xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กเทครำพึงขอแค่ให้บริการ ไม่ฝันอยากเป็นแบงก์

เผยแพร่:



เกลียดตัวกินไข่! นักวิเคราะห์ชี้แม้บิ๊กเทคอย่างกูเกิลและแอปเปิลเล็งเพิ่มบทบาทในอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน แต่จะอาศัยการเป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงินมากกว่าการแปลงร่างเป็นแบงก์เต็มตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับภายใต้กฎการธนาคารอันเข้มงวด

ปีนี้กูเกิลมีแผนร่วมมือกับซิตี้แบงก์ และสหภาพสินเชื่อแห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย เปิดตัวบัญชีธนาคารลูกค้ารายย่อย โดยหวังใช้โนว์ฮาวทางการเงินของพันธมิตร และให้บริการในระบบดิจิตอลผ่านกูเกิลเพย์ แบบเดียวกับที่เพื่อนบ้านในซิลลิคอนแวลลีย์อย่างแอปเปิลล่วงหน้าไปก่อนตั้งแต่ปีที่แล้ว ด้วยการเปิดตัวบัตรเครดิตจากการร่วมมือกับโกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจขาใหญ่ในวอลล์สตรีท
แอปเปิลโอนงานด้านการเงินที่น่าเบื่อให้พันธมิตร และรับหน้าที่ออกแบบบัตรเครดิตและรวมเข้ากับแอปกระเป๋าสตางค์ดิจิตอลของบริษัท

แม้ผลิตภัณฑ์การเงินของแอปเปิลและกูเกิลต่างกัน แต่ทั้งสองบริษัทมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ต่างไม่มีแผนแปลงร่างเป็นสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ระบบระเบียบเคร่งครัด
ซาราห์ โคเซียนสกี้ หัวหน้าฝ่ายวิจัยบริษัทที่ปรึกษาด้านฟินเทค 11:FS อธิบายว่า แม้บริษัทไฮเทคขนาดใหญ่ที่รวมถึงกูเกิล, แอมะซอน, เฟซบุ๊ก และแอปเปิล จะบุกตลาดการเงินจริงจังมากขึ้นในปีนี้ แต่ความคืบหน้าในแวดวงการธนาคารจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าผลีผลามก้าวกระโดด

โคเซียนสกี้เชื่อว่า บิ๊กไฮเทคจะยังคงเพิ่มบริการรอบนอกของธุรกิจการธนาคารโดยไม่คิดตั้งตนเป็นแบงก์เต็มตัว เพราะคิดว่า การได้รับและรักษาใบอนุญาตดำเนินการธนาคารเป็นความเสี่ยงเกินไป และตัดสินใจดำเนินการผ่านพันธมิตรที่มีใบอนุญาตอยู่แล้วแทน

ในยุโรปมีแบงก์ออนไลน์ถือกำเนิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่มอนโซจนถึง N26 โดยมีเป้าหมายลูกค้าหนุ่มสาว และผู้บริโภคที่ตามติดเทคโนโลยี ขณะที่สิงคโปร์และฮ่องกงอยู่ในกระบวนการออกใบอนุญาตแบงก์ดิจิตอลเพื่ออำนวยความสะดวกธุรกิจเทคโนโลยีในการนำเสนอบริการทางการเงิน

โคเซียนสกี้สำทับว่า บริษัทเทคโนโลยีอเมริกาจะไม่กระโดดลงไปทำธุรกิจแบงก์เต็มตัวเพราะไม่ต้องการถูกผูกมัดด้วยข้อกำหนดด้านการธนาคารที่เข้มงวด
ซูลับห์ อการ์วัล นักวิเคราะห์ฝ่ายการชำระเงินทั่วโลกของเอคเซนเซอร์ เห็นด้วยโดยบอกกับซีเอ็นบีซีว่า มีเหตุผลน้อยมากที่บริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่จะเปลี่ยนไปทำธุรกิจการธนาคาร เช่น ผลตอบแทนเงินทุนของแบงก์ต่ำกว่าธุรกิจไฮเทคมาก

