xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นเศรษฐกิจไทย-ฮ่องกง ถูกลูกหลง “อู่ฮั่น” งอมสุด

เผยแพร่:


เศรษฐกิจฮ่องกงและไทยมีแนวโน้มสะบักสะบอมกว่าใครจากไวรัสอู่ฮั่น
ฮ่องกงและไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสอู่ฮั่นรุนแรงที่สุด เนื่องจากมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกับจีนมาก และเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคจะถูกกดดันอย่างหนักจากจำนวนนักท่องเที่ยวและยอดนำเข้าของแดนมังกรที่ตกฮวบ ส่วนประเทศที่เชื่อว่า จะถูกหางเลขน้อยที่สุดคืออินเดียและอินโดนีเซีย

นักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่า ไวรัสโคโรนา 2019 จะสร้างความเสียหายรุนแรงกว่าเมื่อครั้งโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) ระบาดในปี 2002-2003 ที่ฉุดเศรษฐกิจจีนวูบลง 2% จาก 11.1% ในไตรมาสแรกปี 2003 เหลือ 9.1% ในไตรมาสถัดมา

เนื่องจากสำหรับครั้งนี้โรงงานมากมายในจีนต้องปิดยาว การเดินทางถูกจำกัด และหลายเมืองถูกปิดตาย ซ้ำร้ายจีนยังผนึกแนบแน่นกับเอเชียมากขึ้น จึงมีแนวโน้มว่า การหยุดชะงักในภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก รวมถึงกิจกรรมเศรษฐกิจที่ทรุดฮวบของจีนในไตรมาสแรก จะส่งผลกระทบรุนแรงทั่วภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการท่องเที่ยวและการค้า

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่า มีแนวโน้มมากขึ้นที่ไวรัสอู่ฮั่นจะระบาดไปจนถึงฤดูร้อนและทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนปีนี้หายไป 2% อยู่ที่ 4% หรือต่ำกว่า เทียบกับ 6% ในไตรมาสส่งท้ายปี 2019 ถือเป็นอัตราเติบโตต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ

เฉพาะไตรมาสแรกนั้น มอร์แกน สแตนลีย์ประเมินว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาจะทำให้จีดีพีจีนหายไป 1%

กาเร็ธ เลเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำเอเชียของแคปิตอล อิโคโนมิกส์ ชี้ว่า ยอดนักท่องเที่ยวจีนที่ดิ่งลงจะเป็นคลื่นลูกแรกที่กระแทกเพื่อนบ้านในเอเชีย และการปิดโรงงานในจีนจะส่งผลตามมาทำให้ห่วงโซ่อุปทานชะงักงันทั่วภูมิภาค

คุน โก๊ะห์ หัวหน้าแผนกวิจัยในเอเชียของเอเอ็นแซด แบงก์ ขานรับว่า ไวรัสอู่ฮั่นจะทำให้เศรษฐกิจไทยหายวับ 760 ล้านดอลลาร์ (23,800 ล้านบาท) ในไตรมาสแรก และ 1,400 ล้านดอลลาร์สำหรับเศรษฐกิจฮ่องกง

กลางสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงว่า การระบาดของไวรัสอู่ฮั่นอาจทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ชะลอตัวกว่าที่คาดไว้

อนึ่ง จากข้อมูลของสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลกนั้น การท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 22% ของจีดีพีไทย และสร้างงานถึง 6 ล้านตำแหน่ง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นจากกว่า 3 ล้านคนในปี 2012 เป็น 11 ล้านคนในปีที่ผ่านมา และขณะนี้สร้างรายได้ให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึง 1 ใน 4

นักวิเคราะห์ยังมองว่า ธุรกิจเกาหลีใต้และไต้หวันจะถูกลูกหลงจากวิกฤตโคโรนาจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในและภายนอกจีนลดลง

ฌอน ฮวาง นักวิเคราะห์กลุ่มการเงินภาคธุรกิจของมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ กรุ๊ป ระบุว่า บริษัทรถและเทคโนโลยีเกาหลีใต้ที่พึ่งพิงชิ้นส่วนจากซัปพลายเออร์จีนกำลังได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานในจีน รวมทั้งการอพยพแรงงานเกาหลีใต้ออกจากสายการผลิตในจีน

