xs
xsm
sm
md
lg

‘ฐากร’ เตือนรัฐบาล ‘OTT’ จะกลืนกินเศรษฐกิจชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



‘ฐากร’ ส่งสัญญาณเตือนรัฐบาล รับมือวิกฤติโควิด หวั่นเกิดการล่าอาณานิคมด้านเศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่ผ่านระบบ OTT ที่มีบริการหลากหลายรูปแบบตอบสนองชีวิตวิถีใหม่ ชี้ถึงเวลาพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เสนอรัฐบาลเร่งทำ 3 เรื่องป้องกัน OTT กลืนกินเศรษฐกิจไทย

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงวิกฤติการณ์เชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลกในขณะนี้ว่า การแพร่เชื้อโควิดทำให้พฤติกรรมของประชาชนและสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าวิถีชีวิตและกิจกรรมเศรษฐกิจของไทยจะเปลี่ยนแปลง ด้วยเทคโนโลยี 5Gในอีก 4-5 ปีหรือในช่วงปี 2567-2568 มาวันนี้เกิดขึ้นจริงเร็วกว่าที่คิดหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบ Tele-work หรือทำงานที่บ้าน (work from home) ที่ใช้ระบบสื่อสารความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ การประชุมทางไกลแบบ real-time และ interactive พร้อมกันหลายคนโดยไม่ต้องอยู่ที่เดียวกัน ตอบสนองนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ระบบโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospitals) และ การรักษาทางไกล (Tele-medicine) การศึกษาออนไลน์ (Online education)

‘นอกจากคนเริ่มตอบรับชีวิตดิจิทัลที่เร็วกว่าที่คาดไว้มากแล้ว โควิดยังทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การล่าอาณานิคมยุคใหม่ ที่ไม่ใช่การใช้กำลังเข้ายึดประเทศ แต่เป็นการล่าอาณานิคมด้วยเทคโนโลยี ผ่านบริการ OTT’

OTT (Over The Top) หรือบริการสื่อสาร แพร่ภาพ และกระจายเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต ที่ปัจจุบันทำรายได้มหาศาลเมื่อเทียบกับเงินลงทุนจำนวนเพียงน้อยนิด เพราะอาศัยวิ่งบนเครือข่ายมีสายและเครือข่ายไร้สายโทรศัพท์มือถือที่ผู้ให้บริการลงทุนหลายแสนล้านบาท เกือบจะเรียกได้ว่าทำธุรกิจจับเสือมือเปล่า OTT ที่โด่งดังในประเทศไทยประกอบไปด้วย YouTube, Facebook, Grab, Lazada, Shopee, Line ซึ่งแพลตฟอร์ม OTT เหล่านี้เป็นของต่างชาติทั้งสิ้น

‘การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ แทบจะทั้งหมดขับเคลื่อนผ่าน OTT ไม่ว่าจะซื้อของออนไลน์ก็ผ่านลาซาด้า อาลีบาบา อะเมซอนถ้าจะหาความบันเทิงสนุกสนานดูหนังก็เน็ตฟลิกซ์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูป ถ้าเป็นเรื่องอาหารก็สั่งแกร็บ ไลน์แมน ทั้งหมดเป็นแพลตฟอร์ม OTT ที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศ ถ้าคนไปใช้บริการก็ต้องจ่ายเงินผ่านไปยังต่างประเทศเกือบทั้งหมด วันนี้รัฐบาลอัดฉีดเงินให้ประชาชน อยากถามว่าประชาชนใช้จ่ายเงินที่เป็นการซื้อสินค้าภายในประเทศตัวเอง โดยไม่ผ่าน OTT มีกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราคิดว่าประชาชนได้เงิน 5,000 บาท ซื้ออาหารผ่าน การสั่งแกร็บก็เป็น OTT ถ้าซื้อสินค้าผ่านลาซาด้าก็เป็น OTT ดูเฟซบุ๊ก ยูทูป ดูหนังเน็ตฟลิกซ์ ก็เป็น OTT ทั้งหมด’

วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น ทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ทั้งหมดเลยคนจะหันมาใช้ด้านดิจิทัลมากยิ่งขึ้น พอจะซื้อของก็ไม่ต้องใช้เงินสด แต่ใช้ผ่านวีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ด ซึ่งก็เป็นของสหรัฐอเมริกา หรือของต่างชาติอยู่ดี ทั้งหมดเป็นการก้าวสู่ สังคมไร้เงินสด หรือ cashless society ตามการปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัล

ฐากร ระบุว่าอยากฝากเตือนรัฐบาลไว้ 3 เรื่องก็คือ 1.ต้องรีบกำกับดูแลบริการ OTT อย่างเร่งด่วน เพราะถ้าไม่รีบกำกับ OTT ถึงรัฐบาลจะเติมเงินลงไปมากเท่าไหร่ก็ตาม แต่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวยากมาก เพราะเงินจะไหลออกต่างประเทศหมด ตามพฤติกรรมประชาชนที่ตอบรับวิถีดิจิทัลที่รวดเร็วจนคาดไม่ถึง

