xs
xsm
sm
md
lg

ฟ็อกซ์คอนน์ต่อยอดเทคโนโลยี คุยเฟียตผลิตอีวีตีตลาดจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


เฟียต ไครสเลอร์ยืนยันข่าวหารือฟ็อกซ์คอนน์ตั้งบริษัทผลิตรถไฟฟ้าในจีน ในภาพคือรถต้นแบบ “วิชัน แอร์โฟลว์” ที่ค่ายรถแห่งนี้นำไปโชว์ในงานซีอีเอส 2020
ฟ็อกซ์คอนน์แตกไลน์จากมือปืนรับจ้างผลิตไอโฟน เล็งต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีด้วยการจับมือเฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมทีฟสำรวจความเป็นไปได้ในการตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อผลิตรถไฟฟ้าในจีน

ฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี บริษัทรับจ้างผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่สุดของโลก แถลงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17) ว่า ถ้าแผนการเป็นไปตามเป้าหมาย บริษัทร่วมทุนแห่งใหม่แบบ 50-50 จะขึ้นสายการผลิตรถไฟฟ้า (Electric Vehicle- EV) ในจีนเพื่อป้อนตลาดภายในประเทศและอาจส่งออกในอนาคต

ฟ็อกซ์คอนน์ของไต้หวัน หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ “ฮอนไห่ พรีซิชัน อินดัสทรี” กำลังหาทางแตกธุรกิจจากการประกอบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ไอโฟนและแมคบุ๊กของแอปเปิลไปจนถึงเพลย์สเตชันของโซนี่ โดยบริษัทเล็งใช้ความเชี่ยวชาญในการผลิตที่มีความเที่ยงตรงสูงและการจัดการห่วงโซ่อุปทานเพื่อปลุกปั้นธุรกิจยานยนต์ให้สร้างรายได้ 10% ในระยะยาว

หลิว ยัง ประธานกรรมการฟ็อกซ์คอนน์ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า ฟ็อกซ์คอนน์จะรับผิดชอบการออกแบบ และการจัดการห่วงโซ่อุปทานและชิ้นส่วน แต่จะไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบรถ

ทั้งนี้ ฟ็อกซ์คอนน์และเฟียต ไครสเลอร์ บริษัทรถสัญชาติอิตาลี-อเมริกัน โฟกัสตลาดรถไฟฟ้าจีนเนื่องจากเล็งเห็นศักยภาพของแดนมังกร

อย่างไรก็ตาม แม้ปักกิ่งต้องการให้รถพลังงานใหม่ ซึ่งรวมทั้งรถไฟฟ้าและปลั๊ก-อินไฮบริด มีสัดส่วนอย่างน้อย 20% ของยอดขายรถทั้งหมดภายในปี 2025 และแม้ผู้บริโภคจีนซื้อรถไฟฟ้ามากกว่าประเทศใดๆ ในโลก แต่ยอดขายรถเหล่านี้ปรับลดลง 4% อยู่ที่ 1.21 ล้านคันเมื่อปีที่แล้ว หลังจากรัฐบาลลดการอุดหนุนเพื่อลดจำนวนผู้ผลิตอีวีที่มีมากเกินไป นอกจากนั้นยอดขายที่ซบเซายังเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจแดนมังกร

โครงการร่วมทุนของฟ็อกซ์คอนน์-เฟียต ไครสเลอร์ยังต้องเจอคู่แข่งท้องถิ่นหลายแห่ง รวมทั้งขาใหญ่ในวงการอย่างเทสลาที่เพิ่งเปิดโรงงานใหม่ในเซี่ยงไฮ้และเดิมพันมโหฬารกับตลาดรถไฟฟ้าจีน

ปัจจุบัน ยอดขายครึ่งหนึ่งของฟ็อกซ์คอนน์มาจากแอปเปิล ความพยายามที่ผ่านมาในการแตกสายผลิตภัณฑ์ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ในจำนวนนี้รวมถึงการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าหลายแห่ง และตอนนี้บริษัทอาจต้องฝากความหวังกับการถ่ายโอนประสบการณ์นานหลายปีในการผลิตคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์มาสู่วงการยานยนต์ที่พึ่งพิงเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น

ช่วงหลายปีมานี้ ฟ็อกซ์คอนน์ยังทุ่มทุนในโครงการขนส่งแห่งอนาคต เช่น ดีดี ชูซิง ยักษ์ใหญ่ไรด์เฮลลิ่งของจีน รวมทั้งไบตันและเสี่ยวเผิง 2 สตาร์ทอัพรถไฟฟ้าแดนมังกรเช่นเดียวกัน

