xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายไทยต่ำสุดในรอบ 10 ปี ภัยแล้งยังกระหน่ำต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ปิดฉากไปแล้วสำหรับฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายปี 2562/63 ที่ 57 โรงงานน้ำตาลเเริ่มดำเนินการเปิดหีบตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 จนปิดหีบเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2563 รวมเป็นเวลา 116 วัน ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบของไทยรวมทั้งสิ้น 74.89 ล้านตัน ลดลงจากฤดูการผลิตปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 130.97 ล้านตันอ้อย คิดเป็น 43% ส่งผลให้การผลิตน้ำตาลลดลงเหลือ 8.27 ล้านตัน จากฤดูที่ผ่านมาผลิตน้ำตาลได้ 14.58 ล้านตัน นับเป็นสถิติที่ปริมาณอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยกลับมาลดต่ำสุดในรอบ 10 ปี


ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบหนีไม่พ้นภัยแล้งที่เริ่มส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า ประกอบกับพื้นที่เพาะปลูกลดลงจากทิศทางราคาอ้อยขั้นต้นที่ชาวไร่ได้รับตกต่ำต่อเนื่องจึงทำให้ชาวไร่บางส่วนหันไปปลูกพืชอื่นที่ราคาดีทดแทน ซึ่งมีการประเมินกันคร่าวๆ ว่าผลผลิตอ้อยที่ลดลงถึง 56 ล้านตันนั้นคิดเป็นมูลค่าที่หายไปจากระบบประมาณ 50,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เป็นห่วงโซ่อุปทานทั้งโมลาส (กากน้ำตาล) การผลิตไฟฟ้าจากใบอ้อย เป็นต้น คาดว่าไทยจะสูญเสียรายได้ในระบบรวมประมาณ 100,000 ล้านบาท

เมื่อย้อนไปดูอดีตผลจากการที่รัฐได้กำหนด พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายมาบริหารจัดการได้ส่งเสริมให้ตัวเลขการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยฤดูการผลิตปี 2539/50 หรือเมื่อ 25 ปีก่อนไทยมีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 6 ล้านไร่ มีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพียง 56.24 ล้านตัน ปริมาณน้ำตาลทราย 5.80 ล้านตัน จากนั้นได้ไต่ระดับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยผลผลิตอ้อยมาแตะระดับ 100 ล้านตันครั้งแรกในฤดูการผลิตปี 2555/56 ผลผลิตน้ำตาลทรายอยู่ที่ 10.02 ล้านตัน และผลผลิตอ้อยมาทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 134.93 ล้านตันในฤดูการผลิตปี 60/61 โดยมีปริมาณน้ำตาลทรายผลิตได้ 14.68 ล้านตัน และมีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ที่ 9.89 ล้านไร่

สำหรับฤดูการผลิตปี 2563/64 ที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ขณะนี้ปัจจัยภัยแล้งยังคงกดดันต่อเนื่องส่งสัญญาณถึงปริมาณการเพาะปลูกลดลงจากพื้นที่ภาคอีสานที่ชาวไร่ส่วนใหญ่แทบไม่ได้ปลูกอ้อยข้ามแล้งเลย ขณะที่การบำรุงตออ้อยเก่ายังคงมีไม่มากด้วยเหตุผลของราคาอ้อยที่ตกต่ำช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นจะต้องลุ้นว่าฝนจะมาเร็วหรือไม่เป็นสำคัญเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่การปลูกอ้อยอยู่นอกระบบชลประทาน

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยใหม่เข้ามาเพิ่ม นั่นคือ การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ Covid-19 ที่ขณะนี้ได้แพร่ระบาดไปหลายประเทศทั่วโลกและรวมถึงไทย จนทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีทิศทางจะชะลอตัวอย่างหนักส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) มีการซื้อขายตลาดล่วงหน้าราคากลับมาตกต่ำอีกครั้ง

ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกในช่วงต้นปีได้ไต่ระดับสูงไปกว่า 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ เริ่มรูดลงมาอยู่ที่เฉลี่ย 10-11 เซ็นต์ต่อปอนด์ในปัจจุบันซึ่งเป็นราคาที่สอดรับกับทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกที่ตกต่ำ ทำให้บราซิลผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่สุดของโลกลดการนำน้ำตาลไปผลิตเอทานอลเพื่อเป็นเชื้อเพลิงมาผลิตน้ำตาลแล้วส่งออกเพิ่มขึ้นด้วยราคาที่ถูกลงจากการอาศัยความได้เปรียบของค่าเงินเรียลอ่อนค่าลงอย่างหนักจาก 3.8 เรียลต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 5.11 เรียลต่อดอลลาร์สหรัฐ

หากราคาน้ำตาลตลาดโลกยังคงเคลื่อนไหวในระดับดังกล่าวต่อเนื่องย่อมส่งผลให้การคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูหีบปี 63/64 ต้องตกต่ำตามไปด้วยแน่นอน ซึ่งราคาอาจไม่ต่างจากฤดูหีบปีที่ผ่านมาซึ่งมีราคาเพียง 750 บาทต่อตันซึ่งยังไม่รวมกับเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิตที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการช่วยเหลืออีก 10,000 ล้านบาทที่ขณะนี้ชาวไร่ทั่วประเทศต่างรอคอยว่าจะเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้เร็วๆ นี้หรือไม่ ซึ่งหากระดับราคาอ้อยตกต่ำอีกปีปัญหาการเรียกร้องเพิ่มปัจจัยการผลิตก็มีแนวโน้มจะต้องตามมาอีกระลอก


ขณะเดียวกัน ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยยังมีความท้าทายเพิ่มขึ้นจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 11 มิ.ย. 2562 ที่กำหนดให้โรงงานน้ำตาลทรายลดการรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ ซึ่งกำหนดเริ่มต้นตั้งแต่ฤดูหีบที่ผ่านมา (ปี 2562/2563) ที่โรงงานจะรับอ้อยไฟไหม้ได้ไม่เกิน 30% ต่อวัน ฤดูการผลิตปี 2563/2564 โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 20% ต่อวัน และในฤดูการผลิตปี 2564/2565 จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเพียง 0-5% ต่อวัน ซึ่งจะทำให้อ้อยไฟไหม้หมดไปภายใน 3 ปี ทั้งนี้ก็เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ที่ไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ชาวไร่ได้หารือกับภาครัฐและขอลดเป้าหมายเป็นอ้อยสดเข้าหีบโรงงานน้ำตาลเท่ากับอ้อยไฟไหม้ที่ 50% ต่อ 50% เนื่องจากต้นทุนการตัดอ้อยในไร่อ้อยของเกษตรกรชาวไร่อ้อยยังคงสูงและขาดแคลนแรงงาน การซื้อรถตัดอ้อยยังมีมูลค่าสูงไม่คุ้มค่า ขณะที่สถานการณ์ราคาอ้อยก็ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตอ้อย โดยล่าสุดฤดูหีบปี 62/63 ที่เพิ่งปิดหีบไปถือเป็นปีแรกที่ทั้งภาครัฐ โรงงานและชาวไร่อ้อยได้ร่วมกันลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ลงนั้น พบว่ามีปริมาณอ้อยสดเข้าหีบปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 37.70 ล้านตัน คิดเป็น 50.34% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ขณะที่มีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ 37.18 ล้านตัน หรือคิดเป็น 49.65% ดังนั้นฤดูหีบปี 63/64 คงต้องติดตามใกล้ชิดว่าที่สุดแล้วประเด็นเหล่านี้ทุกฝ่ายจะเข้ามาร่วมกันแก้ไขให้เป็นไปตามเป้าหมายได้อย่างไร

