xs
xsm
sm
md
lg

“สมาร์ทโฮม-สมาร์ทโซลูชั่น” คมอาวุธเปิดศึกเครื่องใช้ไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้จัดการรายวัน360 – เทรนด์สังคมที่เปลี่ยนไป “สมาร์ทโฮม-สมาร์ทโซลูชั่น” คึกคัก เป็นเทรนด์แรงแห่งตลาดรับไลฟ์สไตล์ และสังคมเมืองที่เปลี่ยนไป เครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวรับศึก หวังเจาะตลาดและปั้นยอดขาย

จากแนวโน้มที่จำนวนประชากรของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน 5 ประเทศหลัก คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และมาเลเซีย จะมีประชากรรวมกันมากกว่า 640 ล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2573 (ปี ค.ศ.2030) จากที่ขณะนี้ปี 2563 ที่มีประชากรประมาณ 520 ล้านคน ซึ่งนับเป็นตลาดที่ใหญ่แห่งหนึ่งของโลกในอนาคต

ประกอบกับจำนวนประชากรผู้สูงวัยที่จะมีมากขึ้นทั่วโลก อย่างรวดเร็ว สวนทางกับอัตราส่วนประชากรวัยทำงานที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ของประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาอยู่ในทุกวันนี้

รวมไปถึงธุรกิจก่อสร้างที่กำลังเติบโตทั่วโลก ในปี ค.ศ. 2017-2030 จะมีมูลค่ามากกว่า 1,750 ล้านล้านเยน หรือเท่ากับอัตรา CAGR 3.9% ซึ่งหากมองเฉพาะ 5 ประเทศหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามที่กล่าวมาข้างต้น จะมีเพิ่มเป็น 4.41 ล้านหลังในปี ค.ศ.2021 เลยทีเดียว

ดังนั้น 3 ปัจจัยหลักนี้ จะกลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป สอดคล้องกับการที่ผู้ประกอบการเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างก็จำเป็นต้องปรับตัวรวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมในการนำเสนอเพื่อตอบรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นและไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ด้วย เพราะเมื่อประชากรคนสูงวัยมากขึ้น การช่วยเหลือตัวเองก็ลำบากมากขึ้น จำเป็นต้องหาสิ่งอำนวยความสะดวก และระบบโซลูชั่นที่สามารถดูและทำงานง่าย เพราะอัตราส่วนของคนทำงานที่ลดลง การที่จะหาคนมาดูแลผู้สูงวัยนั้นก็ยากตามไปด้วย รวมถึงการสร้างบ้านที่จะมีมากขึ้น ไลฟ์สไตล์ในบ้านก็จะเป็นที่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นโซลูชั่นในการตกแต่งและใช้งานด้วย

เทรนด์ต่างๆเหล่านี้จึงทำให้สมาร์ทโซลูชั่นในบ้าน ในอาคาร มาแรงและเติบโตตามไปด้วยนั่นเอง จึงทำให้แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างก็มีความเคลื่อนไหวในตลาดนี้



“พานาโซนิค” โหมหนักสมาร์ทโซลูชั่น

มร.ไดโซะ อิโตะ (Mr. Daizo Ito) รองประธานกรรมการอาวุโส และผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดต่างประเทศ บริษัท พานาโซนิค คอร์ปอเรชั่น ไลฟ์ โซลูชั่นส์ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ในปี 2563 บริษัท พานาโซนิค คอร์ปอเรชั่น ไลฟ์ โซลูชั่นส์ ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดสร้างการเติบโตในธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์สำหรับที่อยู่อาศัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมี 4 กลุ่มหลักคือ เฮ้าส์ซิ่งหรือที่อยู่อาศัย 2.เอนเนอร์ยีหรือ กลุ่มสินค้าพลังงาน 3.อีโคกลุ่มสินค้าประหยัดและรักษ์โลก และ 4.ไลท์ติ้งหรือกลุ่มให้แสงสว่าง ซึ่งพานาโซนิคคาดว่าจะสามารถบรรลุยอดขาย 100,000 ล้านเยน (ประมาณ 27,800 ล้านบาท) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ในปี 2564

