xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ตั้งวอร์รูมดูแลสินค้าให้เพียงพอความต้องการ เจ้าสัวซีพีสั่งเฉียบห้ามขึ้นราคาเด็ดขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“จุรินทร์” ถก กรอ.พาณิชย์ตั้งวอร์รูมเกาะติด 7 สินค้าและบริการ ดูแลให้มีเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน พร้อมช่วยแก้ปัญหาอุปสรรคที่มี เผยส่วนใหญ่เป็นเรื่องขนส่งที่ต้องแก้อันดับแรก เล็งประสานคมนาคมผ่อนปรน “ซีพี” ยันไข่ไก่ ไก่ หมู มีเพียงพอ ระบุเจ้าสัวสั่งเฉียบขายราคาเดิม ห้ามขึ้น เพื่อช่วยประชาชน สมาคมอาหารสำเร็จรูประบุยังเพิ่มกำลังผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้อีก ปลากระป๋องด้วย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ร่วมกับผู้แทนจากภาคเอกชน ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และสมาคมอื่นๆ เช่น สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย สมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย สมาคมขนส่งโลจิสติกส์ไทย สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ ว่า ได้หารือสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงที่ต้องเผชิญกับไวรัสโควิด-19 โดยได้มีความเห็นร่วมกันให้มีการตั้งวอร์รูมสำหรับ 7 กลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์และเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ทำงาน ประเมินสถานการณ์ และหาข้อสรุปร่วมกันในภาคส่วนของการผลิต การแปรรูป การตลาด รวมทั้งการกระจายสินค้า ซึ่งรวมถึงบริการในรูปแบบใหม่ เช่น Delivery หรือออนไลน์ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อสนองต่อความต้องการของประชาชนในประเทศขณะนี้ และให้ประเมินว่ามีสินค้าใดหรือไม่ที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกันชนเพื่อที่จะรองรับสถานการณ์หากความต้องการมีเพิ่มมากขึ้น

สำหรับวอร์รูม 7 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มอาหารสำเร็จรูป ประกอบด้วย อาหารกระป๋อง อาหารพร้อมรับประทาน บะหมี่สำเร็จรูป น้ำดื่ม น้ำผลไม้ เครื่องดื่ม เป็นต้น 2. กลุ่มข้าว 3. กลุ่มปศุสัตว์ ประกอบด้วย ไก่ ไข่ หมู กุ้ง 4. กลุ่มผลไม้ 5. กลุ่มวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารสัตว์ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด และถั่วเหลือง 6. กลุ่มเวชภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งเจลแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัย และ 7. บริการ เช่น การขนส่งและโลจิสติกส์ต่างๆ และการให้บริการ delivery ส่งอาหารถึงบ้าน เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัญหาในเบื้องต้นที่เห็นตรงกันของทุกกลุ่มที่จะต้องเร่งแก้ไข คือ การขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งเข้าสู่โรงงาน หรือขนส่งจากโรงงานไปยังศูนย์กระจายสินค้าจนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค ซึ่งจะต้องขอให้กระทรวงคมนาคมช่วยผ่อนคลายกฎระเบียบบางอย่างเพื่อให้สามารถทำได้สะดวกและคล่องตัวขึ้น ทั้งในเรื่องของกฎระเบียบ และเรื่องเงื่อนเวลา

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า สินค้าปศุสัตว์ ทั้งไข่ไก่ ไก่ และหมู ผลผลิตของไทยมีเพียงพอต่อความต้องการ อย่างไข่ไก่ ผลิตได้วันละ 40 ล้านฟอง หรือปีละ 16,400 ล้านฟอง ผลผลิตเกินความต้องการ โดยราคาหน้าฟาร์มอยู่ที่ฟองละ 2.70 บาท ต้นทุน 2.60 บาท ผู้ผลิตมีกำไรน้อยมาก แต่ที่ราคาขายปลีกสูงขึ้นเพราะมีพ่อค้าหน้าใหม่ไปซื้อจากแผงค้าปกติไปขายทำกำไร ส่วนตลาดส่งออก อย่างฮ่องกง ลดลงมาก มีเพียงสิงคโปร์ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนหมู ผลิตได้วันละ 5 ล้านกิโลกรัม (กก.) และไก่ วันละ 9 ล้าน กก. ถือว่ามีเพียงพอความต้องการเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเครือซีพีที่ดูแลการค้าส่งค้าปลีก ทั้งแม็คโคร และเซเว่นอีเลฟเว่น ยืนยันว่ามีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้สั่งการให้สินค้าที่จำหน่ายยืนราคาเดิม ห้ามปรับขึ้นราคาเพื่อช่วยเหลือประชาชน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมอาหารสำเร็จรูปไทย กล่าวว่า อาหารสำเร็จรูปที่ประชาชนซื้อกันมาก คือ อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยผู้ผลิตยืนยันว่ายังเพิ่มการผลิตได้อีกมาก เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขณะนี้ผลิตได้วันละ 10 ล้านซอง สามารถเพิ่มเป็นวันละ 15 ล้านซองได้ โดยใช้บริโภคในประเทศกว่า 80% ส่งออกกว่า 10% และปลากระป๋อง ใช้กำลังการผลิตเพียง 50-60% ยังเพิ่มได้อีก โดยวัตถุดิบที่มีอยู่ขณะนี้เพียงพอได้อีกหลายเดือน

นายชุมพล สายเชื้อ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามีการห้ามและกำหนดเวลาให้รถบรรทุกวิ่งเข้ากรุงเทพฯ และพื้นที่ชั้นในเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการขนส่งสินค้าเข้าสู่ห้างต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ชั้นใน แต่ในภาวะที่ประชาชนต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องการให้ภาครัฐผ่อนคลายกฎระเบียบนี้ ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าได้มีการผ่อนผันแล้ว 1 เดือน แต่หากยืดเยื้อก็ขอให้ผ่อนผันออกไปอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น