมาส 1/2563 ก่อนที่ราคาน้ำมันจะฟื้นตัวมาอยู่ระดับ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ไทยออยล์ต้องปรับลดกำลังการกลั่นลงเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ในเดือน เม.ย. จากเดิมบริษัทฯ ใช้อัตราการกลั่นเกิน 100% ลดลงเหลือ 95% ของกำลังการผลิตรวม 2.75 แสนบาร์เรล/วัน โดยมีการปรับสัดส่วนการผลิตน้ำมันอากาศยาน (เจ็ต) จากเดิมมีสัดส่วน 20% เหลือเพียง 7-10% โดยปรับเปลี่ยนไปผลิตน้ำมันดีเซล เบนซิน และวัตถุดิบปิโตรเคมี


ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ก็บริหารต้นทุนการผลิต ก็มองหาแหล่งน้ำมันดิบที่มีราคาถูกเข้ามามากขึ้น และเน้นการขายในประเทศที่มีราคาสูง และส่งออกไปอินโดจีนที่ยังมีความต้องการใช้ ตลอดจนลดต้นทุนการดำเนินงานลงราว 20-30% จากระดับปกติเพื่อเพิ่มมาร์จิ้นให้ดีขึ้น โดยโครงการใดที่ไม่เร่งด่วนก็จะชะลอการลงทุนออกไป


ปัจจุบันหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้น เชื่อว่าแนวโน้มราคาน้ำมันหลังจากนี้จะค่อยๆ ฟื้นตัว ทำให้ในไตรมาส 2-4 ของปีนี้จะพลิกมีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน รวมถึงแนวโน้มของกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ก็จะมีทิศทางที่ดีขึ้นด้วย


นายวิรัตน์กล่าวต่อไปว่า บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาการลงทุนต่อยอดโครงการ CFP หรือ Beyond CFP โดยนำแนฟทาที่เป็นผลพลอยได้จากการกลั่นมาต่อยอดสู่ธุรกิจอะโรเมติกส์ หรือโอเลฟินส์ จากปัจจุบันที่บริษัทมีกำลังการผลิตในสายอะโรเมติกส์เพียงพาราไซลีน (PX) ราว 5.4 แสนตัน/ปี เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในธุรกิจ จากปัจจุบันที่สัดส่วนกำไรมาจากธุรกิจการกลั่น 70% โดยวางเป้าหมายในอนาคต สัดส่วนกำไรมาจากธุรกิจการกลั่นลดลงจาก 70% เหลือ 40% ธุรกิจปิโตรเคมี 40% และอีก 20% มาจากธุรกิจไฟฟ้า 15% และธุรกิจใหม่ 5%
กำลังโหลดความคิดเห็น