xs
xsm
sm
md
lg

หัวเว่ยโบ้ยสหรัฐฯ บังคับติด "ประตูหลังที่ระบบ" หวังสอดแนมเครือข่ายมือถือทั่วโลก

เผยแพร่:




หัวเว่ย (Huawei) ไม่ทน แจงยิบกรณีสื่ออเมริกันตีพิมพ์บทความเรื่องประตูหลังหรือแบคดอร์ (backdoor) ในระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของหัวเว่ย ระบุหัวเว่ยทำไปตามกฏหมายสหรัฐฯที่กำหนดให้ต้องติดตั้ง backdoor เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบอาชญากรรม ย้ำหัวเว่ย "ไม่เคยและไม่มีวัน" ที่จะสอดแนมเข้าแทรกแซงเครือข่ายโทรคมนาคมใด เพราะหัวเว่ย "ไม่มีความสามารถ" ในการทำเช่นนั้น


หลังจากหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่าหัวเว่ยมี backdoor หรือประตูหลังของระบบที่สามารถเข้าถึงเครื่องมือของผู้ให้บริการเครือข่ายทั่วโลกได้มานานนับทศวรรษ รายละเอียดถูกส่งไปยังอังกฤษและเยอรมนีตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 หลังจากที่สหรัฐฯพบการลักลอบเข้าถึงเครือข่าย 4G ในประเทศมาตั้งแต่ปี 2009


ในรายงานย้ำว่า backdoor ถูกติดเข้าในระบบตามกฏหมายจริง ทั้งในสถานีฐาน เสารับสัญญาณ และระบบสลับสัญญาณ แต่ปัญหาคือเจ้าหน้าที่สหรัฐฯยืนยันว่า backdoor ที่พบนั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้หัวเว่ยเป็นผู้เข้าถึง โดยบอกว่าการกำหนดราคาเครื่องมืออุปกรณ์เครือข่ายให้ไม่สูงนั้นเป็นตัวล่อใจให้หลายประเทศเลือกซี้ออุปกรณ์หัวเว่ย ซึ่งต้องแลกกับการให้หัวเว่ยเข้าถึงข้อมูลในเครือข่ายได้


สัปดาห์ที่ผ่านมา หัวเว่ยออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับการกล่าวหา โดยบอกว่าข้อหานี้เลื่อนลอยและบิดเบือนจากความจริง


ในแถลงการณ์อธิบายชัดว่า backdoor ที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ อ้างถึงนั้น เป็นเพียง “อินเตอร์เฟสสำหรับใช้เพื่อการสกัดกั้นทางกฏหมาย” ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่จำเป็นต้องมีตามข้อบังคับทางกฎหมาย และได้รับการใส่เข้ามาในระบบเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบอาชญากรรมต่างๆ ซึ่งโดยปกติแล้วจะถูกส่งมอบโดยผู้ให้บริการเครือข่าย ไม่ใช้ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์


หัวเว่ยยังแอบตบหน้าสหรัฐฯ ด้วยการใช้พื้นที่ในแถลงการณ์บรรยายหลักฐานความตั้งใจสอดแนมของสหรัฐฯที่ถูกแฉมาตลอดหลายปี โดยบอกว่าจากข้อมูลที่สโนว์เดนได้เปิดเผยออกมาทำให้พบว่า สหรัฐฯ ได้มีการสอดแนมเข้าถึงเครือข่ายโทรคมนาคมทั่วโลก และคอยล้วงข้อมูลในประเทศอื่นๆ มาเป็นระยะเวลานาน ยังมีรายงานของสำนักข่าววอชิงตันโพสต์ ที่พูดถึงกรณีที่หน่วย CIA ได้ใช้บริษัทลับในการล้วงข้อมูลของประเทศอื่นเป็นเวลาหลายทศวรรษ


หัวเว่ยอ้างว่าข้อมูลของสโนว์เดนและวอชิงตันโพสต์ ถือเป็นหลักฐานเพิ่มเติมในประเด็น backdoor บนอุปกรณ์หัวเว่ยได้เป็นอย่างดี โดยทางการสหรัฐฯไม่ออกมาให้ความเห็นใดเพิ่มเติมกับแถลงการณ์นี้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษอย่างบอริส จอห์นสัน ได้อนุมัติการติดตั้งเครือข่าย 5G ในประเทศเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงเตือนของสหรัฐฯที่หวังให้อังกฤษแบนอุปกรณ์เครือข่ายของหัวเว่ย






ผู้สนใจ สามารถอ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มจากหัวเว่ยได้จากด้านล่าง


“จากกรณีที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้กล่าวหาหัวเว่ยต่อสาธารณะชนในข้อหาสอดแนมผู้ใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์มือถือด้วยอุปกรณ์ของหัวเว่ย ซึ่งรายงานจากสำนักข่าวเดอะวอลล์สตรีท เจอร์นัล (The Wall Street Journal) เมื่อวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ได้ยกระดับการแบนหัวเว่ยขึ้นอีกขั้น เพื่อชักจูงให้ประเทศพันธมิตรเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย แท้จริงแล้ว “ประตูหลังของระบบ (backdoor)” ที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ อ้างถึงนั้น เป็นเพียง “อินเตอร์เฟสสำหรับใช้เพื่อการสกัดกั้นทางกฏหมาย” ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่จำเป็นต้องมีตามข้อบังคับทางกฎหมาย และได้รับการใส่เข้ามาในระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบอาชญากรรมต่างๆ ซึ่งโดยปกติแล้วจะถูกส่งมอบโดยผู้ให้บริการเครือข่าย ไม่ใช้ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์