ทั้งนี้ ไวรัส COVID-19 ที่เป็นปัจจัยลบใหม่ต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยแต่ก็ยังมีข้อดีอยู่บ้างที่ทำให้ไทยไม่อยู่ในสถานการณ์ปริมาณน้ำตาลทรายเพื่อการบริโภคในประเทศตึงตัวจากที่บางฝ่ายมีการกังวลก่อนหน้านี้ เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลทรายลดต่ำลงกว่าที่คาดการณ์ไว้พอสมควรทำให้โรงงานซึ่งมีการซื้อขายราคาน้ำตาลไปล่วงหน้าแล้วบางส่วนอาจกระทบได้ ประกอบกับช่วงฤดูร้อนความต้องการน้ำตาลทรายจะมีปริมาณสูงขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะประเภทเครื่องดื่ม แต่เมื่อเศรษฐกิจไทยชะลอตัวและสงกรานต์นี้ก็ไม่มีงานรื่นเริงใดๆ จึงทำให้การบริโภคมีทิศทางที่ชะลดตัวไปด้วย

โดยเรื่องนี้ นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเองก็ออกมายืนยันว่าไม่ต้องกังวลเพราะรัฐได้มีการจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายไว้บริโภคในประเทศปี 62/63 จำนวน 2.5 ล้านตันหรือ 25 ล้านกระสอบ และยังมีปริมาณสำรองกันไว้อีก 2 ล้านตันซึ่งมั่นใจจะเพียงพอต่อความต้องการบริโภคของคนไทยโดยไม่ขาดแคลน เนื่องจากผลกระทบของไวรัส COVID-19 ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอตัว โดยคาดจะทำให้การบริโภคน้ำตาลทรายของไทยน่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.4 ล้านตัน

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายปัจจุบันยังถูกต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมเอทานอลที่วันนี้กลายเป็นผู้มีบทบาทในการช่วยเสริมปริมาณความต้องการเจลล้างมือและแอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อ COVID-19 ไม่เพียงพอ โดยการปลดล็อกจากภาครัฐให้สามารถนำเอทานอลส่วนเกินจากการใช้ในภาคเชื้อเพลิงมาจำหน่ายให้ผู้ค้าที่จะนำไปผลิตเจลและแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อในปริมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งโรงงานน้ำตาลเองก็ยอมรับว่าผลผลิตอ้อยที่ลดลงล่าสุดทำให้ปริมาณโมลาส (กากน้ำตาล) ที่จะเป็นวัตถุดิบการผลิตเอทานอลลดตามไปด้วย แต่ภาพรวมปริมาณเอทานอลนั้นยังคงมีสต๊อกอยู่สูงในช่วงที่ผ่านมา


อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายปัจจุบันนับเป็นสินค้าภาคเกษตรที่มีมูลค่าโดยรวมกว่า 2 แสนล้านบาทและผลผลิตน้ำตาลมากกว่า 2 ใน 3 ได้ทำการส่งออกจนทำให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล รัฐบาลเองได้มองเห็นศักยภาพที่จะนำไปสู่การพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bioeconomy ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในการเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้จัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ (2561-2570) ไปเมื่อ 17 กรกฎาคม 2561 โดยมีมาตรการต่างๆ สนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อหวังที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของไทยซึ่งรวมถึงอ้อย แต่ดูเหมือนว่าเวลาที่ผ่านมาแล้วปีกว่าการลงทุนตามแผนที่วางไว้นับว่าคืบน้อยมาก ด้วยปัจจัยหลักคือตลาดยังไม่ใหญ่พอ เทคโนโลยียังต้องพึ่งต่างชาติ และปีนี้เมื่อมีสถานการณ์ COVID-19 มาซ้ำเติมการลงทุนยิ่งคงต้องพับแผนกันยาว


อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายฤดูผลิตปี 2563/64 ยังคงต้องฝ่าพายุที่รุนแรงอีกครั้งท่ามกลางความไม่แน่นอนของภัยแล้งว่าจะรุนแรงมากน้อยเพียงใดและ COVID-19 จะยืดเยื้อไปถึงไหนที่จะมีผลต่อราคาตลาดโลกและยังมีค่าเงินบาทที่เป็นปัจจัยชี้วัดอีก ฯลฯ เรียกว่าสารพัดปัจจัยลบที่ต้องรอลุ้นให้เกษตรกรและโรงงานฝ่าด่านไปให้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น