xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียวควบรวม TOT-CAT เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ คลังถือหุ้น 100%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


(แฟ้มภาพ) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์
ครม.เห็นชอบให้ ทีโอที ควบรวม กสท โทรคมนาคม เป็น"บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ" ภายในเวลา 6 เดือน

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการเป็นบริษัทเดียวตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้บริษัทที่ตั้งใหม่ใช้ชื่อ "บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (National Telecom: NT Co.)" และมีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด

พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กำกับดูแลดำเนินการข้างต้นให้เป็นไปตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยให้ ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ควบรวมบริษัทให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนับจากวันที่ ครม.มีมติ และรายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ทราบทุกเดือนต่อไป

นอกจากนั้น ยังให้ยกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.60 และให้ยุบเลิก บริษัท โครงข่าย บรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และ บริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) โดยให้ ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม รับพนักงานที่ลาออกไปทำงานที่ NBN และ NGDC ให้กลับเข้าทำงานใน ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ในระดับเดิม และได้สิทธิประโยชน์เท่าที่ได้อยู่เดิมในวันที่ลาออกไปอยู่ NBN และ NGDC และให้นับอายุงานต่อเนื่อง

ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบหลักการให้ ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz ตามเงื่อนไขประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เกี่ยวข้อง


ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส เปิดเผยว่า จุดแข็งของการควบรวมนี้ จะช่วยให้เกิดการผสานศักยภาพสร้างความพร้อมให้กับรัฐวิสาหกิจด้านสื่อสารของประเทศไทย เพื่อรับมือการแข่งขันในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการสิ้นสุดสัมปทานถือครองคลื่นความถี่ในปี 2568 ซึ่งทั้งสองหน่วยงาน จะไม่เหลือคลื่นความถี่ในมือเลย อีกทั้ง เป็นการสร้างโอกาสของการไปสู่ธุรกิจในอนาคตร่วมกัน ซึ่งรวมถึงธุรกิจ 5G ซึ่ง กสทช. เตรียมเปิดประมูลคลื่นความถี่ในราวกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้


ส่วนขั้นตอนหลังจากผ่านมติ ครม. จะมีการว่าจ้างที่ปรึกษา 3 ด้าน เพื่อให้ทำการศึกษาและจัดทำแผนใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกฎหมาย ด้านการควบรวมกิจการ และด้านทรัพยากรบุคคล ทำการศึกษา และกำหนดทิศทางในการดำเนินงานภายหลังการควบรวมกิจการ คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 6 เดือน กระบวนการควบรวมจึงจะแล้วเสร็จสมบูรณ์

สำหรับโครงสร้างหลังการควบรวม บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด แบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 5 สายงาน ได้แก่ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Hard Infrastructure) ธุรกิจโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International) ธุรกิจบริการโทรศัพท์ประจำที่และบรอดแบนด์ (Fixed Line & Broadband) ธุรกิจโทรคมนาคมสื่อสารไร้สาย (Mobile) และธุรกิจ Digital Infrastructure And Services




กำลังโหลดความคิดเห็น