xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) “ปลากัดไทยพื้นบ้าน” สวยคลาสสิค ราคาเหยียบหมื่น ต่างชาตินิยม ส่งขายทั่วโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


“นายมนัส ช่องเมือง” และ “นางสาวจตุพร ช่องเมือง” เจ้าของร้าน “ร้านอาติ – ปลากัดไทยพื้นบ้าน”
“ปลากัดไทยพื้นบ้าน” นับเป็นหนึ่งในปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมในอันต้นๆ ในการนำมาเลี้ยง ด้วยรูปร่างและสีสันที่สวยงามอย่างมีเอกลักษณ์ จึงทำให้ปลากัดไทยได้ถูกยกย่องให้กลายเป็น “สัตว์น้ำประชำชาติไทย” อีกทั้งปลาชนิดนี้ ยังเป็น 1 ใน 10 ปลาสวยงาม ที่มีปริมาณการซื้อ –ขายมากที่สุด ทั้งในและต่างประเทศ จากสถิติข้อมูลการส่งสัตว์น้ำของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พ.ศ.2561 มีการส่งออกปลากัด ถึง 1,415,241 ตัว คิดเป็นมูลค่าราว 11 ล้านกว่าบาท ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ปลากัด ได้ขึ้นแท่นเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ

“ปลากัดสายพันธุ์อีสานหางลาย” (กีต้าร์) ปลากัดไทยพื้นบ้านสายพันธุ์เด่นของทางร้าน
หนึ่งในร้านขายปลากัดไทยพื้นบ้าน ที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักของเหล่าเซียนปลากัดทั้งไทยและต่างประเทศ ก็คือ “ร้านอาติ – ปลากัดไทยพื้นบ้าน” ร้านปลากัดที่เกิดขึ้นจากความชื่นชอบในสีสันที่สวยงามของปลากัดที่มีมาตั้งแต่วัย โดยมี “นายมนัส ช่องเมือง” และ “นางสาวจตุพร ช่องเมือง” เป็นเจ้าของกิจการ ที่ได้เพาะพันธุ์ปลากัดไทยพื้นบ้านส่งขายทั่วโลก พร้อมกับส่งเข้าประกวดจนกวาดรางวัลมาจากหลายๆ เวทีการประกวด

ปลากัดสายพันธุ์มหาชัย” พบได้ที่ ต.มหาชัย จ.สมุทรสาคร
สำหรับแรงบันดาลใจก่อนการเปิดร้านนั้น เกิดขึ้นจากเมื่อครั้งสมัยเด็กๆ ชอบไปช้อนปลากัดในธรรมชาติมาเลี้ยงไว้เพื่อดูเล่น เนื่องจากเป็นปลาที่มีความสวยงาม เลี้ยงง่าย สายพันธุ์แรกที่เลี้ยงนั้นเป็นปลากัดสายพันธุ์อีสาน เพราะเป็นคนจังหวัดขอนแก่น และได้เลี้ยงมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันแต่เป็นการเลี้ยงแบบไม่จริงจัง จนกระทั้งในปี พ.ศ.2560 จึงได้ลองส่งกัดที่เลี้ยงไว้เข้าประกวดจนได้รับรางวัล และมีคนมาขอซื้อ หลังจากนั้นจึงได้ตั้งเพจเฟสบุ๊คขึ้น เพื่อขายผ่านทางออนไลน์ ซึ่งได้มีการนำรูปปลากัดไทยพื้นบ้านที่เพาะเลี้ยงไว้มาโพสต์ขาย และได้รับความสนใจจากลูกค้าชาวต่างชาติ โดยลูกค้ารายแรกเป็นชาวสหรัฐอเมริกา และได้ขายปลากัดไปในราคาพันกว่าบาท