อการ์วัลคาดว่า บริษัทไฮเทคจะสร้างบริการใหม่เพื่อส่งเสริมจุดยืนของตัวเองมากกว่า และเสริมว่า ความพยายามทางการเงินจากแพล็ตฟอร์มออนไลน์อย่างกูเกิลและเฟซบุ๊กมีจุดประสงค์เพื่อเกี่ยวลูกค้าไว้กับแอปหรือเว็บไซต์ของบริษัทเพื่อขับเคลื่อนรายได้จากโฆษณา
ในกรณีเฟซบุ๊กนั้นต้องการออกเงินดิจิตอลที่ทำให้การชำระเงินทั่วโลกรวดเร็วขึ้นและมีต้นทุนถูกลง

“ลิบรา” โทเคนเสมือนของผู้บุกเบิกวงการโซเชียลมีเดียแห่งนี้ จะผูกกับตะกร้าสกุลเงินต่างๆ และตราสารหนี้ภาครัฐ โดยมีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

อย่างไรก็ตาม สกุลเงินดิจิตอลของเฟซบุ๊กเผชิญการต่อต้านจากหน่วยงานกำกับดูแลมากมายหลายแห่งสืบเนื่องจากความกังวลว่า อาจส่งผลกระทบเลวร้ายต่ออธิปไตยทางการเงินของบรรดาชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มิหนำซ้ำพันธมิตรรุ่นก่อตั้งบางราย อาทิ เพย์พาล, มาสเตอร์การ์ด และวีซ่า ยังถอนตัวไปเรียบร้อยเมื่อปลายปีที่แล้ว

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไล่ให้เฟซบุ๊กไปขอใบอนุญาตประกอบการแบงก์ก่อนค่อยเดินหน้าโปรเจ็กต์นี้ต่อ ซึ่งในสายตาบริษัทไฮเทคนั้น ขั้นตอนที่ว่าน่าเบื่ออย่างมากเนื่องจากมีความซับซ้อนยุ่งยากในการที่สตาร์ทอัพฟินเทคจะขอใบอนุญาตทำธุรกิจแบงก์ในอเมริกา
กระนั้น ไซมอน เทย์เลอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้นำด้านบล็อกเชนของ 11:FS บอกว่า ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ลิบราของเฟซบุ๊กจะเป็นคู่แข่งตัวฉกาจสำหรับแบงก์ยักษ์ใหญ่ ยกตัวอย่างเช่นถ้าลูกค้า 2,000 ล้านคนถอนเงินจากแบงก์ไปซื้อโทเคนลิบรา อย่างไรก็ตาม แนวโน้มนี้จะเป็นจริงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่า ปัญหาของผู้บริโภคได้รับการแก้ไขมากน้อยแค่ไหน

นอกจากลิบราแล้ว เฟซบุ๊กยังกำลังรวมผลิตภัณฑ์การชำระเงินของบริษัทไว้ในแบรนด์ใหม่ที่ใช้ชื่อว่า “เฟซบุ๊ก เพย์”

ขณะเดียวกัน อูเบอร์บุกตลาดการเงินเช่นเดียวกับแกร็บ คู่แข่งจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการก่อตั้ง “อูเบอร์ มันนี่” ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิตอลและบัตรชำระเงินที่ได้รับการอัพเกรดใหม่ ซึ่งจะต้องแข่งกับกูเกิล เพย์ และแอปเปิล เพย์ในอเมริกา รวมทั้งอาลีเพย์ และวีแชต เพย์ในจีน

ส่วนแอมะซอนให้บริการสินเชื่อสำหรับธุรกิจอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ลงเล่นในเซ็กเมนต์การธนาคารลูกค้ารายย่อย ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซแห่งนี้เคยร่วมกับเวลส์ ฟาร์โก จัดตั้งโครงการสินเชื่อเพื่อการศึกษาในปี 2016 แต่ล้มเลิกไปหลังเปิดตัวไม่นาน

กระนั้น โคเซียนสกี้เชื่อว่า ความล้มเหลวดังกล่าวจะเป็นบทเรียนสำคัญให้แอมะซอนตั้งหลักเดินต่อในธุรกิจการเงิน แต่จะจำกัดตัวเองอยู่ในตลาดการชำระเงินมากกว่าทำธุรกิจแบงก์เต็มตัวเช่นเดียวกับแอปเปิลและกูเกิล
กำลังโหลดความคิดเห็น