‘เพราะฉะนั้นต้องรีบตั้งคณะกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยตรง จะผ่านคณะกรรมการดีอี ผ่านกระทรวงดีอีเอส รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ก็ต้องรีบแล้ว กสทช.เป็นหน่วยงานที่ดูแลได้เพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ คิดแบบเดิมๆไม่ได้แล้ว โควิดทำให้คนหันมาใช้ดิจิทัลเร็วกว่าที่คิดไว้อีก 5 ปี เรียนรัฐบาลว่าเรื่อง OTT ต้องรีบกำกับแล้วต้องเป็นนโยบายผ่านการขับเคลื่อนร่วมกัน’

2.นอกจากต้องเร่งกำกับ OTT แล้วประเทศไทยจะต้องมีแพลตฟอร์ม OTT เป็นของตัวเองหรือที่เรียกว่า National OTT Platform ในขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศสิงคโปร์มีแกร็บ มาเลเซียมีไอฟลิกซ์ อินโดนีเซียก็มี Go-Jek แพลตฟอร์มดังกล่าวนอกจากทำรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในประเทศแล้วยังสกัดไม่ให้เงินรั่วไหลออกนอกประเทศอีกด้วย

และ3.ถ้าไทยยังไม่มี OTT ระดับชาติเป็นของตัวเอง รัฐบาลควรสนับสนุนและยกระดับการซื้อขายสินค้าตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายผ่านจุฬาฯมาร์เก็ตเพลสหรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน เพราะเป็นการซื้อขายตรงโดยไม่ต้องผ่าน OTT ให้ขยายไปทั่วประเทศ จะช่วงป้องกันเงินรั่วไหลออกนอกประเทศ

‘ในช่วงโควิด ถ้ายังไม่มีแพลตฟอร์มของเราเองตอนนี้ รัฐบาลควรให้ความสำคัญ สนับสนุนยกระดับจุฬาฯมาร์เก็ตเพลส มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน ให้เป็นแพลตฟอร์มระดับชาติไปก่อน ทำอย่างนี้เงินที่เติมให้ประชาชนเป็นแสนล้านบาท ก็จะหมุนวนอยู่ในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจแข็งแรง ไม่อย่างนั้นเงินที่เติมให้ประชาชน 3 เดือนก็จะไหลออกนอกประเทศผ่าน OTT เกือบทั้งหมด ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจของเรา’

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของ OTT ในขณะนี้สำนักงาน กสทช. เสนอร่างเอกสาร OTT Initiative ในเวทีสภาหน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมของประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Telecommunication Regulators’ Council: ATRC) เพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจ OTT ในภูมิภาคอาเซียนให้เกิดการแข่งขันและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคนี้ เอกสารอยู่ระหว่างการปรับปรุงโดยจะมีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชน ผู้ให้บริการ OTT และหน่วยงานกำกับดูแลในแต่ละประเทศอาเซียน ในเดือนสิงหาคม 2563 นี้ ประเทศไทย โดย สำนักงาน กสทช. เป็นเจ้าภาพ คาดว่าจะสามารถมีผลบังคับใช้ไม่เกินต้นปี 2564

เนื้อหาในร่างเอกสารที่เสนอจะเน้นการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติ และร่วมกันส่งเสริมและกำกับดูแลธุรกิจ OTT ที่ให้บริการในประเทศสมาชิกอาเซียน ในด้านการป้องกันการใช้ช่องทาง OTT กระทำผิดกฎหมาย และการส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือโครงข่ายที่จำเป็นสำหรับธุรกิจ OTT ในอาเซียน

หลังจากนั้นแล้ว ประเทศไทยควรจะเริ่มสร้าง National OTT Platform สำหรับสินค้าและบริการที่จะเกิดขึ้นใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงจากเดิมหลังโควิด หลายประเทศทำมานานแล้ว เช่น จีน ที่สร้างแพลตฟอร์มอาลีบาบา (Alibaba)เป็นแพลตฟอร์มทำได้แทบจะทุกอย่างและแทนที่กิจกรรม Offline Economy เกือบหมดไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างกัน ไปจนถึงชำระเงิน และส่งออก นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ญี่ปุ่น มี Line ที่เริ่มจากส่ง Text แทน SMS ทุกวันนี้ดู TV ได้ ใช้เป็นกระเป๋าเงิน ชำระเงินตามจุดต่างๆ และซื้อสินค้าและบริการในชีวิตประจำวันได้ครบจบในแพลตฟอร์มเดียว สำหรับประเทศอื่นๆในอาเซียนก็จะมีบริการ OTT ของตนเอง อย่างสิงคโปร์ที่มีแกร็บ มาเลเซียมีไอฟลิกซ์ อินโดนีเซียมีOTTชื่อGo-Jek จะมีแต่ประเทศไทยที่ไม่มีแพลตฟอร์ม OTT ระดับชาติเป็นของตัวเอง

‘วันนี้คำถามของผมคือถ้าเราคิดว่าเงินที่รัฐบาลเติมลงไปเพื่อให้ขับเคลื่อนหมุนเวียนเศรษฐกิจของประเทศ แต่มันหายออกไปนอกประเทศผ่าน OTT เห็นชัดได้ว่าถ้าเราไม่แก้ปัญหา OTT ประเทศเราจะตกเป็นเมืองขึ้นของโลกเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เป็นการล่าอาณานิคมยุคใหม่ในโลกดิจิทัลด้วยการใช้ OTT เป็นเครื่องมือนี่แหละ’ ฐากรกล่าวในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น