ตามหลักฐานจากข้อมูลที่สโนว์เดนได้เปิดเผยออกมาทำให้พบว่า สหรัฐฯ ได้มีการสอดแนมเข้าถึงเครือข่ายโทรคมนาคมทั่วโลก และคอยล้วงข้อมูลในประเทศอื่นๆ มาเป็นระยะเวลานาน โดยรายงานของสำนักข่าววอชิงตันโพสต์ (Washington Post) เมื่อต้นสัปดาห์นี้ที่พูดถึงการที่หน่วย CIA ได้ใช้บริษัทลับในการล้วงข้อมูลของประเทศอื่นเป็นเวลาหลายทศวรรษยิ่งถือเป็นหลักฐานเพิ่มเติมในประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดี


ข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ ที่มีต่อหัวเว่ยโดยใช้การสกัดกั้นตามกฏหมายเป็นเพียงการกล่าวหาอย่างเลื่อนลอย พวกเขาไม่มีข้อมูลหลักฐานและตรรกะที่ยอมรับได้ในวงการความปลอดภัยทางไซเบอร์ หัวเว่ยไม่เคยและไม่มีวันที่จะสอดแนมเข้าแทรกแซงเครือข่ายโทรคมนาคมใดๆ และหัวเว่ยไม่มีความสามารถในการทำเช่นนั้น หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล (The Wall Street Journal) นั้นทราบเป็นอย่างดีว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถมอบหลักฐานใดๆเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหานี้ได้ แต่ยังคงเลือกที่จะกล่าวซ้ำถึงข้อโกหกจากทางการสหรัฐฯในประเด็นนี้ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าเดอะวอลล์สตรีท เจอร์นัลนั้นมีอคติกับหัวเว่ยและยังทำลายความน่าเชื่อถือของสำนักพิมพ์เอง
บทบาทของหัวเว่ยในฐานะผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคม คือการส่งมอบอุปกรณ์เครื่องมือตามมาตรฐาน 3GPP/ETSI เช่นเดียวกับผู้จัดจำหน่ายรายอื่นๆ เราปฏิบัติตามมาตรฐานการสกัดกั้นตามกฏหมายของอุตสาหกรรม อย่างเช่น มาตรฐาน 3GPP’s TS 33.107 สำหรับเครือข่าย 3G และ TS 33.128 สำหรับเครือข่าย 5G สิ่งนี้คือจุดที่แสดงถึงความรับผิดชอบของหัวเว่ยในด้านการเคารพต่อประเด็นเรื่องการสกัดกั้นทางกฎหมาย


การดำเนินงานตรวจสอบควบคุมที่แท้จริง รวมถึงการใช้อินเตอร์เฟซการสกัดกั้นทางกฏหมายนั้น สามารถดำเนินการได้โดยผู้ให้บริการเครือข่ายและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในด้านการกำกับดูแลเท่านั้น โดยที่อินเตอร์เฟซสำหรับการสกัดกั้นนั้นจะอยู่ในสถานที่ที่ได้รับการป้องกันจากฝั่งผู้ให้บริการ และจะดำเนินการด้วยพนักงานที่ผ่านการรับรองจากรัฐบาลในประเทศนั้นๆ โดยผู้ให้บริการเครือข่ายจะมีกฏปฏิบัติงานที่เข้มงวดในการให้บริการและคอยดูแลอินเตอร์เฟซดังกล่าว โดยที่หัวเว่ยไม่ได้พัฒนาหรือผลิตเครื่องมือการสกัดกั้นใดๆ นอกเหนือไปจากนี้


หัวเว่ยเป็นเพียงผู้จัดจำหน่ายเครื่องมือเท่านั้น และด้วยบทบาทนี้ การเข้าถึงเครือข่ายของลูกค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงการที่ลูกค้าไม่รู้เห็นจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เราไม่มีความสามารถที่จะหลบเลี่ยงผู้ให้บริการเครือข่าย หรือเข้าถึงการควบคุม และนำข้อมูลจากเครือข่ายออกไปได้โดยไม่มีการตรวจจับจากระบบไฟร์วอลล์และระบบรักษาความปลอดภัยของระบบ ในความเป็นจริงแล้ว แม้แต่หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล เองก็ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ นั้นไม่สามารถให้รายละเอียดที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมสำหรับข้อกล่าวหาเรื่อง “ประตูหลังของระบบ (backdoor)” ที่ว่านี้ได้


หัวเว่ยยึดถือเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์และการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง สำหรับความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ นั้น ถือเป็นการละเลยการลงทุนจำนวนมหาศาล, แนวทางการปฏิบัติที่ดีระหว่างหัวเว่ยและผู้ให้บริการเครือข่ายในด้านการจัดการความเสี่ยงความปลอดภัยทางไซเบอร์ เรามีความไม่พอใจเป็นอย่างมากที่รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามที่จะกล่าวหาหัวเว่ยในประเด็นด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ หากสหรัฐฯ สามารถค้นพบจุดที่หัวเว่ยละเมิดดังที่กล่าวหาจริง เราร้องขอให้สหรัฐฯ เปิดเผยหลักฐานที่มีรายละเอียดชัดเจนอีกครั้ง แทนการใช้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือในการแพร่กระจายข่าวลือ


ทั้งนี้ ผู้ให้บริการเครือข่าย บริษัทโทรคมนาคมดอยช์ เทเลคอม (Deutsch Telecom) และโวดาโฟน (Vodafone) ยังยืนยันว่า ไม่พบสิ่งไม่ถูกต้องใดๆ ในการทำงานร่วมกับหัวเว่ย”


กำลังโหลดความคิดเห็น