“จากข้อมูลพบว่าตัวเลขจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและรายได้ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดด้านอุตสาหกรรมก่อสร้างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ระหว่างการเติบโตด้วยเช่นกัน เป็นที่คาดการณ์กันว่ากลุ่มประเทศในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย จะมีประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นจาก 580 ล้านคนในปี 2563 เป็น 640 ล้านคนในปี 2573 โดยมีจำนวนการก่อสร้างบ้านเรือนในปี 2564 ประมาณ 4.41 ล้านหลัง หรือคิดเป็น 5 เท่าของประเทศญี่ปุ่น”


ทั้งนี้ 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1.การเพิ่มความแข็งแกร่งด้านความสัมพันธ์กับลูกค้า - มุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าแบบครบวงจร เพิ่มความหลากหลายของสินค้ากระชับความร่วมมือภายในกลุ่มบริษัท 2.การสร้างธุรกิจใหม่ร่วมกันกับพาร์ทเนอร์ – ร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่นในแต่ละประเทศที่เข้าไปดำเนินงาน และจะรุกเข้าสู่ธุรกิจครัวและอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านอย่างจริงจัง ร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นในแต่ละประเทศ เพื่อพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์แพ็คเก็จสำเร็จรูปสำหรับอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในที่อยู่อาศัย เช่น ห้องครัว และห้องอาบน้ำสำเร็จรูป ไปยังตลาดท้องถิ่น

3.การพัฒนาโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหาสังคม – การขยายธุรกิจบ้านสำเร็จรูป (Prefabricated) ในประเทศจีน และธุรกิจระบบกรองน้ำส่วนกลาง ซึ่งในอนาคตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีปัญหาทางสังคมที่เด่นชัด จึงพัฒนาโซลูชั่นเครื่องฟอกอากาศและน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้นเช่น “ระบบกรองน้ำส่วนกลาง” “บ้านสำเร็จรูป” สำหรับหอพักและอพาร์ทเม้นท์ เริ่มจำหน่ายในประเทศจีนเมื่อปีที่ผ่านมา จะขยายมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ฝักบัวพร้อมเก้าอี้นั่ง “เดอะชาวเวอร์และเตียงนอน “ริโชเนะ” เตียงโรโบติกที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งทั้งสองผลิตภัณฑ์มีวางจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว

นายไดโซะ กล่าวว่า มี 3 ตลาดหลักในอาเซียนคือ ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่า ภายใน10 ปีจากนี้หรือปี 2573 จะมีรายได้จาก 2 ประเทศนี้รวมกันที่ 86,000 ล้านบาท โดยตลาดโซลูชั่นแบบนี้ในไทยขณะนี้ หากเปรียบเทียบแล้วจะยังล่าช้ากว่าที่ตลาดญี่ปุ่นมากถึง 30 ปี แต่ก็เป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตดีอย่างมาก โดยในไทยมีรายได้ในธุรกิจดังกล่าวนี้ 1,400 ล้านบาท ส่วนทั้งอาเซียนมีรายได้ประมาณ 200 ล้านเยน



สำหรับประเทศไทย จะมีสินค้าทั้งที่นำเข้ามาจากต่างประเทศและสินค้าที่ผลิตในไทยโดยความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ผู้ผลิต ซึ่งขณะนี้พานาโซนิคได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ให้บริการตู้ล็อคเกอร์ในการทดสอบ “smart box” ซึ่งเป็นตู้สำหรับรับพัสดุไปรษณีย์แบบ IoT (Internet of Things) สามารถควบคุมการทำงานได้ด้วยสมาร์ทโฟนอีกด้วย รวมทั้งระบบครัวสำเร็จรูปที่ทำร่วมกับพาร์ทเนอร์ ส่วนตัวต่อไปคือ ห้องน้ำสำเร็จรูป เป็นต้น