รูปร่างและสีสันที่สวยงามอย่างมีเอกลักษณ์ จึงทำให้ถูกยกย่องเป็น “สัตว์น้ำประชำชาติไทย”
หลังจากได้มีการโพสต์ขายผ่านทางออนไลน์ ก็มีลูกค้าให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และยังได้มีการส่งปลากัดเข้าประกวด จนกวาดรางวัลมาจากหลายๆ เวทีการประกวดปลากัดไทยพื้นบ้าน จึงทำให้ทางร้านเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในแวดวงของเหล่าเซียนปลากัด มีลูกค้าแวะเวียนมาไม่เคยขาดทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยทางร้านขายปลากัดในราคาเริ่มต้นที่ ร้อยกว่าบาท ไปจนถึงราคาเกือบหลักหมื่นบาท โดยราคาขึ้นอยู่กับความสวยงามของปลา ซึ่งราคาสูงสุดที่เคยขายได้นั้น อยู่ที่ 8,000 บาท เป็น “ปลากัดสายพันธุ์อีสานหางลาย” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “กีต้าร์” ซึ่งเป็นปลากัดไทยพื้นบ้านเฉพาะถิ่น ที่สามารถพบได้ที่บึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬแค่เพียงที่เดียวเท่านั้น

 “ร้านอาติ – ปลากัดไทยพื้นบ้าน” ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร โซนขายสัตว์เลี้ยง
ลูกค้าที่สนใจสามารถมาชมปลาได้ที่หน้าร้านได้ โดยร้านจะเปิดขายที่ตลาดนัดสวนจตุจักร บริเวณสามแยกโซนชายสัตว์เลี้ยง เปิดขายทุกวัน หรือจะชมรูปผ่านเพจเฟสบุ๊คของทางร้าน หากลูกค้าสนใจแล้วก็สามารถซื้อผ่านทางออนไลน์ได้ ทางร้านมีบริการจัดส่งทั้งในและต่างประเทศ และหากเป็นลูกค้าเด็กๆ ที่สนใจและมีงบไม่มาก ทางร้านก็มีปลากัดราคาย่อมเยาขายให้ ซึ่งทางร้านถือเป็นการสอนให้เด็กๆ รู้จักการอนุรักษ์ปลากัดไทยพื้นบ้านไปในตัวด้วย


ในส่วนปลากัดไทยพื้นบ้านที่โดดเด่นและขึ้นชื่อของทางร้านนั้นก็จะเป็น “ปลากัดสายพันธุ์อีสานหางลาย” ที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากปลากัดป่าภาคอีสานทั่วไป คือพื้นหางจะมีเส้นลายขีดสีดำตามขวางเหมือนใยแมงมุม เป็นปลากัดไทยที่พบได้ที่บึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬแค่เพียงที่เดียวเท่านั้น และ “ปลากัดสายพันธุ์มหาชัย” ลักษณะเด่นของปลากัดป่ามหาชัยคือแก้มมีขีดสีเขียวหรือฟ้าสองขีด มีเกล็ดแวววาวสีเขียวเรียงตัวเหมือนเมล็ดข้าวโพด และเป็นปลากัดไทยที่พบได้ที่ตำบลมหาชัย จังหวัดสมุทรสาครแค่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น นอกจานั้นก็ยังมีปลากัดไทยพื้นบ้านชนิดอื่นๆ จำหน่ายด้วย อาทิ ปลากัดป่าภาคใต้ , ปลากัดป่าภาคตะวันออก , ปลากัดป่าภาคกลางและภาคเหนือ


ใครจะรู้ว่าปลาตัวเล็กๆ ที่มีสีสันสวยงามชนิดนี้ จะมีผู้คนให้นิยมไปทั่วทุกมุมโลก ธุรกิจการเพาะพันพันธุ์ “ปลากัดไทยพื้นบ้าน” จึงนับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ เพราะไม่ใช่แค่การค้าขายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการอนุรักษ์ควบคู่ไปด้วย ทำให้ลูกหลานรุ่นหลังได้มีโอกาสเห็นสายพันธุ์ปลากัดไทยไปอีกนานแสนนาน

หนึ่งในรางวัลชนะเลิศ จากเวทีการประกวดปลากัดไทยพื้นบ้าน

สนใจติดต่อ
โทร.083 - 3638861
FB - Manut Chongmueang (TiBetta Fish)

** * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุดและร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *



SMEs manager
กำลังโหลดความคิดเห็น