xs
xsm
sm
md
lg

"พาที" เผยครั้งแรกถึงความล้มเหลวของนกแอร์ พลาดที่สุดเจอไลอ้อนแอร์

เผยแพร่:


พาที สารสิน อดีตซีอีโอนกแอร์
พาที สารสิน ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเรียลลี เรียลลี คูล (Really Really Cool) บริษัทตัวแทนท่องเที่ยวออนไลน์ และอดีตซีอีโอของสายการบินนกแอร์ เปิดตัวหนังสืออัตชีวประวัติที่บอกเล่าถึงความท้าทายและวิกฤตการณ์ที่เขาเผชิญในการบริหารนกแอร์ สายการบินราคาประหยัดของไทย

“หนังสือเล่มนี้เป็นที่น่าถกเถียงและอาจทำให้บางคนไม่พอใจ แต่มันเป็นเรื่องที่ต้องถูกบอกเล่า” พาที กล่าว

“มันเป็นเรื่องน่าสนใจที่ตอนนี้เรากำลังเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ ในขณะที่อุตสาหกรรมการบินกำลังประสบกับวิกฤตการณ์ระดับโลกที่เกิดจากไวรัสโคโรนา (Coronavirus) เพราะหนังสือของผม Smiling Through Turbulence เป็นเรื่องเกี่ยวกับความท้าทายที่สายการบินต่าง ๆ เผชิญอยู่ทั้งสิ้น ในฐานะซีอีโอของสายการบิน คุณต้องกล้าเผชิญหน้าและรับมือกับวิกฤติต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสายการบิน เพื่อให้ทีมงานของคุณสามารถทำหน้าที่ของพวกเขาในการดูแลและให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารของสายการบินได้อย่างเต็มที่”

“คนจะตัดสินคุณที่วิธีการรับมือในภาวะวิกฤติ มากกว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”

“ในช่วงวิกฤติคุณต้องคิดถึงสิ่งที่สามารถทำได้ในฐานะซีอีโอและในฐานะสายการบินเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น วิธีที่คุณจัดการกับสถานการณ์เป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น สายการบินที่เผชิญกับวิกฤติจำเป็นต้องตอบสนองอย่างเหมาะสม มีความยืดหยุ่น และให้การช่วยเหลือผู้อื่น แต่เมื่อต้องให้ความช่วยเหลือผู้อื่น แทนที่จะพยายามทำทุกอย่าง คุณต้องเข้าใจถึงข้อจำกัดและสิ่งที่คุณสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่คุณสามารถทำให้ได้” พาที กล่าวเสริม

เขากล่าวว่า สายการบินมักจะอยู่ในอันดับต้น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโลก รวมถึงสถานการณ์ในขณะนี้ด้วยเช่นกัน “แต่สายการบินมีความเชี่ยวชาญในการรับมือกับวิกฤติและมีความสามารถที่จะฟื้นตัว ซึ่งผมมั่นใจว่าอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจะผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปได้อย่างแน่นอน”

ในหนังสือ Smiling Through Turbulence นี้ พาทีได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ทั้งขาขึ้นและขาลงในการบริหารสายการบินนกแอร์ หนึ่งในสายการบินราคาประหยัดชั้นนำของเอเชีย เขาร่วมก่อตั้งนกแอร์ขึ้นในปีพ.ศ. 2547 และดำรงตำแหน่งซีอีโอตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งก้าวลงจากตำแหน่งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2560

ปัจจุบันนายพาทีดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยวออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จ ที่มีชื่อว่า เรียลลี เรียลลี คูล ทำงานร่วมกับกลุ่มโรงแรมและสายการบินต่าง ๆ เช่น โรงแรมในเครือดุสิตธานี สายการบินไทยแอร์เอเชีย ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ นกแอร์ และนกสกู๊ต

เรียลลี เรียลลี คูล ส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

“ธุรกิจตัวแทนท่องเที่ยวออนไลน์ของผมได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน แต่ธุรกิจของผมและอุตสาหกรรมจะฟื้นตัว ซึ่งเมื่อคุณทำงานในอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว คุณต้องรับมือกับวิกฤตการณ์มากมาย” พาที กล่าว

ในหนังสือ Smiling Through Turbulence นี้ พาทีได้เล่าถึงวิกฤติสำคัญ ๆ ที่เขาเผชิญ รวมถึงบทเรียนที่ได้รับจากการบริหารสายการบินนกแอร์ เริ่มด้วยเหตุการณ์สึนามิเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2547 ที่ได้สร้างความเสียหายในเอเชียรวมถึงพื้นที่บางส่วนในภาคใต้ของประเทศไทย