ตัวอย่างเช่น ฮุนได มอเตอร์ที่ปิดโรงงานในประเทศบางแห่งเมื่อวันที่ 4 ที่ผ่านมา เนื่องจากขาดแคลนชุดสายไฟ

นอกจากนั้น ผู้บริโภคเกาหลีใต้ยังจำกัดการออกไปเดินห้างขนาดใหญ่ เช่น อี มาร์ต และล็อตเต้ ช้อปปิ้ง เพื่อป้องกันตัวเองจากการติดไวรัสอู่ฮั่น ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอาจทำให้รายได้และผลกำไรของห้างค้าปลีกดิ่งลง

ขณะเดียวกัน แม้ไม่ได้มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนเหมือนฮ่องกง แต่สิงคโปร์อาจหนีไม่พ้นลูกหลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวระยะสั้นของแดนมังกร

เออร์วิน ซีห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของดีบีเอส แบงก์ ระบุว่า นับจากการระบาดของซาร์ส เศรษฐกิจสิงคโปร์และจีนเชื่อมโยงกันมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปแดนลอดช่องที่เพิ่มขึ้นจาก 568,000 คนในปี 2003 เป็น 3.4 ล้านคนในปี 2018

ซีห์คาดว่า มาตรการแบนการเดินทางจะทำให้นักท่องเที่ยวลดลงราว 1 ล้านคน หรือเท่ากับรายได้จากนักท่องเที่ยวประมาณ 722 ล้านดอลลาร์ในทุก 3 เดือน และยังลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ตลอดปี 2020 เหลือ 0.9% จากที่เคยคาดไว้ 1.4%

ไต้หวันห้ามนักเดินทางจีน ตลอดจนถึงชาวต่างชาติที่เคยเดินทางไปฮ่องกงและมาเก๊าเข้าประเทศ รวมทั้งไม่อนุญาตให้เรือสำราญระหว่างประเทศเข้าเทียบท่า ซึ่งจะทำให้มีเรือสำราญถูกแบนอย่างน้อย 112 ลำจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม ครอบคลุมผู้โดยสาร 144,000 คนโดยประมาณ

เลเธอร์จากแคปิตอล อิโคโนมิกส์ สำทับว่า เศรษฐกิจไต้หวันอาจได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาหนักหน่วงกว่าอีกหลายประเทศในเอเชีย เนื่องจากเป็นผู้ส่งออกคนกลางที่ส่งสินค้ามูลค่าเพิ่มไปยังจีนรวมมูลค่าถึง 18% ของจีดีพี

สำหรับมาเลเซีย การเติบโตที่ขับเคลื่อนโดยสินค้าโภคภัณฑ์เผชิญความเสี่ยงจากราคาน้ำมันดิบที่ตกลงเกือบ 20% จากความกังวลว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาจะฉุดการนำเข้าของจีน ดัชนีผู้จัดซื้อของมาเลเซียประจำเดือนมกราคมลดลงอยู่ที่ 48.8 จาก 50 ในเดือนธันวาคม ปัจจัยลบคือ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว ยอดสั่งซื้อใหม่ลดแรงที่สุดนับจากเดือนกันยายน ขณะที่การส่งออกแผ่วลงเช่นเดียวกัน

ปรากาช สักปาล นักเศรษฐศาสตร์ประจำเอเชียของไอเอ็นจี แบงก์ มองว่า การที่แบงก์ เนการา มาเลเซียประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างน่าประหลาดใจในการประชุมเมื่อวันที่ 22 มกราคม ซึ่งไวรัสโคโรนาเริ่มเป็นข่าว บ่งชี้ว่า แบงก์ชาติมาเลเซียอ่านเกมขาดตั้งแต่แรกว่า จะเกิดความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้

ด้านโก๊ะห์จากเอเอ็นแซดเชื่อว่า อินเดียและอินโดนีเซียจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจากมีรายได้จากการท่องเที่ยวไม่มากนัก และไม่ใช่จุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น