xs
xsm
sm
md
lg

กพท.ลุยยกระดับมาตรฐาน ลุ้นปี 63 “สายการบิน” หลังพิงฝา-เศรษฐกิจทรุด-ฉุดท่องเที่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ภาพรวมการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยในปี 2562 จากตัวเลขสถิติการขนส่ง ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT เปิดเผยออกมานั้น พบว่าผู้โดยสารด้านการบินมีจำนวน 165.11 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีผู้โดยสาร 161 ล้านคน โดยแบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 76.20 ล้านคน ลดลง 3.1% เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีจำนวน 78 ล้านคน ส่วนผู้โดยสารระหว่างประเทศมี 88.91 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.3% จากปีก่อนที่มี 82 ล้านคน

ในด้านปริมาณเที่ยวบินปี 2562 มีจำนวนรวม 1.07 ล้านเที่ยวบิน ลดลง 2.5% จากปีก่อนที่มี 1.09 ล้านเที่ยวบิน โดยแบ่งเป็นเที่ยวบินภายในประเทศ 553,000 เที่ยวบิน ลดลง 6.9% เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มี 594,000 เที่ยวบิน ส่วนระหว่างประเทศมี 516,000 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 2.6% จากปีก่อนที่มี 502,000 เที่ยวบิน และมีสายการบินที่ทำการบินเข้า-ออกประเทศไทยประมาณ 150 สาย โดยเป็นสายการบินสัญชาติไทยประมาณ 10 สาย

จากตัวเลขพบว่าการบินภายในประเทศมีปริมาณเที่ยวบินลดลงเกือบ 7% ซึ่งมาจากหลายๆ ปัจจัย ที่ทำให้สายการบินมีการยกเลิกเที่ยวบิน ส่วนการบินระหว่างประเทศยังคงเติบโต และการที่จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากสายการบินมีการใช้เครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

หากเจาะเป็นรายประเทศพบว่า 6 อันดับแรกเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยนั้น ผู้โดยสารชาวจีนยังครองอันดับ 1 จำนวน 20 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.4% หรือเพิ่มขึ้น 1 ล้านคน รองลงมาคือ สิงคโปร์ จำนวน 5.9 ล้านคน ญี่ปุ่น 5.5 ล้านคน เกาหลีใต้ 4.8 ล้านคน ฮ่องกง 4.6 ล้านคน และอินเดีย 4.2 ล้านคน

“จุฬา สุขมานพ” ผู้อำนวยการ กพท. ระบุว่า กพท.ได้มีการประเมินการเติบโตของอุตฯ การบินใน 10 ปีข้างหน้าว่าจะเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี แต่ปี 2562 เติบโตจากปีก่อนหน้าเพียง 2% เท่านั้น จึงมองว่าปี 2563 สถานการณ์จะไม่แตกต่างกัน คาดว่าจำนวนผู้โดยสารโดยรวมจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3%

ทั้งนี้ จากสถิติปี 2562 จะเห็นได้ว่าคนไทยนิยมเดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่ถูกลงจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนประเทศไทย ปริมาณการบินปี 2562 ที่ลดลง 7% เป็นภาพสะท้อนถึงเศรษฐกิจได้ และประเมินว่าปี 2563 จะไม่แตกต่างจากปีที่แล้ว ซึ่งปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินอาจไม่ลดลง แต่ก็จะไม่เติบโตมาก

สำหรับท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมด้วยการบินข้ามภาคนั้น มีปัจจัยที่สายการบินต้องพิจารณาก่อนเปิดทำการบินในแต่ละเส้นทาง เพราะแต่ละเมืองหรือจังหวัดของไทยมีขนาดและความเจริญที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น การจับคู่เพื่อกำหนดเส้นทางบินจะต้องดูความต้องการเดินทางท่องเที่ยวและธุรกิจระหว่างเมือง ที่เหมาะสมสอดคล้องกันด้วย

อุตสาหกรรมการบินนั้นผูกพันกับภาวะเศรษฐกิจ ทั้งเศรษฐกิจในประเทศ และเศรษฐกิจโลก ขณะที่ประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ดังนั้นเศรษฐกิจโลกจึงเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะหากเศรษฐกิจไม่ดี คนไม่เที่ยว การบินจะกระทบ

“ฟังจากผู้ประกอบการสายการบิน มองว่าปี 63 การบินจะอยู่ในสภาพหนีตายมากกว่า เพราะการแข่งขันด้านราคาที่ผ่านมาค่อนข้างรุนแรงจนค่าโดยสารอยู่ในเกณฑ์ถูกมากแล้ว”

“ปี 62 ภาพรวมการขนส่งทางอากาศถือว่ายังเติบโตอยู่ แต่เป็นการเติบโตที่ถดถอย”