“ซัมซุง” ดันสมาร์ทโฮมเรือธง

นายเฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ รองประธานธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เปิดเผยว่า กล่าวถึงแนวทางการทำตลาดสินค้ากลุ่มสมารท์โฮมหรือสมาร์ทโซลูชั่น ว่า จากความชัดเจนของตลาดสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฮมที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นและมีการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่องในภาพรวม

รวมทั้งปัจจัยเกื้อหนุนอื่นๆอีกเช่น ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปัญหาสภาพอากาศที่ร้อน การพัฒนาระบบและการเตรียมใช้ระบบ 5G การแข่งขันกีฬาระดับโลกอย่างฟุตบอลยูโร และโอลิมปิกในปีนี้


“ปีนี้เราจะหันมาเน้นหรือโฟกัสการสร้างการรับรู้สินค้าสมาร์ทโฮมเป็นพิเศษซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวตามแนวทางของบริษัทแม่ วิธีการสื่อสารจะใช้การสื่อสารผ่านทุกช่องทาง” ทำให้ในปี 2563 นี้บริษัทฯจะรุกตลาดสมาร์ทโฮมอย่างเต็มที่จะเน้นไปที่สินค้า 2 กลุ่มหลักคือ เครื่องปรับอากาศและทีวีมากขึ้น ในการนำเสนอสินค้าที่มีฟังก์ชั่นสุขภาพ, สมาร์ทโฮม และความครบครันของสินค้าแบบออลอินวันโซลูชั่นตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพ การมีกิจกรรมหลากหลายในบ้าน การดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว เป็นต้น

ไตรมาสแรกนี้ บริษัทจะเปิดตัว “สมาร์ทติงส์ ฮับ” (Smarthings Hub) คืออุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อแพลตฟอร์มและอุปกรณ์สมาร์ทโฮมของซัมซุงเข้ากับอุปกรณ์สมาร์ทโฮมของแบรนด์อื่น การเปิดตัวตู้เย็นรุ่นแฟมิลี่ฮับ ซึ่งช่วงแรกจะเน้นตลาดกลุ่มลูกค้าพาณิชย์ก่อนเพราะมีดีมานด์จากบริษัทที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายรายที่ต้องการชูจุดเด่นเป็นสมาร์ทโฮมเข้ามาเป็นจุดขายของโครงการ

ตามแผนการตลาด ในส่วนของกลุ่มทีวี ปีนี้จะเพิ่มความเป็นไลฟ์สไตล์จากเดิมที่มีความแข็งแรงอยู่แล้วในด้านคุณภาพและฟังชั่นการใช้งาน จะเปิดตัวสินค้าใหม่ช่วงมหกรรมกีฬาโอลิมปิก

ส่วนตลาดเครื่องปรับอากาศที่ปีที่แล้วมีการเติบโตของตลาดรวมมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ 36% ซึ่งคาดว่าปีนี้ตลาดรวมน่าจะเติบโตดีประมาณ 9.5% หรือมีมูลค่าเป็น 2.7 หมื่นล้านบาท จากปีที่แล้วที่มีประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ทั้งมาจากปัจจัยการแข่งขันที่รุนแรง การทำตลาด อากาศที่ร้อนมากการลดแลกแจกแถม กิจกรรมโปรโมชั่นต่างๆ

ปีนี้เราปรับรูปแบบและกลยุทธ์การทำตลาดเครื่องปรับอากาศทุกเซ็กเมนต์ ตั้งแต่แมสถึงไฮเอนด์เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี จะวางตลาดรุ่น “วินฟรี พรีเมี่ยม พลัส” เป็นเรือธง มีฟังก์ชั่นมากเช่น ระบบสั่งงานผ่านสมาร์ทโฟน ระบบฟอกอากาศ PM 1.0 เป็นต้น ตั้งเป้ายอดขายไว้มากกว่า 9.5%หรือมากกว่าตลาดรวม อีกทั้งจะขยายฐานลูกค้ากลุ่มพรีเมี่ยม เป็น 25% จากเดิมมี 20% ในพอร์ตรายได้ของบริษัทฯ