ฟ็อกซ์คอนน์ยังลงทุนใน CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่แถวหน้าของจีน และสตาร์ทอัพการขนส่งอีกหลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทจีน

แมทธิว แคนเทอร์แมน นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ บอกว่า โอกาสเปิดกว้างอย่างมากสำหรับฟ็อกซ์คอนน์ ในยุคที่รถไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ทั้งอีวีและรถยนต์ทั่วไปใช้ชิ้นส่วนระบบดิจิตอลมากขึ้น

เขายังบอกว่า ความเชี่ยวชาญแนวดิ่งคือกุญแจสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ และถ้าโปรเจ็กต์ร่วมทุนกับเฟียต ไครสเลอร์ประสบความสำเร็จก็จะช่วยปลดล็อกฟ็อกซ์คอนน์สู่สนามใหม่อย่างเต็มตัว

ไมเคิล ดันน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทที่ปรึกษา โซโซ โก เห็นด้วยว่า แม้ฟ็อกซ์คอนน์มีประสบการณ์ในวงการรถยนต์จำกัด แต่สามารถนำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการจัดการห่วงโซ่อุปทานมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในโครงการร่วมทุนนี้

นอกจากนั้นเมื่อปี 2014 อีลอน มัสก์ ยังเคยบอกกับผู้ถือหุ้นว่า ฟ็อกซ์คอนน์เป็นผู้จัดหาชิ้นส่วนให้เทสลา ผู้บุกเบิกวงการอีวีโลก

ส่วนในมุมเฟียต ไคลสเลอร์ ค่ายรถแห่งนี้ประสบปัญหาในการเจาะตลาดจีนมานานแล้ว มิหนำซ้ำมาตรการการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพและข้อบังคับเกี่ยวกับรถไฟฟ้าที่เข้มงวดขึ้นยังทำให้ภารกิจนี้ท้าทายกว่าเดิม บริษัทมีส่วนแบ่งในตลาดรถจีนที่ถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของโลกไม่ถึง 1% ในปี 2018 น้อยกว่าส่วนแบ่งตลาดของฟอร์ด มอเตอร์ และเจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ของอเมริกาที่ 2.3% และ 13.8% ตามลำดับ

สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะเฟียต ไครสเลอร์ลงสนามรถไฟฟ้าแดนมังกรล่าช้ากว่าคู่แข่งมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่ายรถเก่าแก่อย่างโฟล์คสวาเกนของเยอรมนี, ฟอร์ดและจีเอ็ม ที่ต่างทุ่มทุนหลายล้านดอลลาร์ในการผลิตรถพลังงานใหม่ในจีน

ไมค์ แมนลีย์ ซีอีโอเฟียต ไครสเลอร์พยายามฟื้นปฏิบัติการในจีน อาทิ ด้วยการปรับโครงสร้างโครงการร่วมทุนกับกวางโจว ออโตโมทีฟ กรุ๊ปที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในตลาดจีน

เฟียต ไครสเลอร์ระบุว่า โครงการร่วมทุนกับฟ็อกซ์คอนน์จะเป็นการผนึกรวมความสามารถของบริษัทชั้นนำสองแห่งของโลกในด้านการออกแบบ วิศวกรรม และการผลิตรถยนต์ ตลอดจนเทคโนโลยีซอฟต์แวร์สำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ เพื่อมุ่งเน้นการเติบโตในตลาดรถไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่

เฟียต ไครสเลอร์สำทับว่า กำลังอยู่ในกระบวนการลงนามขั้นต้นกับฟ็อกซ์คอนน์ และต้องการทำข้อตกลงขั้นสุดท้ายภายในไม่กี่เดือนนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่สามารถรับประกันได้ว่า จะบรรลุข้อตกลงในกรอบเวลาดังกล่าวหรือไม่

ค่ายรถอิตาลี-อเมริกันแห่งนี้ยังกำลังเร่งเครื่องในตลาดอีวีโดยตั้งเป้าเปิดตัวรถไฟฟ้าเต็มรูปแบบขนาดเล็ก 500 คันในปีนี้

นอกจากนั้นเมื่อเดือนที่แล้ว เฟียต ไครสเลอร์ยังบรรลุข้อตกลงควบกิจการพีเอสเอ บริษัทแม่ของเปอโยต์และซีตรองแห่งฝรั่งเศส ขึ้นเป็นบริษัทรถยนต์อันดับ 4 ของโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น