xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ชงรัฐดึงเอกชนร่วมทุนแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ แย้มเจรจาผู้ผลิตก๊าซฯลดซื้อหันนำเข้า LNG

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กลุ่มปิโตรเคมีในเครือ ปตท.ผลิตเต็มที่แม้ว่าเกิดการระบาดไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ทำดีมานด์เม็ดพลาสติกจีนลดลงก็ตาม เชื่อผลกระทบระยะสั้น พร้อมเสนอรัฐเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนแบบ PPP เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งทั้งระบบ หวั่นปีนี้ภาคตะวันออกเสี่ยงน้ำขาดลุ้นฝนตกช่วง พ.ค.-มิ.ย.นี้ รวมทั้งเตรียมเจรจาผู้ผลิตก๊าซฯ ฝั่งอ่าวไทยและพม่าเพื่อหวังลดปริมาณการรับซื้อก๊าซฯ ลงแต่หันไปนำเข้า LNG ราคาถูกแทน คาดมีความชัดเจนในไตรมาส 1 นี้

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าในปี 2563 บริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีทั้งบมจ.พีทีทีโกลบอลเคมิคอล (PTTGC) และ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ยังเดินเครื่องผลิตปิโตรเคมีเต็มกำลังผลิต แม้ว่าขณะนี้ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกจากจีนจะลดลงหลังโรงงานผลิตต่างๆ หยุดดำเนินการจากการระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ โดยประเมินว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบชั่วคราว อีกทั้งทาง IRPC และ PTTGC ได้ลดการพึ่งพาการส่งออกไปตลาดจีนจากเดิมส่งออก 50% เหลือเพียง 40% โดยหันไปส่งออกในอาเซียน อาฟริกาและตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ PTTGC และ IRPC ได้มีการปิดซ่อมบำรุงใหญ่เมื่อปี 2562 ทำให้ปีนี้ทั้งสองบริษัทกลับมาผลิตได้เต็มที่ กอปรกับโรงงานปิโตรเคมีหลายแห่งของโลกได้ลดกำลังการผลิตหรือปิดตัวลงจากผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯและจีน และการที่โรงงานปิโตรเคมีของโลก จึงเป็นโอกาสดีของกลุ่ม ปตท.ในการส่งออกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกำลังการผลิตปิโตรเคมีของกลุ่มปตท.คิดเป็นสัดส่วน 3-4% ของกำลังการผลิตทั้งโลก

นายชาญศิลป์กล่าวถึงนโยบายรัฐที่ให้ศึกษานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งมีราคาต่ำมาทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยว่า ขณะนี้ ปตท.เร่งดำเนินการอยู่ คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 1 นี้ หากนำเข้าก๊าซ LNG เข้ามาทดแทนก๊าซฯ ในอ่าวไทยคงไม่เกิน 1 ล้านตัน เพื่อป้อนให้โรงงานอุตสาหกรรมแทนน้ำมัน เป็นราคาตลาดจร ขณะเดียวกันก็ต้องเจรจากับผู้ผลิตปิโตรเลียมทั้งฝั่งอ่าวไทยและพม่าว่าจะสามารถลดกำลังการผลิตได้อย่างไรจึงจะเหมาะสม โดยต้องคำนึงถึงสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ด้วย เพราะหากลดแล้วจะมีค่า Take or Pay (ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย) หรือไม่อย่างไร

โดยปัจจุบันนี้ประเทศไทยใช้ก๊าซฯ ราว 4,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยมาจากอ่าวไทย 70% ที่เหลือ 15% มาจากเมียนมาและนำเข้า LNG 15% ยอมรับว่า ราคา LNG ราคาตลาดจรขณะนี้ต่ำผิดปกติ เหลือไม่ถึง 4 ดอลลาร์/ล้านบีทียู จากราคาก๊าซฯ ตลาดรวมเฉลี่ยประมาณ 7-8 ดอลลาร์/ล้านบีทียู

ส่วนปัญหาภัยแล้งในช่วงนี้ ทาง ปตท.ได้เสนอไปยังคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ว่าควรมีมาตรการป้องกันปัญหาภัยแล้งทั้งระบบในอนาคตในรูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) โดยนำน้ำทะเลมาทำน้ำจืด เพื่อสร้างความมั่นคงแก่ภาคอุตสาหกรรม เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเตรียมพร้อมลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่ ทั้งไฟฟ้า, ระบบราง แต่ระบบน้ำ ยังลงทุนไม่เพียงพอ ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำธรรมชาติเพียงอย่างเดียว เมื่อเกิดปัญหาภัยแล้งขึ้นมา ทุกภาคส่วนก็ได้รับผลกระทบทั้งหมด ซึ่งภาครัฐต้องศึกษาแนวทางสนับสนุน เช่น ระบบภาษี การส่งเสริมการส่งน้ำระบบท่อที่ต้องกำหนดราคาให้เป็นธรรม การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรเป็นต้น

นายชาญศิลป์กล่าวว่า ในปีนี้กลุ่ม ปตท.ลงทุนราว 1 แสนล้านบาท มีหลายโครงการเร่งลงทุนไม่ได้ เพราะติดเรื่องเงื่อนไขเงินกู้เรื่อง ค่าธรรมเนียมลงทุน Front End ต่างๆ แต่ก็พยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่จะเริ่มลงทุนถมทะเลในปีนี้ และกำลังรอรัฐบาลประกาศผู้ชนะโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 หากรัฐบาลประกาศได้ใน ไตรมาส 1 หรือ 2 ปีนี้ ก็จะเห็นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ปตท.พร้อมเข้าร่วมทุนโครงการผลิตน้ำอุตสาหกรรมจากน้ำทะเล โดยจากเทคโนโลยีปัจจุบันต้นทุนต่ำลง ซึ่ง ปัจจุบันนี้ โรงกลั่นไทยออยล์ และจีซี มีการผลิตด้วยระบบนี้ประมาณร้อยละ 10-20 ของความต้องการใช้น้ำอุตสาหกรรม” นายชาญศิลป์กล่าว

“ทางผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และภาคอุตสาหกรรมได้ติดตามเรื่องภัยแล้งในภาคตะวันออกทุกวัน โดยขณะนี้ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะพึ่งพาน้ำจากแหล่งธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งต้องดูไปจนถึงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ ว่าฝนจะตกเหนืออ่างน้ำในภาคตะวันออกหรือไม่ หากฝนมาก็จะพ้นวิกฤตปัญหาน้ำขาดแคลนในภาคอุตสาหกรรมในปีนี้ไปได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น