“นกแอร์เพิ่งเปิดตัวได้เพียงไม่กี่เดือนก่อนเกิดภัยพิบัติสึนามิขึ้น ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินงานของสายการบิน จนเกือบทำให้ธุรกิจของเราต้องปิดตัวลง” เขากล่าว

พาทียังได้เปิดเผยในหนังสือเล่มนี้อีกด้วยว่า ในช่วงปลายปีพ.ศ. 2551 นกแอร์ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักจนเกือบล้มละลาย เนื่องจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้สถานะการเงินของสายการบินไม่สามารถควบคุมได้
“เราขาดทุนไปแล้วในปีพ.ศ. 2550 เมื่อราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นไปอีกในปีพ.ศ. 2551 ทำให้ปัญหาหนักยิ่งขึ้น และมาถึงจุดที่เรากำลังจะล้มละลาย ในปลายปีพ.ศ. 2551 เมื่อราคาน้ำมันพุ่งสูงถึง 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในขณะนั้นสายการบินเผชิญกับการขาดทุนเป็นจำนวนสามล้านบาท (100,000 เหรียญสหรัฐ) ต่อวัน ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมากสำหรับผู้ให้บริการเอกชนรายเล็ก และเรามีเงินสดเหลือเพียงพอสำหรับการดำเนินงานต่อไปเพียงอีกไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น แต่การล้มละลายของธนาคารเลห์แมน บราเธอร์ส ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2551 และวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกที่ตามมาได้ช่วยเราไว้ เพราะมันทำให้ราคาน้ำมันตกลงอย่างรวดเร็ว” เขากล่าว

วิกฤติสำคัญอื่น ๆ ที่พาทีกล่าวถึงในหนังสือประกอบด้วย
- การประท้วงทางการเมืองในประเทศไทยปีพ.ศ. 2549 ที่ทำให้สนามบินนานาชาติทั้ง 2 แห่งในกรุงเทพฯ ปิดให้บริการ
- เหตุการณ์น้ำท่วมในปีพ.ศ. 2554 ที่ท่วมพื้นที่หลายแห่งในกรุงเทพฯ ทำให้นกแอร์ต้องย้ายฐานบินจากสนามบินนานาชาติดอนเมือง ไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ
- การล่มของระบบไอทีที่เกิดขึ้นกับนกแอร์ในปีพ.ศ. 2558 เมื่อระบบการจองล้มเหลวทำให้เกิดความล่าช้าในการเช็กอิน และเกิดความไม่สงบที่อาคารผู้โดยสารขาออกของสนามบิน
- และการประท้วงของนักบินนกแอร์ปีพ.ศ. 2559

พาทียังเปิดเผยเป็นครั้งแรก ถึงความล้มเหลวของนกแอร์ในประเทศไทยว่ามีความเกี่ยวข้องกับไลอ้อนแอร์ สายการบินต้นทุนต่ำของอินโดนีเซีย “หนึ่งในความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเราคือการพบกับนายรุสดี คิรานา ประธานอำนวยการของกลุ่มสายการบินไลอ้อนแอร์ สายการบินที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย เมื่อผมมองย้อนกลับไปในชีวิตของผมตอนนั้น ผมสงสัยว่าทำไมเราถึงพบกับนายรุสดี”

“เรารู้กันมานานแล้วว่าไลอ้อนแอร์ต้องการที่จะตั้งสายการบินในประเทศไทย และเราคิดว่าหากไลอ้อนแอร์จะเข้ามาสู่ตลาดเต็มตัว เราควรเริ่มพูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการเป็นพันธมิตร แต่การพูดคุยกับไลอ้อนแอร์กลายเป็นบทพิสูจน์ความผิดพลาดครั้งใหญ่ เพราะแทนที่จะเป็นพันธมิตรกับนกแอร์ ไลอ้อนได้ก่อตั้งไทยไลอ้อนแอร์ (Thai Lion Air) ซึ่งเข้ามาในตลาดไทยและจุดประกายสงครามราคา ไลอ้อนเข้าสู่ตลาดไทยไม่ใช่เพื่อแข่งขันกับนกแอร์แต่เพื่อแข่งขันกับแอร์เอเชีย นายรุสดีและนายโทนี่ เฟอร์นานเดส ผู้บริหารของแอร์เอเชียเป็นคู่แข่งกัน แต่ที่น่าเศร้าคือนกแอร์กลายเป็นฝ่ายได้รับความเสียหายจากการต่อสู้เพื่อครองตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างกลุ่มแอร์เอเชียและกลุ่มไลอ้อนแอร์”
กำลังโหลดความคิดเห็น