xs
xsm
sm
md
lg

วอน “ศักดิ์สยาม” เร่งยุติปม กทพ.ร้าวคดีทางด่วน เบรกสหภาพฯ บีบพนักงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“พนักงาน กทพ.” ล่า 500 รายชื่อจี้ “ศักดิ์สยาม” เร่งเคลียร์พิพาททางด่วน พ่วงดูแลสวัสดิการ พนง.-ลูกจ้างให้เหมาะสม “อดีตประธาน สร.กทพ.” ซัด “ผู้ไม่หวังดี” ในฝ่ายบริหาร กทพ.-สร.กทพ.ยื้อเจรจาเอกชน-ลากสู้คดีให้ยาวที่สุด หวั่นความผิดเข้าตัว แถมยังหวังฮุบทางด่วนมาบริหารเอง จ้องฟันงบฯ จัดซื้อจัดจ้าง

วันนี้ (14 ม.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่กระทรวงคมนาคม นายชาญชัย โพธิ์ทองคำ อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) พร้อมตัวแทนพนักงานและลูกจ้าง กทพ.ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เพื่อเสนอข้อห่วงใยเกี่ยวกับการยุติข้อพิพาทสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ซึ่งคณะกรรมการบริหารการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (บอร์ด กทพ.) ได้เจรจากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ก่อนมีมติให้มีการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนเป็นเวลา 15 ปี 8 เดือน ภายใต้เงื่อนไขสัมปทานเดิม เพื่อยุติข้อพิพาททางด่วนระหว่าง กทพ. กับ BEM ในนาม บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (BECL) ที่มีมูลค่าความเสียหายจากการฟ้องร้องประมาณ 58,873 ล้านบาท รวมถึงข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งหมด

สาระสำคัญของหนังสือระบุถึงคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ในคดีผลกระทบจากทางแข่งขันที่ให้ กทพ.ชดเชยรายได้ให้แก่ BEM และต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติให้ กทพ.เจรจากับเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหา และบรรเทาความเสียหายของรัฐเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชน โดยมีการเจรจามาตั้งแต่ปลายปี 2562 มาถึงปัจจุบันที่ยังมิได้ข้อยุติอย่างเป็นทางการ จึงเห็นว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินงานของ กทพ. ตลอดจนสวัสดิภาพของพนักงานและลูกจ้าง จึงได้เสนอให้ รมว.คมนาคมพิจารณานำข้อห่วงใยจากกลุ่มพนักงานและลูกจ้าง กทพ.ที่ร่วมกันลงชื่อมากกว่า 500 ราย ประกอบการพิจารณาข้อยุติระหว่าง กทพ.กับเอกชน ที่จะมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้

โดยมี นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รับมอบหนังสือ พร้อมระบุว่าจะนำเรียน รมว.คมนาคมเพื่อพิจารณาในระดับนโยบายต่อไป ทั้งนี้ หนังสือฉบับดังกล่าวได้ส่งสำเนาเรียนถึงนายกรัฐมนตรี และประธานบอร์ด กทพ.ด้วย

นายชาญชัยเปิดเผยว่า ตัวแทนพนักงานและลูกจ้าง กทพ.ที่ร่วมลงชื่อเพื่อเสนอข้อห่วงใยต่อ รมว.คมนาคม และรัฐบาลเห็นว่าข้อพิพาทระหว่าง กทพ.กับ BEM เกิดจากการบริหารที่ผิดพลาดของผู้บริหาร กทพ.ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นจนยืดเยื้อมากว่า 30 ปี มูลค่าความเสียหายเพิ่มมากขึ้นทุกวัน และหากยังไม่แก้ไขก็จะทำให้เกิดผลเสียหายต่อองค์กร เป็นภาระทางการเงินของภาครัฐและประชาชน ทำลายความเชื่อมั่นของการลงทุนในประเทศ อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสวัสดิการและรายได้ของพนักงาน กทพ.ได้