“ชาร์ป” ผุดโมเดลนิเวศสมาร์ทโฮม

ขณะที่อีกแบรนด์ใหญ่จากญี่ปุ่นอย่าง ชาร์ป ก็เดินหน้ากลยุทธ ชาร์ป โฮมในประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายที่จะผสานกำลังสร้างโมเดลระบบนิเวศ ด้านสมาร์ทโฮม (Smart Home Ecosystem) แบบครบวงจรในประเทศไทย

มร.โรเบิร์ต อู๋ กรรมการผู้จัดการ ชาร์ป ไทย และ ชาร์ป มาเลเซีย กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของการร่วมเป็นพันธมิตรระหว่าง “ชาร์ป” กับ “ไฮไฟ โอเรียนท์ ไทย” นั้นคือการร่วมมือเพื่อบูรณาการทรัพยากรของทั้งสองบริษัทสู่การพัฒนาระบบนิเวศด้านสมาร์ทโฮมที่ครบวงจร

“เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ประกาศความร่วมมือกับ ไฮไฟ โอเรียนท์ ไทย ผู้นำแบรนด์เครื่องเสียงและวิดีโอในประเทศไทย และเชื่อว่าการร่วมมือของสองบริษัทอันแข็งแกร่งนี้ จะทำให้เราสามารถก้าวสู่ความเป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมสมาร์ทโฮมในอนาคต” มร.โรเบิร์ต กล่าว

การลงทุนเชิงกลยุทธ์ครั้งนี้คือการต่อยอดจากจุดแข็งและข้อได้เปรียบของทั้งสองบริษัทเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างแนวทางอันมีประสิทธิภาพสู่ความยั่งยืนของระบบนิเวศด้านสมาร์ทโฮม โดย “ไฮไฟ โอเรียนท์ ไทย” จะให้การสนับสนุนความเชี่ยวชาญในตลาดไทยด้านข้อมูลเชิงลึก ช่องทางการจัดจำหน่ายและการทำการตลาด ในท้องถิ่นต่างๆ แก่ “ชาร์ป”

ด้าน นายมกร หลินสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฮไฟ โอเรียนท์ ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การสนับสนุนเชิงกลยุทธ์ ของชาร์ปจะช่วยให้ "อะโคนาติก" สามารถสร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรมให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมที่ยังคงมี การพัฒนาอย่างรวดเร็ว และช่วยให้เราได้บรรลุถึงเป้าหมายสำคัญในการมอบประสบการณ์ระบบนิเวศด้าน สมาร์ทโฮมสู่ผู้บริโภคชาวไทยอีกด้วย



“ชาร์ป” และ “ไฮไฟ โอเรียนท์ ไทย” ได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ไว้ 2 ขั้นตอน ดังนี้

1) พลิกโฉมสู่ "สมาร์ทโฮมแพลตฟอร์ม” (Smart Home Platform) ด้วยโมเดล 4S: Small – เล็กแต่ยืดหยุ่น คล่องตัว เต็มเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ, Speed – ตอบสนองอย่างรวดเร็ว, Strong – เพิ่มความแข็งแกร่งของอำนาจการต่อรองและการบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างครบวงจร และ Share – แบ่งปันทรัพยากรและบริการซึ่งกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพ



2) ผสานความเชี่ยวชาญทั้งในระดับสากลและท้องถิ่น (Internationalization & Localization): เสริมสร้างจุดแข็งของทั้งสองบริษัท พร้อมแสดงถึงภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำแบรนด์ในประเทศไทยสู่สายตาชาวโลก รวมถึงสร้างกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการช่วยขยายการเติบโตของระบบนิเวศด้านสมาร์ทโฮม และ AIoT ในประเทศไทย