@เดินหน้ายุทธศาสตร์เชิงรุก ยกระดับมาตรฐานการบินของประเทศ

สำหรับ กพท.นั้นก่อตั้งเมื่อปี 2558 เนื่องจากประเทศไทยถูกธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยมีหน้าที่ในการประสาน 3 ฝ่าย โดยกลุ่มแรก ฝ่ายนโยบายประเทศ กลุ่มที่ 2 คือผู้ประกอบการ เช่น สายการบิน ศูนย์ซ่อม สถาบันการศึกษา ฯลฯ กลุ่มที่ 3 คือ ผู้ใช้บริการ

และกำหนดยุทธศาสตร์ 3 ส่วนหลัก คือ 1. ยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัย (Safety) และมาตรฐานด้านรักษาความปลอดภัยทางการบิน (Security) ซึ่ง ICAO จะตรวจมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนตามโครงการ USAP-CMA ระหว่างวันที่ ‪11-21 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่ง ICAO จะทำการตรวจสอบเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย เช่น ด้านกฎระเบียบ การบริหารจัดการ และจะมีการตรวจสอบท่าอากาศยาน 2 แห่ง คือ สุวรรณภูมิ และภูเก็ต และผู้ดูแลสินค้าที่สนามบินรวมถึงสายการบินด้วย ซึ่งมั่นใจว่าไม่มีปัญหา และมาตรฐานการอำนวยความสะดวกในการเข้า/ออกสนามบิน

2. การกำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายที่มีการเรียกเก็บที่เกี่ยวข้องกับการบิน เป็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ใช้บริการ

3. เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการไทย และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานของการบินของประเทศไทย ดูแลทั้งอุตสาหกรรมการบิน

ปี 2562 กพท.ออกใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (AOL) เพิ่มขึ้น 3 ราย จาก 40 ราย เป็น 43 ราย, ออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) เพิ่มขึ้น 2 ราย จาก 23 ราย เป็น 25 ราย

มีเครื่องบินที่จดทะเบียนในปี 2562 มีจำนวน 690 ลำ แบ่งเป็น เครื่องบินส่วนบุคคล (Private Jet) 332 ลำ เครื่องบินพาณิชย์ 358 ลำ ขณะที่ปี 2561 มีเครื่องจดทะเบียนจำนวน 708 ลำ เป็นเครื่องบินส่วนบุคคลจำนวน 293 ลำ เครื่องบินพาณิชย์ 415 ลำ

จะเห็นได้ว่าจำนวนเครื่องบินส่วนบุคคลมีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้นถึง 39 ลำ เพราะการบินส่วนตัวมีแนวโน้มเติบโต ขณะที่เครื่องบินพาณิชย์ลดลง 57 ลำ ซึ่งเกิดจากการขาย หรือปลดระวางถอดทะเบียน

มาที่อุตสาหกรรมการบิน ด้านการซ่อมบำรุงและผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในประเทศไทยนั้น มีผู้ประกอบการซ่อมบำรุงอากาศยาน (ทุกประเทศที่มีสายการบินของไทยทำการบินไป ต้องได้รับการรับรองจาก กพท.) จำนวน 271 ราย และผู้ประกอบการซ่อมบำรุงอากาศยาน (ตั้งอยู่ภายในประเทศ) ที่ได้รับการรับรองจาก กพท.จำนวน 32 ราย

ส่วนสถาบันฝึกอบรมด้านการบินมีจำนวน 14 แห่ง สถาบันฝึกอบรมด้านการควบคุมการจราจรทางอากาศ 2 แห่ง และสถาบันฝึกอบรมนายช่างภาคพื้น 1 แห่ง

@จับตา 5 สายการบิน อาการน่าเป็นห่วง ขาดทุนหนัก

นอกจากนี้ สิ่งที่สะท้อนว่าอุตสาหกรรมการบินยังอยู่ในภาวะวิกฤต คือ ปัจจุบันยังมีสายการบิน 5 รายที่ กพท.ต้องเฝ้าจับตาเป็นพิเศษ เพราะมีผลขาดทุนสะสมสูงระดับพันล้านบาท และมีบางสายการบินที่มีผลขาดทุนถึงหมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ

@เผยไฮไลต์ปี 63 เร่งปรับปรุง กม.ควบคุม “โดรน” รองรับเทรนด์โลกโตกระฉูด

ในปี 2563 กพท.มีไฮไลต์ไว้ 2 เรื่อง คือ การกำกับดูแลการใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพื่อรองรับการเติบโตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีของโดรนมีความก้าวหน้าอย่างมาก ประกอบกับมีราคาถูก จึงมีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการบินพลเรือน ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านความปลอดภัยต่อชุมชน และการปฏิบัติการบินของสายการบินพาณิชย์ ด้านความมั่นคง และอาจจะมีการละเมิดความเป็นส่วนตัวอีกด้วย

จึงจะมีการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยทัดเทียมกับมาตรฐานสากลที่ ICAO กำหนด เพราะปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนบังคับโดรนทั้งหมด 16,061 ราย ประกอบด้วย บุคคลธรรมดาในประเทศ จำนวน 11,286 ราย, บุคคลธรรมดาต่างประเทศ จำนวน 3,003 ราย, นิติบุคคล 1,386 ราย และราชการและรัฐวิสาหกิจ 386 หน่วยงาน โดยการใช้โดรนส่วนใหญ่เป็นเรื่องนันทนาการ มีรับจ้างถ่ายภาพ ตรวจสอบเส้นทางงานก่อสร้างรถไฟฟ้า ด้านการเกษตร มีรับจ้างโปรยสารเคมีในไร่อ้อย หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ใช้โดรนเพื่อเข้าดูแลสายส่ง เป็นต้น

ปัจจุบันโดรนจะต้องลงทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ส่วนผู้ควบคุมโดรนจะต้องผ่านการออกใบรับรอง (ใบขับขี่) จาก กพท. ซึ่งจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อคัดสรรผู้บังคับโดรนที่มีคุณภาพ ซึ่งผู้ได้รับใบรับรองควบคุมโดรนสามารถบังคับโดรนได้หลายตัว ซึ่งโดรนเหมือนเครื่องบิน ดังนั้นจะต้องมีการจดทะเบียน มีใบอนุญาตผู้ควบคุมโดรน มีโรงเรียนสอนที่ได้มาตรฐานเหมือนโรงเรียนการบิน

นอกจากนี้ จะพิจารณาไปถึงการกำหนดขอบเขตหรือน่านฟ้า หรือระดับความสูงในการบินโดรน เพื่อจัดจราจรทางอากาศ ทั้งนี้ ก่อนออกเป็น พ.ร.บ.กำกับดูแลโดยเฉพาะ จะต้องรับฟังความคิดเห็นตามขั้นตอนก่อน โดยมุ่งให้มีมาตรฐานและทันสมัย คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในปลายปี 2563

2. การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ หรือ Helicopter Emergency Medical Services (HEMS) โดยมุ่งลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ให้สามารถส่งผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย

ปัจจุบัน เฮลิคอปเตอร์ สามารถบินได้เฉพาะจุดที่อนุญาต ต่อมา กพท.ได้แก้ไขกฎหมายให้สามารถบินไปไหนก็ได้กรณีเป็นบริการแพทย์ฉุกเฉิน โดยปลดล็อกให้เฮลิคอปเตอร์ขนส่งผู้ป่วยสามารถจอดที่นอกเหนือสนามบินได้ เพื่อเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้ใกล้ขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563

และสามารถรับ-ส่งผู้บาดเจ็บ หรือบุคลากรทางการแพทย์นอกเขตสนามบินได้ เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตมากยิ่งขึ้นภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินสากล และมาตรฐานการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเชื่อว่าแผนงานปีนี้จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยให้มีมาตรฐานสากลและสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

“เพราะระยะเวลาในการขนส่งผู้ป่วย 1 ชั่วโมงถือเป็น Golden Hour ที่มีค่า โดยได้ร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อผสานการขนส่งทั้งทางอากาศ บก และเรือ เพื่อที่จะรักษาชีวิตคนได้มากขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินประเภทเฮลิคอปเตอร์และนักบินเฮลิคอปเตอร์มากขึ้นอีกด้วย”

ทั้งนี้ สถิติการจราจรทางอากาศของประเทศไทย จาก บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) พบว่า ตั้งแต่ปี 2552-2562 มีการเติบโต10% ต่อปี จากนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจและท่องเที่ยวของรัฐบาล โดยปี 2562 มีปริมาณเที่ยวบินทั้งหมดเกิน 1 ล้านเที่ยวบิน โดยคาดการณ์ว่าภายใน 15 ปีข้างหน้าปริมาณเที่ยวบินจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าตัว

ขณะที่ข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) ซึ่งคาดการณ์แนวโน้มปริมาณการจราจรทางอากาศของโลกในอนาคต โดยมองว่าในปี 2565 จีนจะเป็นตลาดด้านการบินที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกาที่ปัจจุบันครองตลาดอันดับ 1

ส่วนขนาดตลาดการบินของไทยและตุรกีจะขยับขึ้นมาอยู่ใน 10 อันดับสูงสุดของโลก ภายในปี 2036 หรือพ.ศ. 2579 แทนที่อิตาลี และฝรั่งเศส

แม้ตัวเลขปริมาณจราจรทางอากาศที่เกิดขึ้นจริงในขณะนี้อาจจะสวนทางกับที่คาดการณ์ไปบ้าง แต่สถานการณ์อุตสาหกรรมการบินจะผกผันตามภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะพลิกกลับมาเติบโตก้าวกระโดดได้ทุกเมื่อ ... เพราะการบินยังคงเป็นความต้องการที่ตอบสนองการเดินทางและเชื่อมคน...เชื่อมโลก ไว้ด้วยกัน

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)




กำลังโหลดความคิดเห็น