นายชาญชัยกล่าวต่อว่า การเจรจายุติข้อพิพาทที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีในฝ่ายบริหาร กทพ.และใน สร.กทพ.จงใจให้ข้อมูลแก่สังคมในทางที่ผิดว่าควรสู้ทุกคดีโดยไม่คำนึงว่า หากแพ้คดีแล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่สร้างปัญหาพิพาทกับเอกชนมา จึงไม่ต้องการรับผิดชอบ หากมีการสอบสวนความผิดทางละเมิดจากการแพ้คดี จึงต้องการให้ กทพ.สู้คดีนานที่สุด ที่สำคัญยังต้องการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารทางด่วนเอง โดยไม่ให้สัมปทานแก่เอกชน

“คนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่มีผลประโยชน์จำนวนมากในการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้กลุ่มพนักงาน กทพ.ได้รับความเดือดร้อนมาโดยตลอด ดังจะเห็นจากการบริหารทางด่วน สายที่ กทพ.บริหารเองมีประสิทธิภาพการดำเนินงานและสวัสดิการที่ย่ำแย่ แม้พนักงานที่เดือดร้อนร้องเรียนไปที่ฝ่ายบริหารก็ไม่เคยได้รับการเหลียวแลแก้ไข” นายชาญชัยระบุ

แหล่งข่าว กทพ.กล่าวว่า ตอนนี้สหภาพเป็นหุ่นเชิดของกลุ่มผลประโยชน์ที่อ้างให้สู้ต่อเพื่อประโยชน์รัฐโดยไม่สนใจความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยแกนนำหลักคือพวกผู้บริหารที่สำนักงานใหญ่ที่กุมอำนาจด้านจัดซื้อจัดจ้าง ด้านการเงิน และกฎหมาย ซึ่งพวกนี้เคลื่อนไหวง่าย และบีบบังคับพนักงานระดับล่าง สายปฏิบัติการจัดเก็บ กู้ภัย จราจรให้ออกมาคัดค้าน ใครไม่มาร่วมจะถูกเพ่งเล็งมีผลต่อการประเมินปรับขั้นและโบนัส จนตอนนี้พนักงานรับไม่ได้ทยอยลาออกจากสหภาพ และร้องเรียนให้รัฐบาลลงมาดูแล


พนักงานส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะเจรจายุติข้อพิพาท อยากให้รัฐบาลรีบจัดการให้จบ โดยขอให้รอบคอบ โปร่งใส อย่ากระทบต่อพนักงาน แต่ไม่กล้าออกมาพูดเพราะถ้าใครออกมาสนับสนุนการเจรจาก็จะโดนกดดันจากสหภาพ โดยเฉพาะพนักงานระดับล่างยิ่งไม่กล้า จริงๆ พนักงานอยากให้รัฐบาลสั่งบอร์ด กทพ.สอบสวนฝ่ายบริหารและสหภาพปัจจุบันด้วยว่าทุกวันนี้งานไม่ทำเอาแต่สร้างปัญหา บีบพนักงานผู้น้อย เวลาเสียหายมาเคยรับผิดชอบไหม ถึงเวลาก็โทษคนอื่น โยนผู้บริหารชุดเก่าๆ และที่สำคัญควรตรวจสอบการจัดการผลประโยชน์ใน กทพ. โดยเร็ว โดยเฉพาะทางด่วนสายที่ กทพ.ดำเนินการเอง เช่นทางด่วนขั้นที่ 1 อาจณรงค์-รามอินทรา ทุกวันนี้สภาพแย่มาก ถนนขรุขระ ไม่ดูแลบำรุงรักษา งบประมาณรั่วไหลทุกจุด และก็ไม่เคยดูแลสวัสดิการพนักงานระดับล่างที่ต้องทนคลุกกับมลพิษ ฝุ่น PM 2.5 เลย


กำลังโหลดความคิดเห็น