“สกายเวิร์ท” ดันทีวีเป็นสมาร์ทฮับในบ้าน

ทางด้าน SKYWORTH มีความเคลื่อนไหวล่าสุดด้วยการเปิดตัวไลฟ์สไตล์ทีวีรุ่นใหม่ล่าสุด

นายหลี่ เจิง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สกายเวิร์ท (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้นำด้านการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์โทรทัศน์ แบรนด์ “SKYWORTH” (สกายเวิร์ท) แบรนด์โทรทัศน์ชั้นนำของโลก โดยมียอดขายเป็นอันดับ 1 ในประเทศจีน เปิดเผยว่า
ในปี2562ที่ผ่านมา SKYWORTH มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมและได้รับการตอบรับเป็นอย่างมาก อาทิ รุ่น UB7500 เอไอทีวีอัจฉริยะ มาพร้อมระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 9.0 (Android 9.0) รุ่นใหม่ที่เร็วสุด แรงสุด เพิ่มประสิทธิภาพการบูท และฉลาดมากขึ้นถึง 2 เท่า โดดเด่นด้วยดีไซน์ไร้ขอบ 3 ด้าน (Frameless Design TV) ขนาดความบางเพียง 1 มิลลิเมตร พร้อมคุณสมบัติจอภาพถนอมสายตาที่เคลือบชั้น Optical Anti Blue Light กรองแสงสีน้ำเงิน รองรับภาพ Dolby Vision และมี google assistant

“ทั้งนี้ สินค้าใหม่จะเป็นส่วนที่ทำให้ยกระดับทีวีสู่สมาร์ทฮับ สั่งการด้วยเสียง และเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้านให้กลายเป็นสมาร์ทโฮม ยกระดับวิถีชีวิตสู่สมาร์ทลีฟวิ่ง (Smart Living) ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล โดยได้รับรางวัลการันตี “Best Budget 4K LED TV Award” จากจุดเด่นในเรื่องของ "มิติการใช้งาน" และความ "เหมาะสมกับราคาที่จ่ายไป" ในการประกาศรางวัล Best of The Best Award หรือ “รางวัลทีวีที่ดีที่สุดแห่งปี” ประจำปี 2019-2020 ซึ่งจัดโดย LCD TV THAILAND - VIDEOPHILE&AUDIOPHILE และรางวัลการันตีสุดยอดเทคโนโลยี Android TV จาก Android Authority ในฐานะดาวเด่นของงาน Consumer Electronics Show 2020 (CES 2020) ซึ่งจัดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์และประกาศชื่อเสียงแบรนด์สกายเวิร์ทบนเวทีโลกถึงความเป็นผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยม ด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ ในระดับสากลได้เป็นอย่างดี

SKYWORTH เองก็มีเป้าหมายมุ่งที่จะเป็นผู้นำผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Android TV ในประเทศไทย ด้วยการทำตลาดอย่างเต็มที่ผสานกับการพัฒนาและนำเสนอนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อความบันเทิงที่ดีขึ้น ตอบรับความต้องการของผู้บริโภคยุค Customer Centralized จุดเด่นอย่างหนึ่งก็คือ ผู้บริโภคหรือผู้ใช้งานสามารถสั่งผลิต AI TV ที่มีหน้าจอขนาดใหญ่ได้ถึง 100 นิ้ว ซึ่งถือเป็นทีวีที่หน้าจอใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้ด้วยตัวเองได้ ซึ่งลูกค้าสามารถสั่งผลิตได้ที่ SKYWORTH flagship store ศูนย์การค้าสยามพารากอน

นี่เองที่ถือได้ว่าเป็นการทำตลาดแบบลูกค้าเฉพาะรายจริงๆ และจะเป็นอีกอาวุธหนึ่งของสกายเวิร์ทในการรุกตลาดสมาร์ทโซลูชั่นได้ดี


จากนี้ไปด้วยแรงส่งของเทรนด์สมาร์ทโฮมและสมาร์ทโซลูชั่น คงทำให้ผู้ประกอบการเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายแบรนด์ต่างต้องปรับตัวและงัดกลยุทธ์การตลาด การพัฒนาและนำเสนอนวัตกรรมสินค้ามาแข่งขันเพื่อแย่งชิงลูกค้ากันอย่างเต็มที่แน่นอน



กำลังโหลดความคิดเห็น